เรือดำน้ำ เป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ ที่จะสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอีกหลายทศวรรษ ซึ่งเรือฟริเกต หรือ เรือผิวน้ำทำหน้าที่นี้แทนเรือดำน้ำไม่ได้เลย
ทราบไหมว่า ถ้าประเทศอื่นเอาเรือดำน้ำแค่เพียง 2 ลำ มาจอดใด้ทะเลที่ปากอ่าวไทยและหากมีเรือสินค้า หรือ เรือน้ำมันถูกยิงจม ก็จะไม่มีเรือสินค้าหรือเรือน้ำมันกล้าเข้ามาในอ่าวไทยแล้ว และทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันพลังงานสำรองในประเทศไทย อยู่ได้แค่ 30-40 วัน ดังนั้นถ้าไม่มีการนำเข้า ส่งออก ไม่มีน้ำมัน ภาคธุรกิจและประชาชนจะอยู่กันอย่างไร?
เรื่องนี้ไม่ใช่การขู่ให้กลัว หรือ คิดกังวลเกินเหตุ แต่มันคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเรือดำน้ำของต่างชาติหลายลำเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย เพื่อรอยิงเรือรบและเรือสินค้า โดยเฉพาะเรือน้ำมันในอ่าวไทย ดังเช่น เรือหลวงสมุยที่ขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์เข้าสู่ประเทศไทย ก็ถูกเรือดำน้ำสหรัฐยิงจมในอ่าวไทยเช่นกัน และปัจจุบันมีการค้นพบซากเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาใต้ทะเลในอ่าวไทยห่างจากชายฝั่งสงขลาประมาณ 100 ไมล์ ยังไม่นับเรือดำน้ำที่มาปฏิบัติการแล้วกลับออกไป ไม่ได้ถูกจมลง ใครที่เข้าใจผิดว่าเรือดำน้ำใช้ในอ่าวไทยไม่ได้ ก็กรุณาไปศึกษาข้อมูลมาใหม่
- การมีเรือดำน้ำ ช่วยประเทศไทยได้อย่างไร
เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโด ซึ่งเป็นเรือผิวน้ำ ถูกเรือฝรั่งเศส ยิงจมแล้ว เรือดำน้ำไทยทั้ง 4 ลำ คือเรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียม ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำ นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุดที่เคยดำมา ซึ่งยังปรากฏจากหลักฐานของฝ่ายฝรั่งเศสในการรบที่เกาะช้างว่าฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยมาก แต่เพื่อผลของการยุทธ จึงได้ตัดสินใจเลี่ยงเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย โดยกำหนดแผนการปฏิบัติเป็นช่วงระยะเวลาสั้นมาก เมื่อปฏิบัติการเสร็จก็รีบถอนตัวกลับทันที เพราะเกรงว่าจะถูกโจมตีด้วยเรือดำน้ำ
- ปัญหาเขตแดนทางทะเลและพื้นที่ทับซ้อน
ตอนนี้ไทยมีข้อพิพาททางทะเลกับ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย พม่า เขมร
- มาเลเซีย — เกาะโลซิน ซึ่งมีทรัพยากรแสนล้านใต้ทะเล เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ต้องตกลงกับมาเลเซียใหม่ ภายในปี 71 เพราะหมดสัญญา
- พม่า – ยังมีปัญหาเกาะ 3 เกาะ ในทะเล
- เขมร – ไทยมีปัญหาเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลกับเขมร มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจำนวนมาก และจีนกำลังพัฒนาท่าเรือและฐานทัพเรือใหม่ให้เขมร ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดตราดเพียง 200 กิโล ทางทะเล นอกจากนั้นจีนจะมอบเรือฟริเกตให้เขมรอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น และ รุนแรงมากขึ้น และสมมติว่าจีนเอาเรือดำน้ำที่ไทยควรจะได้ ไปยกให้เขมร จะส่งผลอย่างไรกับไทย
- เรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำได้จริงจริงหรือ?
ถ้าจะให้เข้าใจว่าการซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำ “เหนือชั้น”กว่าการซื้อเรือฟริเกต 1 ลำ อย่างไร ต้องมานั่งคุยกัน แต่เอาให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ การรับมือกับเรือดำน้ำ 1 ลำ จะต้องใช้เรือฟริเกต แบบเรือภูมิพลอย่างน้อย 3 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ ปราบเรือดำน้ำอีก 1 เครื่อง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหาเรือดำน้ำที่อยู่ใต้ทะเลเจอไหม เรือดำน้ำ ราคา 13,500 ล้าน บาท เรือฟริเกต ราคา 17,000 ล้านบาท x 3 ลำ เท่ากับ 51,000 ล้านบาท ยังไม่รวม เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีกหลายพันล้านบาท ถ้าจะตัองเลือกเครื่องมือดูแลทรัพยากรใต้ทะเล “มูลค่าแสนล้าน” และปัองปรามไม่ให้เกิดสงคราม ….อะไรคุ้มค่ากว่ากัน?
- เอาความมั่นคงของชาติ มาเล่นกันเมามันส์ ในเกมส์การเมือง
สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ที่ถ่วงความเจริญ คือการที่คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ยิ่งใหญ่ กว่า ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง
หลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายค้านใช้เรือดำน้ำเป็นเครื่องมือทางการเมือง โจมตี สร้างวาทกรรม ด้อยค่า เรือดำน้ำอย่างหนักหน่วง เพื่อ discredit ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่ เรือดำน้ำ เป็นสิ่งที่ประเทศไทย “ไม่มีไม่ได้”
ผลของการด้อยค่าเรือดำน้ำ เพื่อผลทางการเมืองต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ก็ทำให้สังคมขาดการรับรู้ข้อเท็จจริง และเต็มไปด้วยอคติต่อเรือดำน้ำจีน ดังนั้น การที่จะอ้างว่าสังคมไม่ยอมรับเรือดำน้ำจีน เป็นเหตุผลในการไม่เอาเรือดำน้ำจีน ก็คงต้องย้อนไปดูว่าใครกันที่สร้างวาทกรรมบิดเบือน ปั่นกระแส ตั้งแต่แรก
เข้าใจได้ว่า การจะยอมรับเรือดำน้ำในเวลานี้เป็นสิ่งที่ รัฐบาลปัจจุบันต้องเลือก ระหว่าง “ความมั่นคงของชาติ” หรือ “ความสบายใจ และรักษาคะแนนเสียงของตนเอง”
และอย่าใหัรู้นะว่า การเปลี่ยนจากเรือดำน้ำ 13,500 ล้าน เป็น เรือฟริเกต 17,000 ล้าน มีเงินทอน
อัษฎางค์ ยมนาค
#เพื่อนอัษฎางค์ #เรือดำน้ำ