ปีนี้ 2023 ถ้าใครยังคิดว่าจีนแค่เก่งก๊อปปี้เทคโนโลยีคนอื่น และเทคโนโลยีจีนด้อยคุณภาพ ก็ต้องถามว่า “ไปอยู่หลังเขาที่ไหนมา?”
เป็นที่รู้กันว่า ปัจจุบันจีนไม่ใช่นักก๊อปปี้เทคโนโลยี (technology copycat) อีกต่อไป แต่จีนเรียนรู้และพัฒนาไปไกลมาก จนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับสูงของโลกไปแล้ว (high-tech innovation powerhouse)
- ในปี 2019 จีนเป็นประเทศแรกในโลก ที่ส่งยานสำรวจลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และ กำลังเตรียมการที่จะส่งนักบินอวกาศลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ภายในปี 2030
- เครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนใหญ่ที่สุดในโลก และรถไฟความเร็วสูงของจีนก็เร็วที่สุดในโลกด้วย รถไฟความเร็วสูง Beijing Shanghai วิ่งอยู่ที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจีนเพิ่งทดสอบ New Gen, High-Speed Train ซึ่งสามารถวิ่งได้ที่ความเร็ว 453 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ล่าสุดจีนสามารถผลิต semiconductor chips ได้เล็กถึง 7 นาโนเมตรแล้ว (จากเดิมผลิตได้เพียง 14 นาโนเมตร) สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ซึ่งก็คือ chip ที่ใช้ในโทรศัพท์ Huawei Mate 60 Pro ที่เพิ่งเปิดตัว
ในด้านการทหาร ปัจจุบันจีนมีจำนวนเรือรบและเรือดำน้ำมากที่สุดในโลก คือ 370 ลำ เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีเรือรบ 291 ลำ และรายงานของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา Congressional Research Service (CRS) report เรื่อง China Naval Modernization: Implications for U.S. Navy Capabilities—Background and Issues for Congress ก็แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกามีความกังวลในความสามารถของอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการต่อเรือของสหรัฐอเมริกา
- เครื่องยนต์ดีเซลชาร์จแบตเตอรี่ หรือ เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า CHD620 คือหนึ่งในความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ CHD620 ที่ผมรวบรวมมาให้ เพื่อที่สื่อและประชาชนจะได้ “มีความรู้” ก่อน “มีความเห็น”
- ผลิตโดยบริษัท Henan Diesel Engine Industry (HND) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลแห่งแรกของจีน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1958 มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และ Diesel-Generator Set เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และเป็นส่วนหนึ่งของ China State Shipbuilding Corporation (CSSC) ซึ่งเป็น กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมทางเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ประกอบด้วยสถาบันวิจัย อู่ต่อเรือ และโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือจีน
- ในปี 1985 และ 1999 (เกือบ 30 ปีมาแล้ว) บริษัท HND ได้ license จากบริษัทเยอรมัน DEUTZ-MWN เพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของเยอรมันในประเทศจีน คือ TBD234, TBD604 และ TBD620
- หลังจากที่เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ หลายทศวรรษ บริษัท HND จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลของตนเอง ต่อยอดจากเครื่องยนต์ TBD620 มาเป็นเครื่องยนต์ CHD620 สำหรับใช้ในเรือผิวน้ำของจีน จนมั่นใจแล้ว จึงได้พัฒนาเครื่องยนต์ CHD620 เพื่อใช้กับเรือดำน้ำ
- เครื่องยนต์ CHD620 ผ่านการทดสอบและได้รับ การรับรองมาตรฐานกองทัพแห่งชาติของจีน National Military Standard (GJB – Guo-jia Jun-yong Biao-Zhun) certification เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 และ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน จาก Loyd’s Register อีกด้วย
- กองทัพเรือได้ส่งทีมเทคนิคไปร่วมทดสอบที่ประเทศจีน และหลังจากที่ทางกองทัพเรือได้พิจารณาผลการทดสอบความปลอดภัยและสมรรถภาพอย่างถี่ถ้วนแล้ว พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ท่านที่แล้ว จึงได้ลงนามเห็นชอบในการใช้เครื่องยนต์นี้ เมื่อเดือนกันยายน 2566
- ปากีสถานตกลงใช้เครื่องยนต์ CHD620 จำนวน 24 เครื่อง ในเรือดำน้ำ Hangor 8 ลำ (ลำละ 3 เครื่อง)โดย 4 ลำแรก คาดว่าจะส่งมอบภายในปีหน้า
- ในอนาคตจีนจะตัองใช้เครื่องยนต์ CHD620 ในเรือดำน้ำของจีนแทนเครื่องยนต์ MTU 396 ที่เยอรมันหยุดขาย license ให้จีนผลิต (จีนผลิตเครื่องยนต์ MTU 396 ภายใต้ license จากเยอรมันมานานแล้ว)
เมื่อศึกษาข้อมูลเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนผลิตมากขึ้น ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 มีความบกพร่องอะไร จนถึงกับต้องล้มเลิกยุทธศาสตร์กองทัพเรือในการมีเรือดำน้ำเพื่อปกป้องความมั่นคงและทรัพยากรมูลค่า 24 ล้านล้านบาทใต้ทะเล?”
อัษฎางค์ ยมนาค
……………………………………………………………….
อ้างอิง: