ตามธรรมเนียมโบราณ ราชสำนักมักจะไม่เปิดเผยประวัติก่อนขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์
แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเปิดเผยประวัติบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานแก่ เซอร์จอห์น เบาริง ราชฑูตอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม โดยมีใจความตอนหนึ่ง(โดยย่อ)ว่า…
“ต้นตระกูลของเราเป็นชาวหงสาวดีที่รับราชการเป็นทหารอยู่กับพระเจ้าหงสาวดีผู้ที่ทำสงครามชนะอยุธยา…
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ คนในตระกูลดังกล่าวได้อพยพติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาอยู่ในอยุธยา”
โดยเมื่อนำเรื่องขุนนางมอญผู้ที่เป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีมาสอบกับพงศาวดารแล้ว พบว่าเป็นพระยาเกียรติและพระยาราม
ในเวลาต่อมา ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับสตรีสูงศักดิ์แห่งราชสำนักสยาม มีนามว่า“หม่อมเจ้าบัว”
ตามบันทึกในประวัติศาสตร์แต่ละฉบับกล่าวไม่ตรงกันว่าหม่อมเจ้าบัว เป็นพระราชธิดาหรือพระราชนัดดา อันประสูติแต่พระสนมของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์พระร่วง ระหว่างสมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ
ในช่วงเวลานั้นมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งรู้กันโดยทั่วไปในราชสำนักว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับหญิงชาวบ้านที่มีชื่อว่า “นางอิน” ทำการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระนามว่า “พระเจ้าปราสาททอง”
ต่อมาพระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรส ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้านารายณ์ฯ” จึงทรงตั้งหม่อมเจ้าบัว ขึ้นเป็นพระนม
หม่อมเจ้าบัวมีบุตรชาย 2 คน คนโตชื่อเหล็ก คนรองชื่อปาน จึงทำให้ลูกชายทั้ง 2 และพระนารายณ์ดื่มนมจากแม่คนเดียวกัน และเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของหม่อมเจ้าบัวด้วยกัน
ต่อมาเมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคต เจ้าฟ้านารายณ์ฯได้ขึ้นครองราชสมบัติ จึงตั้งให้”หม่อมเจ้าบัว”ขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าบัว”แล้วสร้างตำหนักไว้ที่ริมวัดดุสิตารามนอกกำแพงพระนคร
ครั้งนั้นผู้คนทั่วไปจึงเรียก พระองค์เจ้าบัว ว่า”เจ้าแม่วัดดุสิต” ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกแม่นมของพระองค์
ภายหลังบุตรชายทั้ง 2 ของเจ้าแม่วัดดุสิตได้รับราชการ และได้อวยยศเป็นออกญาโกษาธิบดี ที่เรารู้จักดีในเวลาต่อมาว่า โกษาเหล็ก และโกษาปาน
โปรดติดตามตอนต่อไป
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง
ภาพจากพิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น. ณ บริเวณ หัวมุมสามแยกของถนนดูกุยดิก ถนนปาสเตอร์ และถนนชอง มูแล็ง ในเมืองแบรสต์ ใกล้ถนนที่มีชื่อว่า ถนนสยาม ในประเทศฝรั่งเศส
ซ้าย: อ.วัชระ ประยูรคำ ประติมากร
ขวา: อ.เกริกบุระ ยมนาค จิตรกร