พงศาวดารอยุธยาไม่ได้ระบุถึงหน่อเนื้อเชื้อไขของโกษาปาน ว่าคือใคร แต่ยกย่องมารดาโกษาปานว่าเป็นผู้ที่พระนารายณ์ทรงเกรงใจ
ส่วนในบันทึกของลาลูแบร์กับเดอแชซก็ไม่ได้ระบุว่าแม่เป็นใครและพี่ชายชื่ออะไร ระบุแต่เพียงว่าโกษาปานเป็นลูกพระนมของพระนารายณ์และพี่ชายเป็นขุนนางสำคัญในรัชสมัยพระนารายณ์ชื่อว่า พระคลังผู้ใหญ่
มีจดหมายเหตุเอนเลยเบิร์ต แกมป์เฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวีย บันทึกไว้ว่า
“…ชาวสยามเรียกแม่นมของตนว่า “แม่” ด้วยเหมือนกัน และผู้ที่ได้ร่วมนมกันก็นับถือเหมือนอย่างพี่น้อง…”
ในที่นี้คงหมายความว่า สมเด็จพระนารายณ์ก็นับโกษาเหล็กและโกษาปานเป็นดังพี่น้อง เฉกเช่นเดียวกัน
รวมทั้งในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 4 ที่พระราชทานให้เซอร์จอห์น เบาริง ราชฑูตอังกฤษ ระบุชัดเจนว่า “สองพี่น้อง โกษาเหล็กและโกษาปานเป็นทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา”
และลูกหลานคนหนึ่งของขุนนางมอญดังกล่าว ได้สมรสกับหญิงสูงศักดิ์ในราชสำนัก ซึ่งต่อมาได้เป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ที่รู้จักในนาม “เจ้าแม่วัดดุสิต” ในเวลาต่อมา
และเจ้าแม่วัดดุสิตคือ มารดาของโกษาเหล็ก และโกษาปาน
………………………………………………………………….
ประวัติเจ้าแม่วัดดุสิตที่มีมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เจ้าแม่วัดดุสิตมีเชื้อเจ้า แต่หลังจากรัชกาลที่ 4 ก็ปรากฏว่ามีบางแหล่งระบุว่าท่านมีเชื้อเจ้า ดังเช่น
สมุดบันทึกของบรรพบุรุษประจำตระกูลชุมสาย ที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนั่งเกล้า รัชกาลที่ 3 ระบุว่า ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชสำนักอยุธยา พระแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์
ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อ้างถึงหนังสือราชินิกุลบางช้าง พิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี รัชกาลที่ ๒ ดังนี้
“แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกษาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย”
ซึ่งถ้าเชื่อตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าเจ้าแม่วัดดุสิต มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา
เจ้าแม่วัดดุสิตก็มีโอกาสเป็นพระธิดาของพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถ ก่อนที่ทั้งสองพระองค์นี้จะทรงครองราชย์ เพราะหม่อมเจ้าคือหลานของพระเจ้าแผ่นดิน
………………………………………………………………….
และถึงแม้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จะไม่เคยมีบันทึกว่าเจ้าแม่วัดดุสิตมีเชื้อเจ้าหรือไม่
แต่พอจะมีเบาะแสของกรมพระปรมานุชิต ที่นักประวัติศาสตร์ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นเจ้านาย เบาะแสนั้นคือที่มาของชื่อ “วัดดุสิต” ในชื่อเจ้าแม่วัดดุสิตนั่นเอง
เบาะแสนี้อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ระบุว่า หลังจากสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต (สมเด็จพระเพทราชาครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์)
แล้วสมเด็จพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ พระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ (ซึ่งก็คือสมเด็จพระอัครมเหสีของพระเพทราชา) ขอย้ายออกจากวังหลังไปประทับในที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของเจ้าแม่วัดดุสิต
ซึ่งผู้ที่เป็นถึงสมเด็จพระอัครมเหสีย่อมไม่พักอาศัยอยู่ในบ้านธรรมดาแน่นอน แต่ที่ประทับต้องเป็นพระตำหนัก
และพระตำหนักนั้นก็เป็นที่ประทับของเจ้าแม่วัดดุสิตมาก่อนนั่นเอง
ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า เจ้าแม่วัดดุสิต ต้องเป็นเจ้า ถึงได้มีที่พักเป็นพระตำหนัก ดังกล่าว
เพราะฉะนั้น บันทึกของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ระบุว่าเจ้าแม่วัดดุสิต มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งอาจเป็นพระธิดาของพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถ ก็มีโอกาสเป็นความจริง
และถ้าเป็นจริงตามนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ราชวงศ์จักรีสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัยของพระมหาธรรมราชา สายพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถ ก็เป็นไปได้
ซึ่งถือได้ว่าราชวงศ์จักรีสืบสายสกุลที่มีความต่อเนื่องมาจากสุโขทัยมาอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว
………………………………………………………………….
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ คุณเหล็กได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมคลัง ที่ทำความดีความชอบไว้มากมาย
ส่วนคุณปานน้องชายได้เป็นออกพระวิสุทธสุนทร เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส
ราชทินนามของคุณปาน คือ “ออกพระวิสุทธสุนทร”
คำว่า สุทธิ์, วิสูทธ์ แปลว่า สะอาด หมดมลทิน บริสุทธิ์
จากหลักฐานของอยุธยาระบุว่า โกษาปานเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสเพราะโกษาเหล็กเป็นผู้ผลักดัน
แต่จากหลักฐานฝรั่งเศสระบุว่า เชอวาลิเยร์ เดอ โชม็องต์ เห็นแววเฉลียวฉลาดของคุณปานจึงแนะนำให้ฟอลคอน เป็นผู้พิจารณาเลือกให้เป็นราชทูต
ต่อมาเมื่อโกษาเหล็กถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระนารายณ์จึงตั้งให้ออกพระวิสุทธสุนทร น้องชายขึ้นเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมคลัง
ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมรายรับ รายจ่าย มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการค้าสำเภา ติดต่อการค้ากับต่างประเทศและดูแลรับรองคณะทูตจากต่างประเทศและควบคุมดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยา
ถ้าเทียบตำแหน่งเสนาบดีคลังในสมัยอยุธยากับปัจจุบัน ก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง การต่างประเทศ และการพาณิชย์
ส่วนราชทินนามที่สมบูรณ์ของโกษาปาน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมราช เดชชาติ อำมาตยานุชิต พิพิธรัตนราชโกษาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ
โปรดติดตามตอนต่อไป
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง