คำว่า “องคมนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
“น. ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์”
คณะองคมนตรี เป็นคณะที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ องคมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด จะต้องมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 18 คน ประธานองคมนตรีคนปัจจุบันคือพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
คณะองคมนตรีชุดแรกในสยามได้รับการตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2417 (แต่งยังไม่ได้มีชื่อว่า องคมนตรี) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้แนวคิดตามแบบชาติตะวันตก เช่น ประเทศอังกฤษ เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยตามแบบอย่างของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชกุศโลบายในการป้องกันประเทศให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ที่มักอาศัยข้ออ้างความล้าสมัย ป่าเถื่อนของชาติในเอเชียหรือแอฟริกา
ในตอนแรกมี 2 สภา คือปรีวีเคาน์ซิล เพื่อจัดการกับกิจการด้านนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิก 49 องค์/คน และสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นจุดกำเนิดของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน
คำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน
ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมเสนาบดีวันที่ ๒๗ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) และใน “ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี” รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ปรากฏว่า มีการใช้คำว่า “องคมนตรี” แล้ว
ตามหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๑ หน้า ๒-๓ ได้ลงพิมพ์ “ประกาศที่ ๓ ว่าด้วยตั้งเกาน์ซิล แลพระราชบัญญัติ” ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
“…ราชการผลประโยชน์บ้านเมืองสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น แลการที่ยังรกร้างมาแต่เดิมมากนั้น ถ้าจะทรงจัดการแต่พระองค์เดียว ก็จะไม่ใคร่สำเรจไปได้ ถ้ามีผู้ที่ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็จะได้ปลดเปลื้องไปได้ทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็คงจะบังเกิดแก่บ้านเมือง จึ่งได้ทรงจัดสันข้าทูลอองธุลีพระบาท ซึ่งมีสติปัญญาโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้เปนที่ปฤกษาแห่งสมเดจพระเจ้าอยู่หัว…”
ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงมีที่มาจากคณะที่ปรึกษาในพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” (THE PRIVY COUNCIL) นั้นเอง
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงแต่งตั้งพระเชษฐาและพระอนุชารวมถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวน 40 พระองค์/คน เป็นสภากรรมการองคมนตรี
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น 3 องค์กร คือ อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรี โดยอภิรัฐมนตรีสภาก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวน 5 พระองค์ ซึ่งทรงเคยรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย
ต่อมาเมื่อคณะราษฏรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ในระยะแรกคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา และพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2490 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ได้มีการรื้อฟื้น “คณะอภิรัฐมนตรี”
จนถึง พ.ศ. 2490 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 จึงเปลี่ยนชื่อ “คณะอภิรัฐมนตรี” เป็น “คณะองคมนตรี” และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า “คณะองคมนตรี” เป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คนมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
รวมทั้งปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกำหนดหรือทรงมอบหมาย การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
อนึ่ง คณะองคมนตรีในปัจจุบันนั้นมีรากเหง้ามาจาก “ปรีวีเคาน์ซิล” ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาในพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษต่อมาอีกทอดหนึ่ง
โดยประเทศอังกฤษ (ENGLAND) ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นประเทศหนึ่งของสหราชอาณาจักร (THE UNITED KINGDOM หรือ UK)
ซึ่งองคมนตรีของสหราชอาณาจักร ได้รับการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวงราชการ วงการศาสนา หรือวงการการเมือง ปัจจุบันมีองคมนตรีทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ คน โดยดำรงตำแหน่งชั่วชีวิต และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ
เช่น ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการการขึ้นเสวยราชสมบัติของพระประมุขของประเทศพระองค์ใหม่ การอภิเษกสมรสของพระประมุขของประเทศ การเปิดและปิดสมัยประชุมรัฐสภา การยุบสภา เป็นต้น
เมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต
นางเพนนี มอร์ดอนต์ ประธานองคมนตรี คือผู้อ่านประกาศ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังจากนั้น จึงเป็นขั้นตอนของการเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ หรือการสืบราชสันตติวงศ์
ตามกฎหมายของสหราชอาณาจักร คณะองคมนตรีต้องประชุมภายใน 24 ชั่วโมง หลังการเสด็จสวรรคตของพระประมุขแห่งรัฐ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่กษัตริย์พระองค์ต่อไปทรงเข้าร่วม นั่นคือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร
จะเห็นได้ว่า องคมนตรีของสหราชอาณาจักรอังกฤษ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ ที่อาจจะมากกว่าองคมนตรีของไทยด้วยซ้ำ
ในขณะที่ องคมนตรีของไทยมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ
1. ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
2. ปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกำหนดหรือทรงมอบหมาย
มีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ในโอกาสที่เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารทำเนียบองคมนตรี ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ วันอังคาร ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๗
“…องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ จึงมีหน้าที่ที่จะให้คำปรึกษา และก็นี่เป็นสิ่งที่คนเขาสงสัยว่าองคมนตรีมีอำนาจมีหน้าที่อะไร ก็สรุปว่าเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาในทุกด้านทุกอย่าง พระมหากษัตริย์จะรับทราบ จะรับรู้หรือไม่ก็อย่าน้อยใจ เพราะว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินในเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าคำปรึกษาของท่านองคมนตรีก็มีประโยชน์มาก เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากในด้านต่างๆ จึงขอให้ท่านได้คิดดีๆ แล้วก็ช่วยกัน…”
ถึงแม้จะว่าไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข
ซึ่งผมย้ำอยู่เสมอว่า รูปแบบการปกครองของไทยที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หมายความว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกันปกครอง มิใช่ประชาชนปกครองประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว
ดังนั้น ในความที่เป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
พระมหากษัตริย์จึงมี “สิทธิที่จะได้รับคำปรึกษา, สิทธิในการส่งเสริม และสิทธิที่จะเตือน” ต่อรัฐบาล รัฐสภาและศาล เพื่อทรงร่วมกับประชาชนปกครองประเทศนั่นเอง
อัษฎางค์ ยมนาค