ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ‘ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ ‘ พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรง บันทึกความทรงจำเมื่อ ครั้งทรงพระเยาว์เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ( รัชกาลที่ 9 ) และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ( รัชกาลที่ 8 )
เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพ สมเด็จพระพี่นางฯ ทรง บันทึกความทรงจําที่ทรงมีต่อพระอนุชาพระองค์เล็กไว้ว่า ” …ข้าพเจ้าอยากเห็นน้องใกล้ๆ และอยากแตะต้อง แต่ที่โรงพยาบาลเขาก็ให้ดูเพียงหลังกระจกที่กั้นห้องเด็กไว้ เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าพเจ้าได้ถามแหนน (พระพี่เลี้ยง) ว่า ” น้องคนใหม่นี้พูดไทยได้หรือเปล่า “…
วันหนึ่งแม่ ( สมเด็จย่า ) ลงมาดูลูกชายสองคนซึ่งกําลังเล่นละลายเทียนไขในกระทะเล็กที่วางบนอั้งโล่ แม่ เห็นคางคกที่วางอยู่บนกระทะนั้นตัวหนึ่ง แม่ก็เอะอะใหญ่และถาม พระองค์ชาย (รัชกาลที่ 8 ) ว่า สมเด็จ พระพุทธโฆษาจารย์เคยสอนเรื่องยุง (ไม่ให้ตบยุง) ทําไมจึงมาทําอย่างนี้ พระองค์ชายตอบว่า สมเด็จฯ ไม่ได้ สอนเรื่องคางคก
เมื่อข้าพเจ้า ( สมเด็จพระพี่นางฯ ) ทูลสัมภาษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ในปี 2529 ว่าทรงจําเรื่องคางคกนั่นได้ไหม รับสั่งว่าทรงจําได้ และคางคกนั้นไม่ได้ไปจับมา มัน กระโดดลงไปในกระทะเองโดยบังเอิญ
……………….………………………………….………………..
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มการศึกษาชั้นเตรียมอนุบาลที่โรงเรียนของมิสซิสเดวีสซึ่งเปิดสอนที่บ้าน ต่อมามิสซิลเดวีสปิดโรงเรียนลง จึงทรงย้ายไปเข้าชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า H.H Bhummibol Mahidol หมายเลขประจำตัว 449
ครั้งสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ( รัชกาลที่ 8 ) ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมพรรษา 5 พรรษา และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ( รัชกาลที่ 9 ) มีพระชนมพรรษา 3 พรรษา ได้ประชวรด้วยโรคบิด พร้อมกันทั้งสองพระองค์ สมเด็จแม่ ได้อธิบายว่าจะ
เจ็บหน่อย พระองค์เล็ก ( รัชกาลที่ 9 ) ทรงตรัสถามว่า ” ร้องไห้ได้ไหม “
เดือนพฤษภาคม 2476 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพาพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ และพระราชธิดามาประทับ ณ โลซาน เนื่องจากมีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงนัก กอรปกับสภาพบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย มีปัญหาทางการเมืองตั้งแต่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ตามมาด้วยรัฐประหารปี 2476
จึงเสด็จฯ จากประเทศไทยมาประทับที่โลซาน เพื่อหลีกหนีภัยทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งเพื่อรักษาพระสุขภาพพลานามัยของในหลวงรัชกาลที่ 8 และเพื่อการศึกษา
สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงโปรดเมืองโลซานน์ด้วยเคยโดยเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนก มาก่อน โลซานน์เป็นเมืองที่มีอากาศดี รวมถึงเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา จึงเหมาะกับการเป็นที่พำนักของพระโอรสและพระธิดา
……………….………………………………….………………..
ราชสกุลมหิดลทรงใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน โดย 2 ปีแรก พ.ศ.2476-2478 ทุกพระองค์ประทับอยู่ที่แฟลตเลขที่ 16 ถนน ทิสโซต์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” ว่า “เป็นตึกใหญ่ที่มีแฟลตหลายชุด แม่เช่าแฟลตหนึ่งที่อยู่ชั้นล่าง เพราะเกรงว่าลูกอาจรบกวนคนที่พักอยู่ข้างใต้ด้วยการวิ่งหรือกระโดด
ใต้แฟลตของเรายังมีโรงรถอีก แฟลตนั้นมีห้องนั่งใหญ่พอใช้ ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอนของแม่และข้าพเจ้าใช้เครื่องเรือนสีเหลือง ห้องนอนของน้องๆ ใช้สีชมพูแก่ แฟลตนี้มีเฉลียงยาว ถ้าอากาศดี เราชอบอยู่ที่เฉลี่ยงนี้กันโดยเฉพาะสองพี่น้อง”
ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) เมืองโลซาน
ในสมัยนั้นทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม นอกจากนั้นทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข (สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงเป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่าบ๊อบบี้) กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็ทรงเคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูที่ทรงเลี้ยงตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต
ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนเอกชน “เอกอล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองด์” เป็นเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2478-2488
แรกเริ่มทรงเข้ารับการศึกษา ทรงเลือกเรียนสายศิลป์ภาษาละตินและอังกฤษ ขณะที่ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่บังคับให้เรียนอยู่แล้ว ส่วนวิชาพิเศษของโรงเรียนสมัยนั้นมีวิชา “การทำสวน” และวิชา “การช่างไม้”
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ จึงมีภาษาที่ใช้ทางราชการถึง 3 ภาษา
และการที่ทรงได้รับการศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ในหลวง ร.9 ทรงตรัสภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา ทั้งภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ละติน และอังกฤษ
ปัจจุบัน โรงเรียนเอกอล นูแวล ได้สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 โดยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดอาคารโรงเรียนด้วย
……………….………………………………….………………..
สมเด็จย่าจะทรงสอนทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษี โดยหยอดใส่กระปุกนี้ 10% ซึ่งทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน
ครั้งหนึ่งพระองค์กราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า “หากอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มากค่อยเอาไปซื้อจักรยาน” ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง
กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ก(ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา
พระอัจฉริยภาพของพระองค์ มีพื้นฐานมาจาก “การเล่น” สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุแร่ แล้วแบ่งกันฟัง
เรื่องแผนที่ที่เราคนไทยเห็นคู่กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดเวลา ก็มีที่มาจากการที่สมเด็จย่าทรงสอนให้พระองค์ทรงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์
อาจกล่าวได้ว่า พระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีจุดเริ่มต้นมาจากการอบรมเลี้ยงดูของสมเด็จย่า ดังนั้นเมื่อคิดถึงในหลวงก็พลอยทำให้คิดถึงสมเด็จย่าด้วยเสมอ
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
……………….………………………………….………………..
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม