ภาพ…ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระราชนัดดา 3 พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และเรื่องราวที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
………………………………………………………………….
เมื่อแรกในหลวงรัชกาลที่ 8 พระราชสมภพได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบี สงขลา (อังกฤษ: Baby Songkla) ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช
พระนามภูมิพลอดุลเดชนั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า “ภูมิบาล” ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว “ย” สะกด
พระนามของพระองค์มีความหมายว่า…
ภูมิพล – ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”
อดุลยเดช – อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ”
………………………………………………………………….
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์เจ้าจุล พระโอรสพระองค์เดียวในจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชาวรัสเซีย ทรงสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 มีธิดาคือ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ซึ่งเป็นคุณแม่ของฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์
เจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นพระโอรสองค์โปรดที่สุดของในหลวงรัชกาลที่ 5 และในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท แต่พระองค์เสด็จทิวคตไปเสีย ซึ่งตามปกติพระโอรสจะได้รับสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา
แต่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสได้ถูกตัดสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว เพราะทรงมีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว และรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงแสดงพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ในการที่จะไม่ยกพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ลงวันที่ 15 มกราคม 2471 ความว่า
“…ฉันจะพูดกับแกตรง ๆ และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวดี คือแกเป็นคนครึ่งชาติและเพราะเหตุผลนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช (แห่งอังกฤษ) เพราะแกไม่อยู่ในขอบเขตสืบสันตติวงศ์ ฐานะของแกในเมืองไทยคือเป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ ๆ ของฉัน แต่ต้องถูกยกเว้นจากการได้ขึ้นราชบัลลังก์
ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (ร.6.) ท่านทำผิดในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เพราะท่านได้ตั้งพระทัยจะยกเว้นแกมาตั้งแต่แรก การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะแกครึ่งๆ กลางๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว…”
เพราะฉะนั้นข่าวลือและข่าวเสี้ยมที่ว่า หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว พระองค์เจ้าจุลฯ เป็นผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์องค์จริง ไม่ใช่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
พระองค์เจ้าอานันทมหิดลได้รับสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาที่เสด็จทิวงคตไปก่อนหน้านั้น
………………………………………………………………….
ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ราชนิกุลในรัชกาลที่ ๖ ข้าราชบริพารของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เล่าไว้ในหนังสือ“หนึ่งในโลก”
“ครั้งเสด็จกลับมายังพระนครครั้งแรก เมื่อพระชันษาประมาณ ๑๒ ชันษา พร้อมกับสมเด็จพระบรมเซษฐาธิราช ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ทรงเคารพเชื่อฟังพระเชษฐามาก แนะนำอะไรก็เชื่อ ไม่รังแกกันเลย
เพราะทรงกำพร้า จำพระพักตร์ทูลกระหม่อมสมเด็จพระบรมราชชนกไม่ได้ จึงมีความรู้สึกต่อพระเชษฐานั้นว่าทรงเป็นทั้งพ่อ ทั้งพี่และทั้งเพื่อน..ตามเสด็จพระเชษฐาไปทุกๆแห่งที่เสด็จ..”
………………………………………………………………….
ภายหลังจากที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตอย่างไม่มีใครคาดคิดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ราชสกุลมหิดลตกอยู่ในความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดมิได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๙ จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในทันทีอย่างไม่มีใครคาดคิดเช่นกันเนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่๘ ที่เสด็จสวรรคต
ในเวลาต่อมา เมื่อถึงวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันขึ้นครองราชสมบัตินั้นมิใคร่โปรดให้จัดเป็นการใหญ่
จะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นหลัก เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่าฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่คิดเลยว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ข่าวลือข่าวเสี้ยมที่ให้ร้ายป้ายสีอย่างจาบจ้วงว่า ในหลวงรัชกาลทึ่ 9 จงใจหรือเป็นเพียงอุบัติเหตุให้พี่ต้องตายนั้นไม่มีมูลความจริงแม้แต่นิดเดียว แต่ข่าวให้ร้ายนั้นเกิดมาจากการหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ที่หวังทำลายพระองค์
ซึ่งสาเหตุของการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยประทานสัมภาษณ์ BBC ก็คือ สวรรคตเพราะการเมือง
………………………………………………………………….
ตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์กว่า 70 ปี ที่ทรงเดินทางไปบำบัดทุกข์บำรุงราษฎร์ในถิ่นทุรกันดารทั่วทั้งประเทศ เป็นความพยายามที่ทรงงานเพื่อช่วยรัฐบาลทำงานอีกแรงหนึ่ง จนนำพาประเทศไทยให้พ้นจากการเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา และประเทศทึ่ยากจน สู้ความผ่าสุขในปัจจุบัน
………………………………………………………………….
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า นายอัษฎางค์ ยมนาค