ผู้ปกครองในยุคที่เป็นพระมหากษัตริย์กับยุคที่เป็นนักการเมือง
ใครมีจิตเมตตาและใครโหดเหี้ยมอำมหิตกว่ากัน
……………………………………………………………………..
เห็นประกาศพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษเนื่องในวันที่ ๕ ธันวาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องนี้ อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
ระหว่างผู้ปกครองที่เป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับผู้ปกครองที่เป็นนักการเมืองในสมัยประชาธิปไตย
ใครมีจิตเมตตา และใครโหดเหี้ยมอำมหิตกว่ากัน
……………………………………………………………………..
• ผู้ปกครองที่เป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จากบันทึก”สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น”ของ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เล่าว่า
ข้าพเจ้าได้ยินเสด็จพ่อเล่าว่า
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) เคยตรัสกับท่านว่า
“ทุกครั้งที่ทรงเซ็นประหารชีวิตนักโทษ ก่อนจะทรงเซ็นได้ ทรงตรวจคดีโดยละเอียดว่าจะมีทางช่วยให้รอดได้โดยสถานใดบ้าง ทุกคน”
ถึงรัชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้าธานีฯ ราชเลขาฯ ทรงเล่าว่า
“ถ้าวันใดถวายคำพิพากษาประหารชีวิตให้เซ็นแล้ว เป็นได้มีเรื่องถูกกริ้วแรงๆ เสมอๆ บางคราวไม่ทรงเซ็นเสียหลายๆ วัน
ถึงรัชกาลที่ ๗ ก็คงเช่นนั้นอีก และยิ่งสั่งฆ่าคนที่ทรงคุ้นเคยมาด้วยแล้ว ท่านยิ่งดื้อหนักขึ้นไม่ยอมเซ็น
แต่ทรงแนะนำรัฐบาลว่า “ให้เก็บไว้ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ เซ็นเมื่อในหลวงเสด็จแล้วก็ได้”
ฉะนั้นพอถึงเวลาก็นำคำพิพากษาไปถวายให้เซ็นกันตั้งหลายคน แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ก็ไม่ยอมเซ็น ด้วยตรัสว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เซ็นไม่ได้ “ก็นี่มันมือของฉันๆ ไม่เซ็นจะทำอะไร”
……………………………………………………………………..
• ผู้ปกครองที่เป็นนักการเมืองในสมัยประชาธิปไตย
เล่ากันว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาของรัฐบาลคณะราษฎร์บ่นว่า”ไม่นึกเลยว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ จะเป็นคนดื้อถึงเพียงนี้”
เพราะเมื่อแรกจับตัวพวกที่เขาเรียกว่าขบถได้ เขาตัดสินประหารชีวิตคนโตๆ ๔ คน คือ พระยาสุรพันธ์ พระยาจินดา พระยาทรงอักษร พระยาฤทธิไกร ไว้ให้ทรงเซ็น ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้มีที่มีความดีมาแต่หนหลัง ทรงขอให้เพียงจำคุกตลอดชีวิต
แปลไทยเป็นไทยได้ว่า คณะราษฎร์ต้องการให้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง
ซึ่งนับถอยหลังขึ้นไปถึงที่มีจดบันทึกเอาไว้ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดอยากสั่งประหารชีวิตใคร เหมือนที่เราดูหนังดูละครทั้งไทยหรือจีน ว่าเอะอะอะไรพระมหากษัตริย์ก็ใช้อำนาจกดขี่ข่มแหงประชาชน อยากฆ่าแกงก็สั่งกันฆ่าง่ายๆ
ผิดกับคณะราษฎร์ที่ปล้นพระราชอำนาจมาด้วยคำอ้างเรื่องประชาธิปไตยและความเสมอภาคของประชาชน กลับคิดจะฆ่าแกงกันง่ายๆโดยไม่คำนึงถึงความดีที่เขาเคยทำมา และไม่คิดหาทางที่เว้นโทษประหารชีวิตเหมือนพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลย
……………………………………………………………………..
เห็นอะไรจากบันทึกประวัติศาสตร์นี้
เด็กสามนิ้วผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำแลงที่ซ่อนเร้นการล้มล้างการปกครองถูกล้างสมองให้จงเกลียดจงชังพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ว่ากดขี่ข่มแหงประชาชน
และโจมตีการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าสิทธิขาดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจการปกครองอยู่ผู้เดียว
แต่ยกย่องเชิดชูคณะราษฎรผู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยจำแลง ว่าให้ความเสมอภาคกับทุกคน
บันทึกประวัติศาสตร์นี้ช่วยเปิดหูเปิดตาว่า ผู้ปกครองที่เป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงมีพระเมตตากรุณาเพียงใด
ในขณะที่ผู้ปกครองที่เป็นนักการเมืองในยุคประชาธิปไตยใครโหดเหี้ยมอำมหิตขนาดไหน
……………………………………………………………………..
ในหลวงรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะราษฎร์ตลอดรัชกาล
ต่อมาหลังจากคณะราษฎร์หมดอำนาจ พระมหากษัตริย์ทรงกลับมามีพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ทรงมีพระเมตตากรุณาเหมือนทุกพระองค์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ผ่านมา แล้วในปัจจุบันในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ก็สืบสานต่อยอดสิ่งดีๆ เหล่านั้นต่อไป
……………………………………………………………………..
อัษฎางค์ ยมนาค