“ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย”
ฉบับย่อ
………………………………………………………………….
ย้อนหลังไป ๒๐๐ กว่าปีก่อน เริ่มต้นจากตำนานว่า นายสิน (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) นายทองด้วง (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) และนายบุนนาค (เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา) เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ
ในสมัยหนุ่ม ๆ พระเจ้าตากที่ยังเป็นเพียงนายสิน ลูกครึ่งจีน ไว้หางเปีย อย่างชาวจีนแมนจู มีอยู่วันหนึ่ง นายบุนนาคคิดสนุกจะแกล้งเพื่อน ในขณะที่นายสินนอนหลับอยู่ นายบุนนาคจับเปียของนายสินมัดไว้กับที่นอน พอนายสินตื่นและลุกขึ้นมา หัวจึงถูกกระชากจากเปียที่ผูกติดอยู่กับที่นอน นับแต่นั้นมา นายสินกับนายบุนนาคจึงผิดใจกัน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงนิทานที่เล่าต่อ ๆ กันมา ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์
แต่จากประวัติศาสตร์จริง ๆ ระบุว่า เมื่อพระยาตากสิน ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน กู้เอกราชและตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว นายทองด้วง ได้เลื่อนยศเป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยา นายบุนนาค จึงเข้ามาพึ่งบารมี โดยแอบอยู่ในบ้านของสมเด็จเจ้าพระยา มิได้รับราชการ เพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่โปรด
แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว นายบุนนาค ก็เติบโตในราชการ จนเป็นถึงเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ท่านผู้นี้ถือเป็นต้นตระกูลบุนนาค นับเป็นชั้นที่ ๑
………………………………………………………………….
แต่ความจริงตระกูลบุนนาค สืบเชื้อสายมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียและคณะ ได้เข้ามาทำการค้าขายและต่อมาได้รับราชการในกรมพระคลัง วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อเนื่องกันมา ๖ ชั้น จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ และตระกูลบุนนาคค่อย ๆ เติบโตในราชการ จนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๒ สวรรคตกะทันหัน ตระกูลบุนนาคก็มีลูกหลานรับราชการตำแหน่งใหญ่โตคุมอำนาจแล้ว และคนในตระกูลบุนนาคคือกำลังสำคัญที่ผลักดันให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในงานราชการได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นในหลวงรัชกาลที่ ๓ ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าชายหนุ่มที่อ่อนประสบการณ์แต่เป็นรัชทายาทพระองค์จริงบวชไม่สึกตลอดรัชกาล
………………………………………………………………….
เจ้านายหรือผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้กุมอำนาจในสมัยโบราณ มีเกียรติและรักษาเกียรติยิ่งชีพ ทำให้ท่านเหล่านั้นเห็นแก่ความสำคัญของชาติและประชาชนยิ่งกว่าตัวเองและพวกพ้อง ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ก็เช่นกัน ที่ทรงอาจคิดเช่นกันว่าพระองค์ไม่ใช่รัชทายาท แต่ที่ได้ราชสมบัติมาก็เพราะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการน้อยใหญ่เลือกพระองค์ เพราะเห็นถึงความรู้ความสามารถของพระองค์ พระองค์จึงไม่ได้แต่งตั้งภรรยาเจ้าพระองค์ใดขึ้นเป็นพระราชินีเลย เพราะหากมีพระราชินี และพระราชินีมีพระโอรส พระราชโอรสนั้นจะได้ราชสมบัติโดยอัตโนมัติ จนเวลาสุดท้ายที่ใกล้สวรรคต พระองค์สั่งเสียว่า หากพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าข้าราชการเห็นว่าผู้ใดเหมาะสม ให้เลือกผู้ที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพระโอรสของพระองค์หรือไม่ใช่ก็ตาม แล้วก็เป็นขุนนางตระกูลบุนนาคอีกครั้งที่เป็นกำลังสำคัญในการเลือกพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎกลับมาครองราชสมบัติ
………………………………………………………………….
ซึ่ง ณ เวลานั้น เจ้าฟ้ามงกุฎเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถในระดับปราชญ์แห่งสยามแล้ว แล้วต่อมาในเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ใกล้สวรรคต พระองค์ก็มิได้ระบุที่จะยกราชสมบัติให้กับองค์รัชทายาท แต่ทรงมีพระราชปรารภให้ขุนนางผู้ใหญ่ปรึกษาหารือ และคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป
…………………………………………………………………. ………………………………………………………………….
พวกเราเห็นอะไรจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยในอดีต ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็จริง แต่มีความเป็นประชาธิปไตยแฝงอยู่ พระมหากษัตริย์ ๓ รัชกาล ไม่ได้ครองราชย์สมบัติโดยการรับมรดก แต่ด้วยการโหวตของข้าราชการ โดยเลือกจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ประชาธิปไตย คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ก็จริง แต่ในสมัยโบราณ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครอง เพราะฉะนั้น ข้าราชการเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ในสมัยนั้นข้าราชการจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชน ถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่ได้เลือกข้าราชการมาเป็นตัวแทนก็ตาม
………………………………………………………………….
เมื่อเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๔ สวรรคต ขุนนางตระกูลบุนนาคก็ใหญ่คับฟ้าเสียแล้ว เพราะตระกูลบุนนาคเป็นผู้ผลักดันพระมหากษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ให้ได้ครองราชสมบัติ แม้แต่รัชกาลที่ ๕ ที่เป็นองค์รัชทายาท ที่มีโอกาสครองราชย์โดยอัตโนมัติก็จริง แต่ก็ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนของตระกูลบุนนาคอยู่ดี จึงเป็นที่เกรงใจของพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งคนในตระกูลนี้ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินกันถ้วนหน้า คนจำนวนมากจากตระกูลใหญ่ย่อมมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไปเป็นธรรมดา ในเวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๕ มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ยังไม่รู้ราชการงานเมือง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งในช่วงต้นรัชกาลนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มีอำนาจล้นฟ้าในแผ่นดินสยาม ขนาดว่าสามารถออกคำสั่งประหารชีวิตคนได้
………………………………………………………………….
ในช่วงเวลานั้น มีผู้คนกังวลและแอบซุบซิบว่าท่านจะแย่งราชสมบัติ เพราะพระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์ อ่อนกำลัง ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารราชการ อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่มีอำนาจมากล้นฟ้าไปโดยปริยาย แต่ช่วงเวลาผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ท่านทำงานเพื่อสนองงานพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อชาติและแผ่นดินสยาม
………………………………………………………………….
แต่ด้วยความที่ในเวลานั้น ตระกูลบุญนาคมีอำนาจมากล้นจริง ๆ จนในหลวงรัชกาลที่ ๕ อึดอัด ขนาดว่าพระองค์ได้ระบายความอึดอัดออกมาเป็นพระราชดำรัสเล่าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่า “…แต่ความจริงหาเป็นเช่นคาดหมายของคนทั้งปวง ว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรม และมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้มาเอง ในเวลานั้น พ่ออายุเพียง ๑๕ ปี กับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัว รักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์ ฝ่ายข้าราชการก็มีแต่ผู้น้อย โดยมากที่เป็นผู้ใหญ่ไม่มีกำลังสามารถอุดหนุนอันใด ส่วนตัวพ่อ ยังเป็นเด็ก อายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใด ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงความตายอันไม่มีสักคนเดียว ซึ่งจะเชื่อว่ารอด”
………………………………………………………………….
และด้วยความที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ อึดอัดนี้ ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ทรงศึกษาและพัฒนาพระองค์เองจน กลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงรอบรู้ เมื่อพระชนมพรรษาครบ ๒๐ ที่นับว่าบรรลุนิติภาวะ ก็ได้พระราชอำนาจกลับมา หลังจากนั้น สิ่งที่พระองค์ทำคือ ส่งพี่น้อง ลูกหลาน และคัดเลือกประชาชนให้ได้รับการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทรงแต่งตั้งพี่น้องและลูกหลานของพระองค์เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ เพื่อเป็นเหมือนแขนขาของพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วตลอดรัชกาลของพระองค์ เมืองไทยก็ฝ่าวิกฤตที่อันตราย และพัฒนาประเทศจนก้าวหน้าเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ด้วยพระวิริยอุตสาหะและวิสัยทัศน์ของพระองค์
………………………………………………………………….
ส่งผลให้ในรัชกาลต่อ ๆ ไป ทั้งรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เป็นใหญ่เป็นโตควบคุมอยู่ในวงราชการ แต่ด้วยเพราะวิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ ๕ และสืบต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ และ ๗ ที่มี ไม่ได้สนับสนุนแต่เพียงลูกหลานเจ้านาย แต่ยังส่งลูกหลานของประชาชนให้ได้รับการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ผสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคการถ่ายเปลี่ยนจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ยุคประชาธิปไตย ทำให้ลูกหลานชาวบ้านที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เริ่มมองความไม่เท่าเทียม ที่เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์เป็นใหญ่อยู่ในกระทรวงทบวงกรม ลูกหลานชาวบ้านที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศก็มีความทะนงตนว่าตนเองก็มีความรู้ความสามารถไม่ด้อยกว่ากัน โดยลืมคิดว่าความรู้ความสามารถเหล่านั้น ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ ลูกหลานชาวบ้านนักเรียนนอกเหล่านั้นจึงเริ่มจับกลุ่มเสวนา ปลุกปั่น และจบลงด้วยการปฏิวัติ ลูกหลานชาวบ้านที่กลายเป็นนักเรียนนอกด้วยเงินและแรงสนับสนุนของพระมหากษัตริย์ เรียนจบกลับมาก็มา ทำการปฏิวัติพระเจ้าแผ่นดิน
………………………………………………………………….
ท่านทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพวิวัฒนาการของการเมืองไทยบ้างมั้ย ผมจะสรุปสั้น ๆ อีกที เริ่มต้นจากพระมหากษัตริย์มอบความไว้วางให้ข้าราชการบริหารราชการแผ่นดิน จนข้าราชการเติบโตยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน แล้วพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเอาพี่น้องลูกหลานของพระองค์เอง เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแทนข้าราชการ เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์เป็นใหญ่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้าราชการก็เริ่มไม่พอใจ สุดท้ายข้าราชการก็ปฏิวัติยึดอำนาจจากพระเจ้าแผ่นดิน
………………………………………………………………….
นั่นคือการเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลง ๒๔๗๕
หลัง ๒๔๗๕ ข้าราชการที่ปฏิวัติก็กลายมาเป็นนักการเมือง แล้วนักการเมืองก็เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
นักการเมืองทำอะไรไว้กับแผ่นดินตลอด ๘๗ ปี เราคนไทยรู้ดีใช่มั้ย?
………………………………………………………………….
ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ที่ทรงพระเยาว์ “ถูกฆาตกรรม” เพราะการเมือง
ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจาก บีบีซี ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตรัสว่า การสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ มาจากเหตุทางการเมือง
………………………………………………………………….
การเมืองช่วงหลัง ๒๔๗๕ นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ถูกกำจัดออกนอกเส้นทางทางการเมือง บางพระองค์โดนยึดทรัพย์ บางพระองค์ต้องติดคุก ในขณะที่นักการเมืองขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
………………………………………………………………….
ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ว่าการเมืองไทยนั้น อำนาจทางการเมือง สลับสับขั้วกันระหว่าง”เจ้า”และ”ข้าราชการ” หรือ”นักการเมือง”มาตลอดระยะเวลาของกรุงรัตนโกสินทร์
………………………………………………………………….
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขึ้นครองราชสมบัติ หลังจากโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ทางการเมือง ที่พี่ชายผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์โดนฆาตกรรมโดยการเมืองนั้น สถานการณ์ของพระองค์จะเป็นอย่างไร ไม่มีหลักฐานว่าพระองค์ได้ระบายความโศกเศร้า ความอึดอัด ความหวาดกลัวใด ๆ เหมือนที่เราได้รับรู้จากพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๕ เล่าให้ลูกชายของพระองค์ได้ฟัง แต่ถ้าท่านได้อ่านประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ถึงตรงนี้ ท่านจงหยุดอ่าน แล้วลองคิดตามดูว่า ณ เวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เป็นที่รักยิ่งของเรา จะรู้สึกอย่างไร มาลองหยุดคิดดูกัน
…………………………………………………………….
เมื่อปี ๑๙๘๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานสัมภาษณ์แก่นิตยสาร National Geographic เอาไว้ว่า… “เมื่อข้าพเจ้ามารับหน้าที่นี้เมื่อสามสิบหกปีล่วงมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่สิบแปดปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวันนั้น เก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังเกือบจะพังลงมา เวลานั้นสงครามเพิ่งสิ้นสุด ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อย ๆ ก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง ข้าพเจ้าค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลาสามสิบหกปีเข้าไปแล้ว”
………………………………………………………………….
นักการเมืองเลือกพระมหากษัตริย์หนุ่มวัย ๑๘ ที่เพิ่งจะเสียพี่ชายที่ถูกเลือกให้นั่งบัลลังก์เดียวกัน พระมหากษัตริย์หนุ่มที่เกิดและเติบโตในต่างประเทศ ไม่มีพรรคพวก ไม่มีกำลัง ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ความรู้สึก และสถานการณ์ในเวลานั้นจะเลวร้ายขนาดไหน พระองค์ต้องทำอย่างไรถึงจะรับมือกับนักการเมืองที่อ้างอำนาจอธิปไตยจากมวลชน
………………………………………………………………….
ในเมื่อนักการเมืองคือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงต้องพึ่งทหาร ช่วงต้นรัชกาล ทหารที่เป็นนักการเมือง หรือนักการเมืองในเครื่องแบบทหาร ยังคงมีอำนาจในแผ่นดิน มีการปฏิวัติยึดอำนาจกันไปมา แต่ด้วยพระวิริยอุตสาหะในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฏร์ของพระองค์ ทำให้ทหารอาชีพเข้ามาเป็นกำลังสนับสนุน ทหารอาชีพเหล่านั้นคือผู้ที่จงรักภักดี และเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วงหลังของรัชกาล เราจะเห็นทหารออกมาทำรัฐประหารจากสาเหตุที่นักการเมืองโกงกันสุดโต่ง ไม่ใช่ทำรัฐประหารเพราะต้องการอำนาจอย่างในอดีต และอย่างที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันใส่ความ
………………………………………………………………….
ปัจจุบัน พวกเขาปลุกปั่นว่า ทหารโหนเจ้า ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังทหารที่ทำรัฐประหาร คือแปลว่า ทหารก็เลว และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ผิด พวกเขาปลุกปั่นว่า… สถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมมือกับทหารยึดอำนาจการปกครองจากประชาชน แต่ความเป็นจริง… ในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นักการเมืองคือหัวโจก ที่วางแผนปล้นพระราชอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์โดยใช้ทหารเป็นเครื่องมือ
………………………………………………………………….
ในหลวงของเรา ค่อย ๆ แก้ ค่อยๆ สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาทีละเล็กละน้อย กว่าจะเป็นเมืองไทยที่ร่มเย็นแบบนี้ พระองค์ใช้เวลาถึง ๗๐ ปี เป็น ๗๐ ปีที่ทรงงานหนักขนาดไหนลองคิดดู คนเก่าคนแก่คงตอบได้ว่า สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ๆ แถวบ้านท่านมีสภาพอย่างไร ผู้คนแถวบ้านท่าน มีสภาพอย่างไร มันเป็นสภาพที่เด็กรุ่นใหม่ เด็กที่กำลังจะมีอนาคตใหม่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น พวกเราอยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็เพราะคนรุ่นเก่าฝ่าฟัน ถากถางมาด้วยความยากลำบาก อย่าปล่อยให้เวลา ๗๐ ปีที่ในหลวงทรงงานหนักเพื่อความอยู่ดีกินดีของไทย ถูกลบโดยคนหน้าใหม่ที่ไร้ราก
………………………………………………………………….
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสังคมไทย และเป็นพลังสำหรับนักประชาธิปไตยตัวจริงที่ทำเพื่อชาติและประชาชน เรามั่นใจได้เสมอว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยึดมั่นในความผาสุกของประชาชนคนไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ที่คอยถ่วงดุลย์อำนาจทางการเมืองและการปกครองให้กับคนไทย หากไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว นักการเมืองที่มีอำนาจชั่ว ๆ จะสามารถทำลายความเป็นไทยลงไปได้โดยง่าย ประชาธิปไตย คือการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน เลือกสนับสนุนผู้ที่ทำเพื่อชาติและประชาชน และระวังผู้สวมหน้ากากประชาธิปไตย ที่ปากพูดถึงแต่ประชาธิปไตย แต่ในใจทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่พี่น้องชาวไทยทุกคน
อัษฎางค์ ยมนาค