การศึกษาที่เมืองไทย เวลาทำการบ้านหรือการสอบมักมีเฉพาะการเขียนหรือการทำข้อสอบแบบกา ก ข ค a b c
แต่ตอนผมมาเรียนหนังสือที่ออสเตรเลีย มีเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผมคือ การบ้านหรือการสอบ จะเน้นทั้งเรื่องการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบทุกทักษะ
เริ่มจากเขียนรายงานหรือการเขียน essay แล้วมา present และดีเบต ซึ่งเราต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง โดยนำสิ่งที่เราเรียนรู้หรือค้นคว้ามาถกเถียงกัน
ซึ่งการให้คะแนนสอบของอาจารย์ “ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องถูกหรือผิด” แต่อาจารย์ทุกคนทุกวิชามักพูดว่า คำตอบของเรานั้น “ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก”
ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เป็นกระแสในสังคมไทย 2 เรื่องในปัจจุบันคือ จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงดีหรือไม่ดี และข่าวการเสียชีวิตของหมอหนุ่มที่เคยแซะหรือโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันเฉลิม
ซึ่งคนไทยบางคนหรือหลายคนอาจยึดติดกับความคิดเห็นของตนเองว่าดีงามถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว ใครคิดต่างคือสิ่งชั่วร้ายที่ต้องตามไปด่าทอ ด้อยค่า ทั้งที่เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับฟังความเห็นต่าง
แต่ถ้ามองไปในสังคมของชาติตะวันตกที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพอย่างที่ออสเตรเลียที่ผมเล่าไว้ตอนต้นว่า เขาปลูกฝังกันมาตั้งแต่เรียนหนังสือแล้วว่า ทุกเรื่องราว “มีทั้งผิดและถูก หรือ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีอะไรถูก”
ยกตัวอย่างเรื่อง สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง สำหรับผมคนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลอะไรมาอย่างจริงจังมากนัก เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบต่ออาชีพของคนในท้องถิ่น ก็ทำให้ผมคิดถึงตัวเองว่า อยากไปเที่ยวภูกระดึงมานานแต่ไม่เคยไปเลย เพราะประเมินว่าตัวเองเดินขึ้นเขาไม่ไหว ก็ย่อมรู้สึกยินดีถ้ารัฐจะสร้างกระเช้า
หรือบางคนบอกว่า เคยไปมาแล้วสมัยเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่ปัจจุบันเดินขึ้นไม่ไหวแล้วเพราะอายุมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคิดถึงและอยากไปขึ้นอีก ก็อยากให้สร้างกระเช้า
ในขณะที่มีข่าวว่าจะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ผมก็เปิดใจรับฟังคนที่ค้าน ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่น่ารับฟังทั้งนั้น มีหลายเหตุผลที่ผมเห็นด้วย และมีบางเหตุผลที่ผมยังมีข้อโต้แย้ง
เช่น บางท่านบอกว่าการขึ้นภูกระดึงมันไม่ได้จบที่กระเช้า เพราะบนภูยังต้องเดินกันอีกหลายกิโล เพื่อไปชมธรรมชาติตามจุดต่างๆ
ซึ่งเรื่องเดินบนภูนี้ ผมก็เห็นด้วยกับบางท่านที่ว่า เราเดินไหว จะกี่กิโลเราก็เดินไหว แต่ที่ไม่ไหวคือการเดินขึ้นภู
อันนี้เป็นตัวอย่างว่า ผมดีใจที่ได้อ่านหรือฟังความเห็นของคนที่เราเห็นต่าง ความเห็นของเขาเหล่านั้นหลายอย่างทำให้เราฉุกคิด และบางอย่างเราก็ยังอาจโต้แย้งอยู่ แต่ก็ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย ว่าความเห็นของเราเท่านั้นที่ถูก ของคนอื่นผิด เหมือนที่ท่านทูตพี่นิคโดนคนที่คัดค้านจัดทัวร์มาถล่มเพราะท่านทูตเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าขึ้นภู
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงผมรู้สึกดีใจกับข่าวว่าจะสร้างกระเช้า แต่ผมไม่เคยมาเขียนโพสต์สนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะผมเห็นข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายแล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มีทั้งผิดและถูก หรือ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีอะไรถูก” และผมตัดสินไม่ได้ว่า ทำหรือไม่ทำ อะไรดีกว่ากัน หรือ ถึงผมจะอยากจะมีกระเช้าเป็นตัวช่วยสำหรับขึ้นภู แต่ผมก็ห่วงกังวลกับผลกระทบต่างๆ ตามที่ผู้สนับสนุนวิพากษ์วิจารณ์กันไปพร้อมกัน
ดังนั้นก็รอผู้รู้และผู้มีอำนาจหน้าที่จะมาเป็นกรรมการพิจารณาตัดสิน ผลจะออกมาทางไหน ก็ถูกต้องดีงามทั้งสิ้น และการจะทำอะไรให้ทุกคนพอใจ มันไม่มีทางเป็นไปได้
หรือตัวอย่างของเรื่อง “ข่าวการเสียชีวิตของหมอหนุ่มที่เคยแซะหรือโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันเฉลิม” ก็มีทั้งฝ่ายบอกว่า “คนตายไปแล้วก็ควรจะจบ” กับฝ่ายที่บอกว่า “ต้องพูดเพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดูเป็นตัวอย่าง”
ผมก็ไม่ได้เขียนโพสต์ใดๆ กับเรื่องนี้เลย เพราะตอนที่ผมคิดจะเขียน“เพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดูเป็นตัวอย่าง” ผมก็คิดถึงคำพูดที่ว่า “คนตายไปแล้วก็ควรจะจบ”
ในขณะเดียวกัน เมื่อคิดว่าอย่าเขียนเลยเพราะ “คนตายไปแล้วก็ควรจะจบ” ผมก็รู้สึกว่า “ทำไมถึงไม่เขียนเพื่อเตือนสติให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดูเป็นตัวอย่าง”
ซึ่งเรื่องเหล่านั้นล้วน “มีทั้งผิดและถูก หรือ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีอะไรถูก”
ดังนั้น อย่าคิดฆ่าแกง ประหัตประหาร เอาเป็นเอาตายกันเลย ไม่ต้องตามไปแขวะ ไปแซะ ไปด่าทอ ด้อยค่า คนที่เขาคิดต่างจากเรา ทั้งที่เราต่างเรียกร้องสังคมแห่งสิทธิเสรีภาพ สังคมประชาธิปไตย ที่ย่อมมีเรื่องของความเห็นต่างกันอยู่ตลอดเวลา
ที่สำคัญ ความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกนี้คือ ทุกเรื่องราวเหล่านั้นล้วน “มีทั้งผิดและถูก หรือ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีอะไรถูก” เสมอ
การเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์แล้วต้องรับฟัง และต้องจบเมื่อมีกรรมการตัดสิน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “สังคมแบบเสรีประชาธิปไตย”
คนไทยถูกฝึกให้รู้จักแต่ขาวกับดำ ถูกกับผิด ด้วยการทำข้อสอบแบบกา ก ข ค a b c มาตลอดชีวิต
“สังคมแบบเสรีประชาธิปไตย”จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ต้องเริ่มต้นที่การให้การศึกษา ที่ฝึกให้คนไทยรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ทุกเรื่องราวในโลกเหล่านั้นล้วน “มีทั้งผิดและถูก หรือ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีอะไรถูก” เสมอ “ต้องมีทั้งการเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์และต้องมีการรับฟัง และต้องจบเมื่อมีกรรมการตัดสิน”
มิใช่ไม่เคยรับฟัง แต่ทุกคนต้องทำตามความคิดเห็นของตน นั่นมิใช่ “สังคมแบบเสรีประชาธิปไตย” อย่างที่ท่านเรียกร้อง
เรื่องความคิดเห็นของผู้คนในสังคมนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ เรื่องบุญบาปและกฎหมาย ซึ่งมีผิดมีถูก ตามที่บัญญัติเอาไว้ชัดเจน
………………………………………………………
สำหรับคำว่า ไม่มีผิดไม่มีถูก อาจมีคนแย้งว่า มันมีผิดและถูก เช่น เรื่องกรรมดีกรรมเลว เรื่องบุญบาป เรื่องกฎหมายและวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเหล่านั้นเป็นคนละเรื่องที่ผมพูดถึงนี้ซึ่งกับเรื่องข้อโต้แย้งทางสังคม
เนื่องจากเรื่องบุญกรรมมีความผิดตามธรรมชาติ และวิชาคณิตศาสตร์และเรื่องกฎหมายนั้นก็มีความถูกผิดที่กำหนดไว้ชัดเจน
ขอยกตัวอย่าง ลองคิดดูนะครับ คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนที่อยากมีครอบครัว อยากมีลูกดังนั้น ชีวิตนี้ต้องแต่งงานต้องมีลูก ส่วนใครที่ไม่อยากมีลูกหรือชอบชีวิตโสดก็เป็นคนผิดซิครับ
นี่แหละครับ ที่ผมพาดหัวว่า “ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก“
ใครอยากมีครอบครัว ใครอยากโสด ล้วนไม่ผิดและไม่ถูก
เรื่องสร้างกระเช้าหรือการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหมอที่ตายก็เช่นกัน “มีทั้งผิดและถูก”
ขึ้นอยู่กับว่า ใครคิดอย่างไร ใครยืนอยู่จุดไหน
ยกตัวอย่างภาพที่เป็นภาพเลข 6 หรือ 9 โดยมีคนสองคนยืนอยู่หัวท้ายคนละมุม ถ้าคุณเป็นคนยืนอยู่หัวท้ายคนละมุม แล้วคุณบอกว่า คนยืนตรงข้ามมองผิด เพราะคุณเห็นเป็นเลข 6 แต่คนที่ยืนตรงข้ามเห็นเป็นเลข 9 คุณจะว่าเขาผิดหรือคุณผิด หรือไม่ถูกและไม่ผิดทั้งคู่
เรื่องความคิดเห็นของผู้คนในสังคมนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ เรื่องบุญบาป คณิตศาสตร์และกฎหมาย ซึ่งมีผิดมีถูก ที่ถูกบัญญัติเอาไว้ชัดเจน
อัษฎางค์ ยมนาค