โดย อัษฎางค์ ยมนาค
…………………………………….………………………
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโครงการในพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการ ซึ่งนำไทยจากประเทศด้อยพัฒนาก้าวขึ้นมา ”เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่อะไรทำให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นคุณงามความดีเหล่านั้น
โครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือในหลวงรัชกาลที่ 10 มิใช่สิ่งที่จะทำให้ประเทศพัฒนาหรือไม่พัฒนาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศของนักการเมืองและรัฐบาล
น้องๆ หนูๆ คงต้องกลับไปเรียนหนังสือกันใหม่เพราะคำพูดเหล่านี้เช่น “ถ้าโครงการ 4000 โครงการดี ทำไมผ่านมา 70 ปีจึงได้แค่ประเทศด้อยพัฒนา” เป็นคำพูดของคนที่เหมือนไร้การศึกษา จึงไม่เข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ แต่ผู้ที่มีอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดตัวจริงคือ ตัวน้องๆ หนูๆ พ่อแม่ญาติพี่น้องของน้องๆ หนูๆ และคนไทยทั้งชาติ ที่มอบอำนาจการปกครองที่เรามีอยู่ให้กับนักการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง”
ขยายความอีกหน่อยได้ว่า ประเทศจะพัฒนาหรือด้อยพัฒนาขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของประชาชนว่าเลือกนักการเมืองคนใดพรรคไหนเข้ามาบริหารประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศจะพัฒนาหรือไม่ขึ้นอยู่กับนักการเมืองเป็นหลัก
…………………………………….………………………
คนไทยรุ่นใหม่ถูกนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง บิดเบือนข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ในขณะที่ในระดับนานาชาติต่างรับรู้ในพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย ประเทศไทยและประชาคมโลก จนเป็นที่มาของรางวัลระดับโลกมากมาย ได้แก่
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UN Development Programme (UNDP) Human Development Lifetime Achievement Award เมื่อปี 2549
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของดินต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ทางยูเนสโก ได้อัญเชิญแนวปรัชญา”เศรษฐกิจพอเพียง”ของในหลวงรัชกาลที่ 9 บรรจุภายใต้แผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยจะให้ชาติสมาชิกนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้เพื่อทำแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของประเทศตัวเองอีกด้วย
…………………………………….………………………
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) จัดประชุมสมัชชาสหประชาชาติโดยมีวาระพิเศษเพื่อแสดงความอาลัยและสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี 9 ผู้แทนทั่วโลก กล่าวคำถวายสดุดี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมจะขอยกตัวอย่างที่สำคัญดังนี้
นางซามานธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ กล่าวสดุดีมีใจความตอนหนึ่งว่า
“พระองค์แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่อ่อนแอ และคนชายขอบ ดั่งพระราชดำริที่ว่า หนทางเดียวที่จะทำให้รู้ได้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ และหนทางเดียวที่จะเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่นั้น คือ การออกไปลงพื้นที่จริง ไปยังพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย
พระองค์ทรงพยายามพบกับผู้คนในท้องถิ่นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ชาวสวนยาง ชาวนา หรือนักเรียนชั้นประถม
ด้วยเหตุนื้ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทยากไร้ห่างไกลความเจริญ โดยตลอดช่วงแห่งการครองราชย์ พระองค์มีพระราชดำริก่อตั้งโครงการพัฒนาหลายพันโครงการ”
นาย Kaha Imnadze เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรจอร์เจียประจำสหประชาชาติ ผู้แทนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก กล่าวสดุดีว่า
“พระองค์จะเป็นที่จดจำในฐานะทรงเป็นผู้นำที่โดดเด่น เสียสละทุ่มเทเพื่อประเทศ ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา”
นาย Mansour Ayyad Alotaibi เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรคูเวตประจำสหประชาชาติ ผู้แทนกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวสดุดีว่า
“ทรงมีบทบาทในการสร้างสันติภาพและแก้ไขความขัดแย้ง และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ปิดท้ายนายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวสดุดีว่า
“พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนามนุษย์โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จึงเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการ นำไทยจากประเทศด้อยพัฒนาขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง”
จะเห็นหรือไม่ว่าในระดับนานาชาติยังรู้ว่าตลอดรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทสำคัญ“ที่นำประเทศไทยจากประเทศด้อยพัฒนาก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
แล้วยังไปหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือนว่า “ถ้าโครงการ 4000 โครงการดี ทำไมผ่านมา 70 ปี จึงได้แค่ประเทศด้อยพัฒนา”
…………………………………….………………………
ไม่รู้ว่าคนที่พูดว่าไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนานั้นโผล่มาจากกะลาหรือหลังเขาลูกไหน เพราะประเทศไทยหลุดพ้นสถานะของประเทศด้อยพัฒนามานานหลายสิบปีแล้ว และถ้าใช้คำจำกัดความตามหลักเกณฑ์เดิม ประเทศไทยเราจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
มาลองดูกันหน่อยไหมว่ามีประเทศใดบ้างที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา?
ก่อนปี 2004 กลุ่มประเทศทั้งหมดในยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตในอดีต กลุ่มประเทศที่อยู่ในเอเชียตอนกลาง แม้กระทั่งจีน ถูกจัดเป็น”ประเทศกำลังพัฒนา”
ไทยเราอยู่ในระดับเดียวกับรัสเซีย จีน และประเทศในยุโรปตะวันออก คุณคิดว่า เรากระจอก หรือ?
แต่ปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยถูกจัดเป็นกลุ่ม”ประเทศอุตสาหกรรมใหม่”
ไทยเราไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็น”ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” ทำความเข้าใจกันใหม่และจำกันไว้ให้ดีๆ
เด็กสมัยนี้เรียนหนังสือกันสูงๆ แต่เรียนหนังสือมาโดยที่ไม่มีความรอบรู้ในข้อเท็จจริง จึงโดนผู้ประสงค์ร้ายต่อบ้านเมืองใช้เป็นเครื่องมือทางเมือง ด้วยชักจูงให้หลงผิดได้อย่างง่ายดาย
คำว่าประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาน้อย หรือประเทศด้อยพัฒนา เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศที่มีมาตรฐานการดำรงชีวิตปานกลาง-ต่ำ พื้นฐานอุตสาหกรรมยังไม่พัฒนา และมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) อยู่ในระดับปานกลาง-ต่ำ
แต่ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการดำรงชีวิตอยู่ในระดับสูงและมีพื้นฐานอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในระดับก้าวหน้า
ทำให้ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศที่ถูกเรียกประเทศกำลังพัฒนา แต่มีมาตรฐานการดำรงชีวิตอยู่ในระดับสูงและมีพื้นฐานอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในระดับก้าวหน้า แต่ยังไม่ถึงขั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะถูกจัดให้อยู่กลุ่มที่ใช้คำจำกัดความว่า “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่”ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศจีนและรัสเซีย
…………………………………….………………………
เดิมธนาคารโลกจัดคุณลักษณะของประเทศกำลังพัฒนาตามประเภทเศรษฐกิจของโลกออกเป็น 4 กลุ่มโดยพิจารณาจากรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว ได้แก่
- ประเทศที่มีรายได้สูงกลางบน กลางล่างและรายได้ต่ำ
- ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด
- ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
- รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็ก ๆ
ซึ่งปัจจุบันมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะแบบนี้ว่าเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย และในปี 2015 ธนาคารโลกประกาศว่า จะให้ความสำคัญของ”การจัดหมวดหมู่โลกที่กำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้ว”น้อยลง
คุณลักษณะของประเทศกำลังพัฒนามักจะมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ประชาชนมีความเสี่ยงสูงในเรื่องสุขภาพและอนามัย เช่น การสุขาภิบาลและสุขอนามัย ความปลอดภัยในน้ำดื่ม
- ความขาดแคลนพลังงาน
- เกิดอาชญากรรมสูง
- มีระดับการเข้าถึงการศึกษาของประชากรต่ำ และอัตราของผู้ได้รับการศึกษาต่ำ
- มีมลพิษทางอากาศ, มลพิษทางอากาศในร่ม, มลพิษทางน้ำ อยู่ในระดับสูง
- มีจำนวนของประชากรที่เป็นโรคติดเชื้อในสัดส่วนที่สูง
- มีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง
คำถามคือ ประเทศไทยของเราอยู่ในสภาวะหรือมีลักษณะอย่างนั้นหรือ?
คำตอบคือ ไม่
ส่วนคุณลักษณะของประเทศกำลังพัฒนาที่ไทยยังมีอยู่ ได้แก่
- มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางจราจรบนถนนสูง
- มีการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล
…………………………………….………………………
ถ้าให้อธิบายการแบ่งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา แบบง่ายๆ ตามความหมายเดิมนั้น คือเป็นการแบ่งตามรายได้ของประชากรในประเทศเป็นหลัก
แต่ในปัจจุบันเขาดูถึงค่าเฉลี่ยของมาตรฐานการดำรงชีวิตและสภาพความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประกอบด้วย
โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ให้คำจำกัดความกับประเทศพัฒนาแล้วว่า “ประเทศพัฒนาแล้ว คือ ประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนทุกคนให้มีอิสระเสรีและมีสุขอนามัยดี อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ถ้ายึดตามคำนิยามนี้ ไทยเราก็อาจจะอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ
สรุปว่า ไทยเราหลุดพ้นความเป็นประเทศด้อยพัฒนามาหลายสิบปีแล้ว และปัจจุบันเราหลุดพ้นความเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว
แบบนี้คุณคนไทยยังไม่ภูมิใจในความเป็นชาติไทยอีกหรือ
นอกจากนี้ หนึ่งในความสำเร็จนี้มาจากแรงสนับสนุนที่สำคัญจากโครงการในพระราชดำริ 4 พันกว่าโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับการสืบสานต่อยอดมาถึงในรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบันอีกด้วย
…………………………………….………………………