โดย…. ต.ตุลยากร
นับตั้งแต่ แกนนำพรรคอนาคตใหม่ (ธนาธร-ปิยบุตร) ได้ประกาศสืบสานภารกิจ 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ความสนใจของสาธารณะชนก็เริ่มมากลับมาค้นหาความเป็นคณะราษฎรอีกครั้ง ยอดผู้เข้าชมหน้า ‘การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475’ ของวิกิพีเดีย ในวันที่ 24 มิ.ย.2563 พุ่งสูงกว่าวันที่ 24 มิ.ย.ปีที่ผ่านๆมาอย่างมีนัยสำคัญ
กลุ่มขบวนการเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นักเรียนเลว เป็นต้น ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งต่อมา เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำได้เปิดเผยว่า ทางกลุ่มมีแนวทางในการสานต่อภารกิจ-อุดมการณ์ 2475
คำถามคือ อุดมการณ์ 2475 นี้หมายถึง อุดมการณ์ของคณะราษฎรกลุ่มไหน?
เนื่องจากปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อการของคณะราษฎร ได้กล่าวถึงความแตกแยกของคณะราษฎร ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
• กลุ่มทรรศนะถอยหลังต้องการปกครองแบบเผด็จการ
• กลุ่มทรรศนะคงที่พอใจแค่ได้ล้มระบอบสมบูรณาฯ ส่วน
• กลุ่มทรรศนะก้าวหน้าคือกลุ่มที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นถึงที่สุด
คำว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ปรีดีได้ให้ความกระจ่างในการปาฐกถาเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร” โดยอ้างถึงแนวคิดของ บาเบิฟ (Babeuf) ที่ว่า “ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ก็ต้องให้ปวงชนมีความเสมอภาคในการปฏิบัติ ในการนั้นก็จักต้องให้ปัจจัยการผลิดทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม”
ซึ่งความดังกล่าวนี้ ตรงกันกับคำชี้แจงของเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยปรีดีระบุว่า “การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง”
หากจะพิจารณาจากบริบทหลังเลือกตั้ง ปี 2566 เมื่อทราบผลเลือกตั้ง ช่อ-พรรณิการ์ หนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้า (แปรสภาพมาจากพรรคอนาคตใหม่) ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ โทรหาปรีดี ก็คงพออนุมานได้ว่า การสานต่ออุดมการณ์ 2475 ก็คือ การสานต่ออุดมการณ์ของคณะราษฎรกลุ่มปรีดี พนมยงค์นั่นเอง
แต่จะใช่อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยหรือไม่นั้น คงต้องหาคำตอบกัน เนื่องจากเค้าโครงเศรษฐกิจที่ปรีดีได้นำเสนอต่อสภาฯ ในวันที่ 10 มี.ค. 2476 นั้น มีการต่อต้านอย่างหนัก
ปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ในวันที่ 1 เม.ย. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และต่อมา วันที่ 2 เม.ย. ได้มีการออกพระราชบัญญัติการว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ปรีดี ถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ในวันที่ 12 เม.ย.
หลังจากนั้น ในเดือน มิ.ย.รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯถูกรัฐประหาร โดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ปรีดีจึงได้เดินทางกลับสยามใน วันที่ 29 ก.ย. และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม ปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
โดยประเด็นการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ปรีดี ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “สเตรตไทย” ขณะอยู่ต่างประเทศ ว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิเสธ ในข้อที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ ข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงโซเซียลลิสต์ต่างหาก”
ประเด็นนี้สอดรับกับ บันทึกประวัติส่วนตัวของราศรี (พูน ศรีดันรัตน์/บุคคลที่พรรคคอมมิวนิสต์สยามส่งไปศึกษาที่มอสโค) ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า
“…และยังมีพี่ชายอยู่อีกคนหนึ่ง เปน Shauffeur ของห้างห้างหนึ่งในกรุงเทพฯ พี่คนนี้เป็นสมาชิกคณะโซเชียลลิสต์สยาม หลังจากที่หัวหน้าของคณะนี้ พยายามใช้โครงการเศรษฐกิจของตนไม่สำเร็จ มันได้กลับใจไปเข้ากับพวกเศรษฐี รับหน้าที่เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วมันก็จัดตั้งให้พี่ชายข้าพเจ้าและสมาชิกคนอื่นๆซึ่งเป็นลูกน้องของมันให้เป็นสายลับ”
ประเด็นว่า ปรีดี จัดตั้งองค์กรลับ คงต้องเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไปว่า มีการจัดตั้งจริงหรือไม่? ถ้าจริง ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คณะโซเชียลลิสต์สยาม กับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.-ต่อมาแปรสภาพเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) นั้นเป็นคนละพวกกัน โดยที่ พคส.เอง ก็มีจุดยืนในการต่อต้านคณะราษฎร
ในส่วน เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีนั้น เชาวน์ พงษ์พิชิต นักทฤษฎีมาร์กซิสต์อาวุโสของ พคท. ได้บันทึกไว้ในหนังสือประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า
“…จริงๆแล้วร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีฯ เป็นแต่เพียงบาทแรกของการย่างก้าวเข้าสู่กระแสสังคมนิยมเบื้องต้นเท่านั้น จะต้องพัฒนาก้าวหน้าไปอีกยาวนานแล้วยาวนานกว่าจะถึงซึ่งสังคมคอมมิวนิสต์ อันเป็นพัฒนาการสูงสุดของยุคสังคมนิยม ตามกฏแห่งวิวัฒนาการสังคม”
จริงๆแล้ว โซเชียลลิสต์ (สังคมนิยม) กับ คอมมิวนิสต์ ล้วนมีต้นกำเนิดจากคาร์ล มาร์กซ์ ทั้งสิ้น โดยสุรพงษ์ ชัยนาม ได้กล่าวได้ในหนังสือมาร์กซ์และสังคมนิยมว่า “โดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็ตาม ต่างก็เป็นมาร์กซิสต์กันทั้งนั้น”
หากจะอธิบายแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ โดยละเอียด ณ ที่นี้คงจะยาว แนะนำให้ผู้ที่สนใจเริ่มต้นศึกษา ให้เริ่มอ่านจากหนังสือสองเล่ม
เล่มแรก คือ “มาร์กซ์และสังคมนิยม” โดยสุรพงษ์ ชัยนาม อาจจะอ่านยากสักหน่อยสำหรับผู้เริ่มต้น แนะนำให้อ่าน “ความเป็นอนิจจังของสังคม” โดยปรีดี พนมยงค์ เพิ่มเติม เล่มนี้อ่านเข้าใจง่าย แต่ต้องอ่านเล่มแรกก่อน ถึงจะเข้าใจว่าสิ่งที่ปรีดีเอ่ยถึง
ก็คือการอธิบายแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ เนื่องจากปรีดีหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อคาร์ล มาร์กซ์ แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “นักปราชญ์ที่เป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมสมัยใหม่” แทน
ในความหมายของคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันหมายถึง พวกที่เชื่อในลัทธิมาร์กซ์ที่ได้รับการพัฒนาแนวความคิดจากเลนินรวมทั้งเหมา ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นได้รับการสนับสนุนจากจีนยึดถือแนวทางของเหมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน
นั่นจึงสาเหตุที่ปรีดีบอกว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะปรีดีนั้นไม่ใช่สมาชิกของ พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เป็นแต่เพียงโซเชียลลิสต์(สังคมนิยม) หรือมาร์กซิสต์เท่านั้นเอง
คำว่า “ประชาธิปไตย” อันโตนิโอ กรัมชี่ ผู้นำแนวคิดของขบวนการซ้ายใหม่ได้เคยกล่าวไว้ว่า คำว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นคำกลาง ไม่มีชนชั้นใดผูกขาดได้
ส่วนปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวในปาฐกถาหัวข้อ “จะมีทางได้ประชาธิปไตยวิธีสันติหรือไม่” ว่า “ประชาธิปไตยนั้น มีมากมายหลายชนิด อาทิ ประชาธิปไตยแบบใหม่หรือแบบในค่ายสังคมนิยม”
การทำความเข้าแนวคิดเหล่านี้อย่างถ่องแท้ จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการซ้ายใหม่ (Neo-Marxism) ซึ่งใช้คำว่าประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการ อำพรางความเป็นมาร์กซิสต์และแนวคิดสังคมคอมมิวนิสต์ (ยูโทเปีย) ของตน เพื่อหลอกลวงคนให้เข้าร่วมอุดมการณ์
ซึ่งหากสำเร็จ เราก็จะกลายเป็นประเทศสังคมนิยมที่ถูกปกครองด้วยเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ คนที่เห็นต่างก็จะกลายเป็นซากทรรศนะของระบอบเก่าที่ต้องถูกกำจัดปราบปราม
หากยังปราบปรามซากทรรศนะเก่าไม่สิ้นซาก สังคมก็จะยังติดอยู่ในขั้นสังคมนิยมซึ่งยังต้องมีเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพปกครอง ยังไม่สามารถนำพารัฐชาติเข้าสู่สังคมในอุดมการณ์(สังคมคอมมิวนิสต์หรือยูโทเปีย)ได้ และคงไม่แคล้วซ้ำรอยประเทศสังคมนิยมที่ผ่านๆมา ซึ่งเป็นเพียงการชิงอำนาจรัฐมาอยู่ในมือกลุ่มคนเล็กๆของตนเท่านั้นเอง
จริงๆแล้วคนที่เข้าร่วมขบวนการซ้ายใหม่ในปัจจุบันนั้น หลายคนก็ไม่ได้เชื่อถือศรัทธาในแนวคิดมาร์กซิสต์ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาร์กซิสต์คืออะไร แต่ที่เข้าร่วมขบวนการก็เพราะเชื่อว่ากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขากำลังถูกหลอกให้ต่อสู้เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย แทนที่เขาจะได้ต่อสู้เพื่อเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างที่พวกเขาต้องการ
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า อุดมการณ์ 2475 ไม่ได้มีแค่เสรีประชาธิปไตยอย่างที่เราเข้าใจกัน”