เลิกเรียนพุทธศาสนา เพิ่มวิชาธุรกิจ-การลงทุน จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริงหรือ ?
ผลสำรวจเด็กไทยวิชาที่อยากให้มีที่สุด คือ
การเงิน การลงทุน (39.7%)
โดยอยากให้ยกเลิกวิชาพุทธศาสนา (11.34%)
คำถามของผมคือ ความอยากเรียนวิชาการลงทุนนี้ เด็กๆ เล็กๆ คิดเองหรือมีพรรคการเมือง นักการเมือง ครูอาจารย์ ยุยง ปลุกปั่น สร้างให้เกิดกระแสนี้
พรรคการเมือง นักการเมือง ครูอาจารย์ ฝ่ายที่อ้างเรื่องการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิรูปการศึกษา ทั้งที่ความจริงต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่
แต่ไปอ้างเรื่องอื่นๆ เพื่อดึงคะแนนนิยมจากมวลชนให้คล้อยตามแนวคิดของฝ่ายตน จะได้มวลชนทั้งเด็กและผู้ปกครอง และผู้คนในสังคมมาเป็นแนวร่วมสนับสนุนสิ่งที่ใหญ่โตกว่านั้น ซึ่งนั่นก็คือความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คนกลุ่มนี้เรียกร้อง “ความเท่าเทียม” และต่อต้าน “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
วิชาการเงิน การลงทุน เป็นวิชาในระบบทุนนิยม ที่สร้างความฟุ้งเฟ้อจนทำให้เศรษฐกิจไปกระจุกตัวอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และทำให้ผู้คนมักเสพแต่ความสะดวกสบาย
วิชาการเงิน การลงทุน นี่เองที่เป็นวิชาในระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ในขณะที่วิชาพุทธศาสนา เป็นวิชาที่จะช่วยลดทอนทุกขเวทนาต่างๆ อันอาจเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ
คนไทยนับถือศาสนาแต่เพียงเปลือกนอก โดยไม่เคยศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนาจึงไม่เคยเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนอะไร ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าวิชาพุทธศาสนาไม่ตอบโจทย์ชีวิตในยุคดิจิตอล
ความจริงวิชาพุทธศาสนา ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมกับวิชาอื่นๆ รวมทั้งช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในการประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
เพราะความมั่งคั่งทางด้านการเงินหรือเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้มนุษย์มีความสุขจริง คนรวยไม่ได้จะมีความสุขเสมอไป แต่คนมีเงินน้อยกว่าสามารถมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่าได้ ถ้าเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิชาที่ทำให้เข้าใจธรรมชาติของโลกมนุษย์
วิชาพุทธศาสนาสอนให้ผู้คนในสังคมเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในทางวัตถุที่มุ่งเพียงกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว โดยการเสริมวิชาที่ว่าด้วยเรื่องความพอดี พออยู่พอกิน พอเพียง การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันและกัน เพื่อเลี้ยงชีพให้อยู่ได้อย่างผาสุก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ภายใต้ระบบสังคมทุนนิยม
มิใช่ศึกษาวิชาพุทธศาสนาแล้วไม่ทำมาหากินหรือไม่พัฒนาการประกอบอาชีพ แต่ศึกษาวิชาพุทธศาสนาเพื่อนำมาปรับใช้กับการประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจอย่างไรให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
เฌอปราง อารีย์กุล ศิลปินนักร้องผู้มีชื่อเสียง ที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการเรียนและอาชีพศิลปิน กล่าวไว้ได้อย่างสนใจว่า
“สุดท้ายเรื่องร้ายๆ มันก็จะผ่านไป
เพราะทุกอย่างในชีวิตเป็นแค่เรื่องชั่วคราว”
คนที่เรียนวิชาการเงิน การลงทุน อาจประสบความสำเร็จในชีวิต ร่ำรวย รุ่งเรือง แต่พวกเขาอาจไม่ได้มีความสุขเสมอไป พวกเขาเหล่านั้นยังคงมีความทุกข์แสนสาหัส แต่คนอื่นๆ ไม่ทราบเพราะพวกเขาไม่ได้เปิดเผยชีวิตด้านทุกข์ออกมา
แต่วิชาพุทธศาสนาจะช่วยคลายทุกข์ ด้วยการเข้าใจความเป็นธรรมชาติของโลกมนุษย์ว่า
“สุดท้ายเรื่องร้ายๆ มันก็จะผ่านไป
เพราะทุกอย่างในชีวิตเป็นแค่เรื่องชั่วคราว”
นี่คือความเข้าใจในธรรมชาติของโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาพุทธศาสนาที่ศึกษาความเป็นธรรมชาติของโลกมนุษย์
ที่ช่วยให้ชีวิตคนที่ศึกษาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ การเงิน การลงทุน ฯลฯ
ให้มีชีวิตที่ไม่ทุกข์จนเกินไป โดยช่วยลดทอนทุกขเวทนาต่างๆ อันอาจเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ สร้างความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างแท้จริง
อัษฎางค์ ยมนาค