รัฐบาลใช้ความหวาดกลัวและน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครองหรือไม่ ?
หรือว่านี่คือการใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครองของรองนายกฯ ภูมิธรรม ซึ่งออกมาสร้างกระแสว่า…
”ถ้าปี 2567 รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินโครงการกระตุ้น
เศรษฐกิจ ได้อย่างที่ตั้งใจ วิกฤติแบบต้มยำกุ้งปี 40 จะกลับมา อีกไม่นานเกินรอ“
มาย้อนดูกันว่า วิกฤติแบบต้มยำกุ้งปี 40 หน้าตาเป็นอย่างไร
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง คือวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย เมื่อปึพ.ศ. 2540
โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียจนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด
วิกฤตเริ่มปะทุขึ้นเมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจการเงินไทยในขณะนั้น
กล่าวคือ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต เงินทุนเอกชนไหลเข้ามาอย่างมากจากการลงทุนโดยการกู้ยืมของเอกชนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ประเทศไทยดำเนินอัตราแลกเปลี่ยนแบบค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินในขณะนั้น แม้นโยบายจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน ทว่ากลับทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ยืมต่างก็ประเมินความเสี่ยงจากการเปิดรับเงินตราต่างประเทศที่ต่ำเกินไป
ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างตราสารทางการเงินและปริมาณเงินต่างประเทศในงบการเงินของภาคเอกชน
โดยมีการยืมเงินตราต่างประเทศประเภทระยะสั้น แต่มาให้สินเชื่อประเภทระยะยาวกับโครงการก่อสร้างภายในประเทศ ความไม่สมดุลเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจจากการไหลออกของเงินทุนมากขึ้น
สาเหตุของวิกฤต
1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง
2. ปัญหาหนี้ต่างประเทศ
3. การลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
4. ความไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
5. การโจมตีค่าเงินบาท
คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สรุปว่า วิกฤตดังกล่าวเกิดจากการก่อหนี้ของเอกชน แต่การดำเนินการของภาครัฐที่ผิดพลาดทำให้วิกฤตบานปลาย
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเปิดตลาดเงิน พร้อมกับรักษาช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่แคบมาก ปล่อยให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศปริมาณมากเกินควบคุม
ธปท.ปกป้องค่าเงินบาท โดยการทุ่มเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างขาดความรอบคอบ
วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมากอันเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะ และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น
อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ฮ่องกง มาเลเซีย ลาวและฟิลิปปินส์ก็เผชิญกับปัญหาค่าเงินทรุดเช่นกัน สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ บรูไนและเวียดนามได้รับผลกระทบน้อยกว่า
สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นจาก 100% เป็น 167% ในสี่ประเทศใหญ่อาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2536 – 2538 ก่อนจะขึ้นไปสูงถึง 180% ในช่วงที่วิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุด
สรุป
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤตการณ์การเงินในระดับภูมิภาค ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย
คำถามคือ ตอนนี้มีสถานการณ์อะไรที่ส่อแววว่าจะเกิดวิกฤตการณ์การเงินในระดับภูมิภาคหรือไม่ ?
คำถามต่อมาคือ ตอนนี้ไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง มีปัญหาหนี้ต่างประเทศ มีการลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีความไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน และที่สำคัญมีการโจมตีค่าเงินบาท หรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่มีเลย
ในเมื่อไม่มีสถานการณ์อะไรที่ส่อแววว่าจะเกิดวิกฤตการณ์การเงินในระดับภูมิภาคเลย ทำไม รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย จึงสร้างวาทกรรมและภาพอันน่าสะพรึงกลัว ว่า….
“ถ้าปี 2567 รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินโครงการกระตุ้น
เศรษฐกิจ ได้อย่างที่ตั้งใจ วิกฤติแบบต้มยำกุ้งปี 40 จะกลับมา อีกไม่นานเกินรอ”
แนวคิดหนึ่งของนักสังคมวิทยา คือ แนวคิดและทฤษฎี
เรื่องการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นประโยชน์ของผู้ปกครอง
ความหวาดกลัวและน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ในการปกครอง ใช่หรือไม่
รัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี จึงงัดเครื่องมือหากิน ที่เรียกว่า การสร้างความกลัว มาใช้เพื่อผลประโยชน์ในการปกครอง
อัษฎางค์ ยมนาค