คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
“ก้าวไกลอ้างใช้สิทธิเสรีภาพ ล้มล้างการปกครอง”
•1 ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) และส.ส. สังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 (สส.ก้าวไกลทั้งหมด) จำนวน 44 คน เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 2566
ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้ง 2 (พิธาและพรรคก้าวไกล) มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา
โดยมีกรรมการบริหารพรรค และส.ส. สมาชิกพรรค เป็นผู้ต้องหาหรือนายประกันผู้ต้องหาในความผิดในกฎหมาย มาตรา 112 และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง
•2 ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) กับพวกได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
•3 การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีระเบียบ เรียบร้อย ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน และเป็นธรรม
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือ รัฐสภา เป็นองค์กรหลักในการใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
“บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้บังคับไม่ได้”
ไม่ได้เป็นอย่างที่ธนาธรก็อปปี้คำพูดจากนิยายเอามาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “กฎหมายไม่ใช่แฟกซ์จากพระเจ้า ที่จะแก้ไขไม่ได้”
ศาลท่านวินิจฉัยชัดเจนว่า “กฎหมายใดๆ ก็สามารถแก้ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
•4 แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ เป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้
ดังนั้น การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (ในที่นี้หมายถึงพรรคก้าวไกล) จึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
•5 รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ส่วนคำว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐ ว่าประเทศนั้นปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์
โดยหลักการมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการหรือคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
สรุปสั้นๆ ได้ว่า “มาตรา 49 บัญญัติว่า การใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทำไม่ได้”
•6 กฎหมายมาตรา 49 ใช้คุ้มครอง ปกป้องการสั่นคลอนระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยใช้สิทธิเสรีภาพ ทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้
•7 พระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้
ซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ อยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๒ พระมหากษัตริย์
มาตรา ๖ บัญญัติว่า
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย สถาบันพระมหากษัตริย์”
ดังนั้น การรณรงค์หาเสียงของพรรคก้าวไกลและกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 เป็นความพยายามสั่นคลอน บั่นทอนและบ่อนทำลาย ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
•8 การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัด พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (สส.พรรคก้าวไกล) รวม 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา… แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจากเดิม
ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิด
-อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัฐ
-ความผิดที่เกี่ยวกับเป็นการกระทำที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
-ความผิดที่เป็นการกระทำต่อสาธารณชน
-ความผิดที่กระทบต่อสังคมและบุคคล
-ความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล
โดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเกียรติยศประมุขของรัฐ
ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมี การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ ประเทศไทย หรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ
•9 ดังนั้น การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธาและพรรคก้าวไกล) เสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิดในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป
นั้นมุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ
•10 การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา
เพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีบทบัญญัติ เหตุยกเว้นความผิดหรือ ยกเว้นโทษไว้ ในทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และมาตรา 330
•11 การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) กับพวกเสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ โดยผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด
และถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ย่อมทำให้ “ผู้กระทำความผิดใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิด” และ “เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง” เป็นข้อต่อสู้ และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดี เช่นเดียวกับการที่ผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปลุกขึ้นต่อสู้ ทั้งที่ลักษณะของการกระทำความผิด มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา
ซึ่งการพิจารณาของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยาน ตามข้ออ้าง ข้อเถียงข้อต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดีการพิสูจน์เหตุดังกล่าวจำต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ย่อมทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ
•12 ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา)กับพวกเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งจะกลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะความคุ้มครอง ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรงและให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6
•13 ส่งผลให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชน
ทั้งที่ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ ประเทศไทย หรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ
•14 พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล)ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉบับที่พ.ศ…แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสอง ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง
โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติ “เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น” โดยใช้วิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา
นอกจากนั้นผู้ถูกร้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าว ให้กับประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าสาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น
พระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง
โดยไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกลบล้างไป
ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง”
•15 การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง
มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง
อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งมีหลักสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง
สรุปสั้นได้ว่า ในการรณรงค์ทางการเมืองนั้นพรรคก้าวไกลได้ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาสู่การเมือง ทำให้เกิดเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน จนทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ พลอยถูกโจมตี ติเตียน ทั้งที่สถาบันฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย
•16 การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
•17 รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงใช้บังคับกับพรรคการเมืองซึ่งเป็นนิติบุคคลได้
พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ ปลุกเร้า และยุยง ปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุน ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเป็นนายประกันเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112
รวมทั้งสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายราย
พฤติการณ์ที่แสดงออก หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
•18 การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำจะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดจึงจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีได้ พูดถูกร้องทั้งสองจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความเห็นต่างหรือเป็นคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มีข้อห้ามมีให้ใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพ หากเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
•19 ระบอบประชาธิปไตยอันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดๆที่เป็นการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะ เป็นการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
•20 คำว่าสิทธิหมายถึงอำนาจที่รับรองและให้การคุ้มครองมิให้บุคคลใดลุกล้ำหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตน นั่นถือเป็นการล่วงละเมิดของสิทธิของผู้อื่น
ส่วนคำว่าเสรีภาพหมายถึง เป็นสภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระในการกำหนดว่าตนเองจะกระทำการอันใด แต่ทั้งนี้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบ เรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย
ดังนั้น การใช้สิทธิเสรีภาพ
(1) ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ
(2) ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
(3) ต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
•21 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความคิดเห็นเพื่อการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
•22 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 (พิธาและพรรคก้าวไกล) จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
•23 อาศัยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
•24 ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่าการวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 50,000 บาท