งานวิจัยเกี่ยวกับการโกหกและคนที่ชอบโกหก
“คนที่โกหกบ่อยๆ อาจเป็นคนมีปัญหาทางจิตหรือเกิดอาการเสพติด”
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ลาครอส (University of Wisconsin-La Crosse) และมหาวิทยาลัยอลาบามาที่เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) ทำร่วมกันและตีพิมพ์ในวารสาร Communication Monographs ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้โกหกมากนัก โดยมีราว 75% ที่ไม่พูดปดเลยหรืออย่างมากก็หลอกลวงคนอื่นไม่เกิน 2 ครั้งต่อวันเท่านั้น
แต่ก็มีคนจำนวนน้อยที่เราแทบไม่สามารถเชื่ออะไรที่คนเหล่านี้พูดได้เลย เพราะเฉลี่ยแล้วอาจโกหกมากถึง 17 ครั้งต่อวัน แต่กลุ่มหลังนี้มีแค่เพียง 1% ของคนทั้งหมดเท่านั้น
ข้อสรุปที่พบคือ การโกหกส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องและที่พบบ่อยก็เป็นการโกหกจำพวก ‘white lies’ คือ หลอกให้ดีใจ เช่น บอกว่าชอบของขวัญที่ได้รับมาก แม้ว่าความจริงคือไม่ชอบเลยก็ตาม
ที่น่าสนใจคือ พวกที่โกหกเป็นไฟมีความผันแปรของจำนวนครั้งการโกหกต่อวันมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่ม 1% ที่เป็นคนขี้ปดที่สุด ทำสถิติโกหกไว้ที่ราว 17 ครั้งต่อวัน ตรงกันข้ามกับพวกที่ทำตัวราวกับเป็นนักบวชคือ พวก 1% ที่โกหกน้อยสุด ความผันแปรรายวันก็น้อยมากตามไปด้วย
คราวนี้ลองมาดูสาเหตุที่คนโกหกกันครับ มีเหตุผลแตกต่างกันไปหลากหลายมาก แต่ค่าสูงสุด 2 อันดับคือ โกหกเพื่อหลบหลีกให้ไม่ต้องเจอกับบางคน (21%) และเป็นการล้อหรืออำกันเล่น (20%) ตามด้วยการโกหกเพื่อปกป้องตัวเอง (14%) เพื่อสร้างภาพหรือทำให้อีกฝ่ายประทับใจ (13%) และเพื่อป้องกันคนอื่นด้วยเหตุผลบางอย่าง (11%) จากนั้นจึงตามด้วยการโกหกเพื่อเหตุผลในทางลบ เช่น หาประโยชน์บางอย่างใส่ตัว (9%) หาประโยชน์ให้พรรคพวกคนอื่นๆ (5%) หรือเพื่อทำร้ายจิตใจกัน (2%) ส่วนที่เหลือ (5%) ก็เป็นเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่จำเพาะเจาจงนัก ไปจนถึงไม่มีเหตุผลอะไร โกหกเพราะอยากโกหกแค่นั้น!
ข้อสรุปที่น่าจะช็อกคนจำนวนมากก็คือ การโกหกส่วนใหญ่เป็นการทำต่อหน้า (79%) ที่เหลือจึงเป็นการโกหกผ่านตัวกลางหรือวิธีการอื่น ไม่ต้องมาเผชิญหน้ากันโดยตรง
มีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่า คนส่วนใหญ่ถูกจับโกหกได้ราว 42% ผ่านการรับฟังและสังเกตสังกา
วิธีการจับโกหกอาจทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือการให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเรื่องแบบย้อนหลัง แทนที่จะเล่าแบบเส้นตรงตามไทม์ไลน์ โดยจะเพิ่มความถูกต้องในการจับผิดมากขึ้นเป็น 60%
เรื่องต่อไปคือหาทางบีบบังคับให้คนผู้นั้นต้องสบสายตาขณะพูด การจ้องตาจะดึงดูดความสนใจและทำให้การแต่งเรื่องเพื่อหลอกยากมากขึ้น และอีกทริกหนึ่งคือแทนที่จะให้ตอบคำถาม ให้ผู้ต้องสงสัยวาดรูปแทนคำตอบ คนที่โกหกมักจะวาดภาพออกมาเป็นแบบคร่าวๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด หากเทียบกับคนที่พูดความจริงที่ใส่รายละเอียดมากกว่า
คราวนี้มาถึงคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ทำไมนักการเมืองบางคนถึงติดใจการโกหกผู้คนมาก?
การโกหกแล้วรอดตัวไปได้ทำให้เกิดอาการเสพติดได้ครับ ทุกครั้งที่โกหกแล้วไม่มีใครจับได้ ร่างกายจะหลั่งโดพามีน (dopamine) แบบเดียวกับที่เกิดกับเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน หรือเสพยาเสพติด ผลที่ตามมาคือต้องโกหกมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีความสุขเท่าเดิม แบบเดียวกับคนติดสารเสพติดที่ต้องใช้โดสที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่าคนทั่วไปมักจะยอมรับการโกหกได้มากกว่าอาชญากรรมอื่นๆ อีกหลายแบบ ยิ่งเห็นคนอื่นทำตัวไม่เดือดไม่ร้อนและยอมรับได้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ จนนักการเมืองจำนวนมากนำมาใช้ประโยชน์
ความเป็นไปได้อีกอย่างคือ คนที่โกหกบ่อยๆ อาจเป็นคนมีปัญหาทางจิต เนื่องจากวงจรการให้รางวัลในสมองผิดปกติไป จึงทำให้ไม่เกิดความอึดอัดใจที่จะโกหก แต่ในทางกลับกัน ยิ่งโกหกก็ยิ่งติดใจ
อัษฎางค์ ยมนาค นำเสนอจากข้อมูลของ The 101.word
#บ้านเก่าคุณยาย #พิธา #ทำไมคนชอบพูดโกหก