สนทนาประสาพ่อลูก
”ลูกอยากโดนห้ามทำนู่นนี่บ้าง โดยไม่รู้ว่าพ่อห้ามมาตลอด“
อิง: พ่อแม่เลี้ยงอิง”แบบฮิปปี้“มาก
พ่อ: ฮิปปี้ ยังไงลูก
อิง: พ่อแม่ไม่เคยห้ามเลยทุกครั้งที่อิงจะทำอะไร
พ่อ: แล้วมันดีหรือไม่ดียังไงมั่ง
อิง: มันก็ดีครับ แต่บางครั้งอิงก็อยากให้บังคับอิงบ้าง ไม่ใช่อิงต้องการทำอะไรก็ไม่เคยค้าน ไม่เคยห้ามเลย
พ่อ: อ้าว…แล้วกัน อยากโดนบังคับซะอย่างนั้น เคยได้ยินแต่เด็กๆ บ่นว่าถูกพ่อแม่บังคับให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้
ตอนเด็กๆ พ่อก็โดนบังคับให้ทำนู่นห้ามทำนี่เหมือนกัน ถึงเลี้ยงลูกโดยให้อิสระมาก แต่เด็กที่ไม่โดนบังคับเลยกลับรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป ขาดการถูกบังคับ
โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิดจริงๆ เพราะเรื่องหนึ่งอาจเหมาะกับสิ่งหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง คนที่มีอย่างหนึ่ง ก็อยากได้สิ่งที่ไม่มี คนที่ถูกตีกรอบ ก็อยากออกนอกกรอบ
คนที่ไม่ถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ กลับอยากอยู่ในกรอบ
คนไทยเห็นวิถีชีวิตของฝรั่งก็อยากมีชีวิตแบบฝรั่ง เพราะเข้าใจว่าฝรั่งอยากทำอะไรก็ทำ เป็นพวกนอกกรอบ ตัวใครตัวมันไม่ต้องมีภาระกับครอบครัว เป็นตัวของตัวเอง
แต่ฝรั่งมาเมืองไทยกลับบอกว่าอยากมีชีวิตแบบคนไทย มีระบบซีเนียร์จูเนียร์ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ทั้งประเทศเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีกันและกัน อบอุ่น เป็นกันเอง สบายๆ อะไรก็ได้ ไม่มีกรอบ
นี่แหละหนามนุษย์
”ลูกอยากโดนห้ามทำนู่นนี่บ้าง โดยไม่รู้ว่าพ่อห้ามมาตลอด“
ต้นเรื่องที่ทำให้เกิดบทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนนู้น คือ น้องอิงเรียนมหา’ลัยมา 3 ปีแล้ว แต่เพิ่งมารู้สึกว่าตัวเองเลือกเรียนผิด
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่ามนุษย์เราอาจมีบางช่วงเวลาที่สับสนในตัวเอง อยากได้สิ่งที่ไม่มี อยากทำสิ่งที่ไม่ได้ทำ คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เป็นทุกข์หรือไม่สนุก สิ่งที่มีอยู่ไม่ได้เป็นคำตอบของชีวิต
แต่ถ้าให้โอกาสเขาได้คิดทบทวนดีๆ ให้เขาคุยกับตัวเอง เขาจะพบว่า สิ่งที่ดีที่สุดหรือเหมาะที่สุดของเราอยู่ที่ใจเรา ใจเราสุขเราก็สุข ที่ไม่สุขหรือทุกข์ หรือความพอใจไม่พอใจ มันเกิดที่ใจเราเองทั้งนั้น
พอมาบ่นว่า เรียนมหา‘ลัยมา 3 ปีแล้วแต่เพิ่งรู้สึกว่าตัวเองเลือกเรียนผิด“
พ่อก็บอกว่า ”ถ้ามันไม่ใช่และคิดว่าอยากเปลี่ยน ก็เปลี่ยนได้เลย ชีวิตเป็นของเรา เลือกที่เราอยากให้เป็น“
”สุดท้ายน้องอิงก็คิดเองว่าไม่เปลี่ยน จะเรียนให้จบ และกำลัง
จะเรียนจบด้วยปริญญาเกียรตินิยม”
สำหรับไอเดียเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าตอนนั้นผมพูดเชิงบังคับว่า “อย่า” อย่าเปลี่ยน อย่าย้าย อย่าทำแบบนั้นแบบนี้ ลูกก็ต้องต่อต้าน และก็จะมีเรื่องต่อต้านไปหมด แต่พอเราปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง เขากลับคิดได้เอง ว่าอยากทำอะไรแบบไหน อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ อะไรถูกอะไรผิด และไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องต่อต้านกัน
สอนให้เด็กคิดเป็น จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเขาได้เอง
เด็กที่ถูกตามใจจะกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งเกิดจากตามใจในสิ่งที่ผิด ซึ่งต่างจากการให้เขาเลือกตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองด้วยการฝึกให้เขารู้จักคิดได้ด้วยตัวเองก่อน
ถ้าเราสอนให้เขารู้จักคิด จนเขาคิดเองเป็น เขาจะรู้ได้เองว่า ต้องทำอะไร และไม่ทำอะไร
ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เวลาน้องอิงถามอะไร ผมจะไม่ตอบคำถามทันที แต่จะถามกลับ เพื่อให้เขาคิดว่า คำถามที่เขาถามนั้น เขาจะตอบว่ายังไง มันทำให้เขาได้ฝึกคิดเอง แล้วสุดท้ายเขาจะเถียงเราหรือต่อต้านเราไม่ได้ เพราะทั้งหมดนั้น เขาคิดเอง ตัดสินใจเองทั้งนั้น
ผมทำแค่ว่า ประคับประคอง ให้อยู่ในลู่ในทางที่ถูกต้องเท่านั้น
สิ่งที่ลูกอาจไม่รู้คือ พ่อเลี้ยงลูกแบบบังคับและกำหนดเส้นทางชีวิตของลูก ด้วยการไม่บังคับ ไม่กำหนด
บังคับ โดยไม่บังคับ
กำหนด โดยไม่กำหนด
ชี้นำ โดยไม่ชี้นำ
ห้าม โดยไม่ห้ามการบังคับยังไงให้ไม่รู้ตัวว่าถูกบังคับ
กำหนดเส้นทางชีวิตให้ลูกยังไง โดยไม่ให้ลูกรู้ว่าถูกกำหนดไปแล้วคำตอบคือ สอนให้เขาคิดเป็น ให้เขาคิดตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
เมื่อถึงวันที่ลูกแยกบ้านแยกครอบครัว หรือไม่มีพ่อแม่อยู่แล้ว เขาก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่าจะทำอะไรไม่ทำอะไร โดยไม่ต้องคอยให้พ่อแม่บอกว่าต้องทำอะไร ห้ามทำอะไร
”ลูกอยากโดนห้ามทำนู่นนี่บ้าง โดยไม่รู้ว่าพ่อห้ามมาตลอด“
พ่อเอ็ด ลูกอิง
ภาพ: กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้