เหตุการณ์วันสวรรคตของรัชกาลที่ ๗ พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพ
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ในระหว่างที่รถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯกำลังวิ่งไปตามถนน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลอยเด่นอยู่ตรงหน้ารถพระที่นั่ง คล้ายกับเป็นลางสังหรณ์ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โบกให้รถพระที่นั่งหยุดและทูลรายงานว่าในหลวงรัชกาลที่ ๗ สวรรคตแล้ว
ซึ่งต่อมาภายหลัง นางพยาบาลเล่าว่าหลังจากเสวยเช้าแล้วก็ทรงหนังสือพิมพ์ สักพักก็ทรงบ่นว่าวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับ มาก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้างๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนหลับสบาย เมื่อจับชีพจรแล้วจึงได้รู้ว่า “สวรรคต” เสียแล้ว
………………………………………………………………….
หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ในหลวงรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรป
พร้อมทั้งเสด็จประทับที่ประเทศอังกฤษ เพื่อทรงเข้ารับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ในระหว่างนี้พระองค์ยังทรงติดต่อราชการกับรัฐบาลผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งยังคงปรากฏข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติกันได้
พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ (นับศักราชแบบเก่า) รวมดำรงสิริราชสมบัติ ๙ ปี ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
หลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม คือ “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และไม่ทรงตั้งรัชทายาทเพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง
หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่อง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ไม่ทรงแข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา
จนกระทั่งวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ ๔๗ พรรษา
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ในระหว่างที่รถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯกำลังวิ่งไปตามถนน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลอยเด่นอยู่ตรงหน้ารถพระที่นั่ง คล้ายกับเป็นลางสังหรณ์ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โบกให้รถพระที่นั่งหยุดและทูลรายงานว่าในหลวงรัชกาลที่ ๗ สวรรคตแล้ว
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่ง และรุ่งขึ้นก็เชิญพระบรมศพไปถวายพระเพลิงที่สุสานสามัญที่ Golders Green ในกรุงลอนดอน แล้วเก็บรวมพระบรมอัฐิธาตุไว้ในกรุงลอนดอน
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการจัดงานพระบรมศพในประเทศอังกฤษเป็นพิธีภายในเงียบ ๆ ไม่มีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีพระสงฆ์ แต่ทางราชการอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน (ที่ประทับ) ได้ถึง ๔ คืน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง ๑ คืนเท่านั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ตอนหนึ่งว่า
“ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”
………………………………………………………………….
กระบวนแห่งพระบรมศพ
เมื่อได้ประดิษฐานพระบรมศพไว้ครบ ๔ คืนเพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลได้เสด็จมาเฝ้ากราบถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร
รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยังสุสานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ ๕ คัน
คันแรกเป็นรถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รถคันที่สองเป็นรถที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระราชนัดดา คันต่อไปเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมกับพระชายา คันต่อไปเป็นรถของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และบุคคลอื่น ๆ
ขบวนแห่พระบรมศพแม้จะดูน้อย แต่เมื่อเสด็จไปถึงสุสานโกลเดอร์สกรีน ได้มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ
เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับและนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว นายอาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน มีคนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนาได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล
………………………………………………………………….
พระราชดำริในการจัดการพระบรมศพ
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกความทรงจำไว้ตอนหนึ่งว่า
“เหมือนจะทรงทราบดีว่าพระชนม์จะไม่ยืนยาวต่อไป จึงได้ทรงสั่งไว้ว่า ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่งทุกประการ”
ตามหนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบันทึกว่า คณะดนตรีได้บรรเลงเพลงสากลแบบคลาสสิก “เมนเดลโซนไวโอลินคอนแชร์โต” (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่กดปุ่มให้หีบพระบรมศพเคลื่อนที่ช้า ๆ หายเข้าไปในผนัง แล้วการถวายพระเพลิงด้วยเตาไฟฟ้าก็ได้เริ่มขึ้น
หลังจากนั้น พระบรมอัฐิได้เก็บรักษาไว้ ณ ประเทศอังกฤษ ไม่ได้อัญเชิญกลับประเทศไทยเพราะมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ถ้ารัฐบาลขณะนั้น (เข้าใจว่าจะหมายถึงสมัย พ.ศ. ๒๔๗๗) ยังมีอำนาจอยู่ตราบใด ก็ไม่ให้นำพระบรมอัฐิกลับมาเมืองไทยเป็นอันขาด
………………………………………………………………….
อัษฎางค์ ยมนาค