ชีวิตเหมือนฝัน พระโอรสบุญธรรม ของรัชกาลที่ 7
ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
เป็นที่รู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือธิดา
แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ร.๗ ทรงเคยมีพระโอรสบุญธรรม
“พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต”
ประสูติเมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2460 เมื่อประสูติทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ภาณุพันธุ์ และมีพระนามลำลองว่า เจรี่ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา”
ทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้องในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา สกุลเดิม ยงใจยุทธ เป็นพี่สาวของร้อยเอกชั้น ยงใจยุทธ บิดาของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2468 เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.3022 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทความรักและเอาพระราชหฤทัยใส่เหมือนเป็นพระราชโอรสแท้ ๆ ทรงอุปถัมภ์ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
เดิมทีสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ ทรงนำพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช มาถวายสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนค่ะ ตั้งแต่พระองค์พีระฯ ทรงพระเยาว์ ก็เป็นที่โปรดปราน ทรงอุปถัมภ์ให้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ แต่พระองค์พีระเกิดไปถูกชะตากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงอยู่ที่ลอนดอน ก็เลยย้ายไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์จุลฯ
ฉะนั้นเมื่อพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ พระชนม์ได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงส่งพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ไปศึกษาต่อที่อเมริกา เพราะทรงเกรงว่าถ้าส่งไปอังกฤษ ก็อาจจะไปพบพระองค์จุลฯ แล้วขอทูลลาไปอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระองค์จุลฯ เสียอีกองค์หนึ่ง อย่างที่เคยเกิดมาแล้วในกรณีพระองค์พีระฯ
คุณหญิงมณี สิริวรสาร เล่าไว้ใน “ชีวิตเหมือนฝัน” ว่า
“ทูลกระหม่อมทรงมีรับสั่งว่า “เล็ก” (หมายถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ) นั้นคงต้องมีความสัมพันธ์กับพระองค์ท่านมาแต่ชาติปางก่อน เพราะลักษณะหน้าตาก็มีส่วนคล้ายคลึง รวมทั้งอุปนิสัยใจคอหลายอย่างก็มีส่วนเหมือนกัน
เช่น เล็กชอบเครื่องตุ๊กกะฉึก (เป็นศัพท์ที่ทูลกระหม่อมทรงตั้งขึ้น หมายถึงเครื่องเล่นที่เป็นกลไกต่างๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า gadgets) และชอบเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น เดียวกับพระองค์เล็กเป็นเด็กนิสัยดี ไม่เคยอวดอ้างว่าเป็น “คนโปรด” เลย”
พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เจริญพระชนม์ขึ้นเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี มาดดี กิริยามารยาทเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว แต่งกายโก้ และใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ดีอังกฤษ มีรถสปอร์ตคันงามยี่ห้อ Bentley ขับไปไหนมาไหน หูตากว้างมีโอกาสได้เข้าสมาคมในกลุ่มเจ้านายและผู้นำระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังนิสัยดี มีความประพฤติเป็นสุภาพบุรุษแท้
เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จอเมริกา เพื่อทรงลอกต้อกระจก พอหายดีแล้วก็เสด็จประพาสยุโรป พระองค์จิรศักดิ์ก็ทรงออกจากโรงเรียนที่นั่นตามเสด็จไปด้วยทุกหนทุกแห่งในฐานะพระโอรสบุญธรรม ได้มีโอกาสพบปะผู้นำและประมุขของประเทศต่างๆ ด้วย
จนสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปประทับอยู่ในอังกฤษ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ก็โยกย้ายจากอเมริกาเป็นการถาวรมาอยู่ที่อังกฤษด้วย
พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ไม่ค่อยจะทรงถนัดทางวิชาการนัก แต่ว่าทรงมีหัวทางด้านงานประดิษฐ์ และเครื่องยนต์กลไก นอกจากนี้ยังเก่งเรื่องขับรถและขับเครื่องบินเป็นพิเศษ ทรงเรียนขับเครื่องบินพร้อมกับสมเด็จพระปกเกล้าแค่ ๘ ช.ม. ก็ทรงบินเดี่ยวได้
ต่อมาก็สอบประกาศนียบัตรนักบินได้ สมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงซื้อเครื่องบินเล็กให้ลำหนึ่งเป็นส่วนตัว ท่านก็ขับเครื่องบินเข้าแข่งแรลลี่ได้ที่ ๑ แต่ว่ายังไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชประสงค์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หมั้นกับมณี เซเนียร์ บุนนาค สุภาพสตรีลูกครึ่งไทย-อังกฤษ นักเรียนทุน ก.พ. ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑ ส่วนพิธีมงคลสมรสจัดขึ้นที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ปีเดียวกัน
เมื่อหม่อมมณีตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ศักดิเดชน์ จากพระนามาภิไธย ประชาธิปกศักดิเดชน์ เพื่อใช้เป็นชื่อราชสกุล
แต่ทางรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้คัดค้านว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงอยู่ในราชสกุล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา อยู่แล้ว
(โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ และเรื่องอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้วยเหตุนี้จึงใช้ชื่อสกุลว่า ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา แทน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษเป็นนักบินของหน่วยงาน A.T.A. (Air Transport Auxiliary) ซึ่งเป็นหน่วยขนส่งทางอากาศของกองทัพอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๕ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทรงขับเครื่องบินเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือ เกิดหมอกลงจัด ทรงขับเครื่องบินชนภูเขา สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาได้ ๒๕ ปี
ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงรับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจีรศักดิสุประภาต เป็นพระโอรสบุญธรรม นั้น เป็นการทรงรับเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มิได้ทรงรับ
พระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๗ ที่ทรงกระทำ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงให้แบ่งพระราชมรดกเท่า ๆ กัน ระหว่าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจีรศักดิสุประภาต ยกเว้นวังศุโขทัยทรงยกให้พระวรวงศ์เธอฯ
การแบ่งพระราชมรดกไม่ได้กระทำจนกระทั่งพระวรวงศ์เธอฯ สิ้นพระชนม์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จฯ นิวัติพระนครแล้ว
ดังนั้น การแบ่งพระราชมรดก จึงเป็นการจับฉลากระหว่าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และ คุณหญิงมณี สิริวรสาร (หม่อมมณี ภาณุพันธ์)
ยกเว้นวังศุโขทัย เนื่องด้วยหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ รัฐบาลได้ยึดวังศุโขทัย และอื่น ๆ
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ นิวัติพระนคร รัฐบาลเตรียมที่จะถวายคืนวังศุโขทัย แต่พระองค์ท่านไม่ทรงรับ แต่ทรงขอประทับที่วังศุโขทัย ตลอดพระชนม์ชีพ
ดังนั้นวังศุโขทัยจึงไม่ได้กลับมาอยู่ในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ ๗ พระราชพินัยกรรม จึงไม่เป็นผล
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มีพระโอรส 2 คน ได้แก่
1. หม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (เกิด พ.ศ. 2482) สมรสกับสมคิด ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา มีบุตร 1 คน คือ หม่อมหลวงศักดิเดชน์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
2. หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (เกิด เมษายน พ.ศ. 2485) สมรสครั้งที่สองกับศิริกาญจน์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ศรีกาญจนา) มีบุตร 2 คน และบุตรบุญธรรม 1 คน คือ
ศีกัญญา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์ (บุตรบุญธรรมซึ่งเกิดจากศิริกาญจน์กับอดีตสามี)
หม่อมหลวงศรุศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
หม่อมหลวงเพ็ทรา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์
จึงถือได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นราชสกุล”ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์”
ในเวลาต่อมา คุณหญิงมณี สิริวรสาร ได้เขียนหนังสือชื่อ “ชีวิตเหมือนฝัน” ที่ต่อมากลายเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียง
หนังสืออัตชีวประวัติเชิงนวนิยายเล่มนี้มีความน่าสนใจประการหนึ่งคือ เกร็ดประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าบางเรื่องที่คุณหญิงมณี สิริวรสาร ได้บันทึกไว้เพื่อมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา ดังเช่นหลายๆ เรื่องในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้สูญหายมลายไปพร้อมกับผู้ที่ทราบเรื่องรวอย่างแท้จริง”
ซึ่งนอกจากพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภายหลังที่ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จนกระทั่งวันที่เสด็จสวรรคต และเหตุการณ์การจัดพิธีพระบรมศพ ซึ่งหากได้อ่านถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายท่านอดที่จะรู้สึกโศกสลดไปเสมือนหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
อัษฎางค์ ยมนาค