“จีนทองหยิน”
กับคำทำนายเหลือเชื่อเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๗
……………………………………………………………………
สุภาพบุรุษในวัยหนุ่มผู้หนึ่ง ร่างเล็กแบบบาง หนวดแหย็มประทับเหนือริมฝีปากประปราย หลังจากเบรครถฟอร์ดรุ่นปี ๑๙๑๐ เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว เทียบสนิทตรงสี่แยกวัดตึก ก็เร่งดำเนิรดุ่มเข้าไปในสำนักโหรมีชื่อของประเทศไทย ในสมัยนั้นอันมีนามที่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า “จีนทองหยิน”
จีนทองหยินผู้นี้ใช่แต่ว่าจะเป็นที่ขึ้นในการตรวจทำนายปูมชาตาของผู้มีบรรดาศักดิ์อัครฐานชนชั้นกลางในครั้งกระนั้นแล้ว แม้แต่จ้าวนายเชื้อพระวงศ์จากเวียงวังต่างก็พากันยกย่องนิยมนับถือโหรจีนผู้นี้อยู่
ดังนั้นจึงไม่เป็นการแปลกปลาดอะไรที่โหรทองหยินจะได้ต้อนรับอาคันตุกะสุภาพบุรุษผู้ซึ่งโหรทองหยินไม่เคยประสพพบพานหน้าค่าตามาแต่ก่อน แต่ก็เขม้นหมายว่าต้องอยู่ในตระกูลสูงอย่างแน่ชัด
สุภาพบุรุษซึ่งเป็นอาคันตุกะของโหรจีนผู้ลือชื่อก็เร่งให้ทำนายทายทักตามแบบวิธีการของโหรจีนผู้นี้ ซึ่งแทนที่จะลงเลขคูณหารตรวจปูมชาตาบนกระดานของโหรเหมือนโหรทั้งหลาย แต่กลับเพียงแต่สอบถามวันเดือนปีเกิดซึ่งสุภาพบุรุษผู้นั้นตอบเรียบๆ ว่า
“วันพุธ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง”
โหรทองหยินเพ่งอยู่ฉะเพาะดวงหน้าเขาอยู่ขณะหนึ่ง พลางบอกให้ลุกขึ้นเดินกลับไปกลับมา
โหรเอกมองดูท่าทางกิริยาวิธีการเดินของเขาอย่างสนใจ และในทันทีที่สุภาพบุรุษเจ้าของดวงชาตาทรุดตัวลงตามเดิม ฉับพลันนั้นโหรเอกก็เบิกตาโพลง ตลึงและงงงวย
เขาลอดสายตาเพ่งออกมานอกแว่น จรดจ้องอยู่กับดวงหน้าของอาคันทุกะแปลกหน้า ผู้ซึ่งไม่เคยเห็นมาเลยนับแต่มาเหยียบเมืองไทย เหมือนกับจะไม่เชื่อตัวเองว่า
สุภาพบุรุษที่นั่งอยู่เฉพาะหน้าตนนั้น จะมีดวงชาตากำเนิดสูงละลิ่วอย่างเทพเจ้าที่จุติลงมาเพื่อปกครองแผ่นดินไทย เพื่อเป็นจ้าวชีวิตของคนไทยทั้งชาตินี้ พลางระล่ำระลัก
“วาสนาลื้อสูงมาก ลื้อจะได้เป็นกษัตริย์–“
น้ำเสียงเขาขาดเป็นห้วงๆ และเน้นคำว่ากษัตริย์ พร้อมกับสำทับซ้ำ
“ลื้อจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองนี้”
ทันทีก็ทรุดตัวลงเบื้องล่าง ยกมือขึ้นประณมสาธุการสุภาพบุรุษผู้นั้นด้วยศรัทธาแก่กล้าในบารมี
ชายสุภาพบุรุษเพ่งดูใบหน้าสวนสายตาของทองหยินออกไป พลางหัวเราะอยู่ในลำคอ เป็นการหัวเราะที่แสดงความขบขันคล้ายๆ กับจะตั้งคำถามตัวเองว่า
“นี่น่ะหรือ ทองหยิน โหรเอกที่คนเลื่องลือกันทั้งเมือง นี่น่ะหรือที่ใครๆ โจษจรรย์กันว่าทำนายทายทักปูมชาตาแม่นยำนัก“
แล้วก็หัวเราะ–หัวเราะให้กับอาการอันงกงันสั่นเทาของทองหยินอีกครั้ง แล้วชำระค่าตอบแทนเมื่ออำลาจากทองหยิน กลับออกไปสตาร์ทฟอร์ดสมัยโบราณคร่ำครึแต่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น พรืดออกไป
สุภาพบุรุษในฟอร์ดคันนั้นไม่ได้เหลียวกลับมาที่สำนักโหรเอกทองหยินอีกจึงไม่มีโอกาศทราบว่าทองหยินได้พาร่างอันสั่นเทาของเขาออกมาคะเย้อคะแยงแง้มประตูห้องแถวเก่าๆ ตรงสี่แยกมองตามฟอร์ดนั้น
จนกระทั่งลับสายตาไปในท่ามกลางความมืดมนธ์ร้อยแปดวุ่นวายสับสนอลหม่านของทองหยินว่า อาคันทุกะผู้มาเยี่ยมเยียนนี้ และมีดวงดาวชาตากำเหนิดรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าคนที่เคยดูมาตลอดชีวิตของความเป็นโหรนี้คือใคร?
ระยะเวลาที่ว่างจากเหตุการณ์ที่สี่แยกวัดตึกเมื่อครู่นี้ห่างกันไม่กี่นาฑีนักรถฟอร์ดคันนั้นก็เลี้ยวเข้าไปจอดที่ชายสนามเทนนิส ณ วังบ้านดอกไม้ของเสด็จในกรมพระกำแพง ซึ่งกำลังสวิงกันด้วยลุกสักหลาดอย่างโชกโชน เหน็จเหนื่อย
แต่ทว่าเต็มไปด้วยรสชาติของความสนุกสนานปนเปไปในระหว่างเชื้อพระวงศ์ในครอบครัว และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในกรมรถไฟที่เสด็จในกรมทรงเป็นผู้บัญชาการ
เสียงแจ๋วๆ ของสุภาพสตรีสาวร่างท้วม แจ่มใสและร่าเริงดังขึ้นทางฟากสนามโน้นพร้อมกับผลุดลุกขึ้น
“ทูลหม่อมเล็ก เสด็จแล้ว!”
ในขณะที่สุภาพบุรุษเจ้าของรถฟอร์ดก้าวดำเนิรลงมายังชุมนุมของแฟมมิลี่แห่งตระกูลฉัตรชัย องอาจสง่าผ่าเผย แม้จะมีสิริร่างที่อ่อนแอและแบบบางแต่ด้วยท่าทางของนายร้อยโทแห่งกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ ของพระเจ้ากรุงอังกฤษออลเดอชอดในอดีต แต่ปัจจุบันที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นคือ
นายพันโท กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม พระอนุชาธิราชแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสุภาพสตรีร่างท้วมสุรเสียงใสนั้นคือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาในกรมพระสวัสดิ์วัฒนวิสิษฎซึ่งโดยฐานันดรแห่งราชตระกูลก็คือระหว่าง “จ้าวพี่ จ้าวน้อง” และเป็นที่รู้กันว่าได้ทรงมีสายสัมพันธ์เสน่หากันอย่างรัดรึง
คำทำนายของโหรทองหยินยังก้องอยู่ในพระกรรณของนายพันโทเจ้าชายหนุ่ม เมื่อได้ทรงเล่าคำทำนายนั้น ในที่ประชุมแฟมมิลี่ของฉัตรชัย ก็ได้มีเสียงสำรวลด้วยความขบขัน เพราะในขณะนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะโดยลำดับการสืบสันติวงค์สืบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องผ่านทูลกระหม่อมจักรพงค์ และทูลกระหม่อมอัษฎางค์อีกถึงสองพระองค์ในแฟมมิลี่ของฉัตรชัย และนายพันโทจ้าวชายหนุ่มจึงทรงถือเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ เจ้าชายมีพระดำรัสสั้น เมื่อเสียงสำรวลในกลุ่มนั้นเงียบลงว่า
“ทองหยิน เจ๊กบ้า”
……………………………………………………………………
ที่มา: หนังสือเรื่องบุกบรมพิมาน โดย “แหลมสน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหกิจ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์-หากสันนิษฐานได้ว่าราวๆ ปี ๒๔๙๒-๒๔๙๓
“แหลมสน” จะเป็นนามปากกาของผู้ใดนั้น ไม่อาจระบุได้