
ปัญญาชนสยามสแควร์ เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ หรือไม่
ส.ศิวลักษณ์ ออกมาปกป้องปรีดี แต่ไม่ปกป้อง ร.7 ใช่หรือไม่กับคำพูดว่า คนทำหนัง 2475 รุ่งอรุณของการปฏิวัติ สร้างหนังให้ “ปรีดีเป็นคนเลวร้าย พระปกเกล้าเป็นคนดี วิเศษ”
ส.ศิวลักษณ์ ยังพูดอีกว่า “เขาไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ บรรณารักษ์ในหนังแนะนำให้เด็กอ่านหนังสือ ซึ่งเชื่อได้ว่าหนังสือที่เขาแนะนำให้อ่าน ต้องเป็นหนังสื่อที่โจมตีปรีดี เล่นงานคณะราษฎร และยกย่องพระปกเกล้าฯ“
ทำให้ผมสงสัยว่า ส.ศิวลักษณ์ คิดอย่างไรกับหนังสือประวัติศาสตร์ของณัฐพล ที่โจมตีและเล่นงานในหลวง ร.9 สมเด็จย่า และ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ?
ส.ศิวลักษณ์ พูดว่า “หนังเรื่องนี้ไม่เคยบอกเลย รัฐธรรมนูญที่ในหลวงเตรียมพระราชทานนั้น คืออะไร ถ้าเราอ่านดูรัฐธรรมนูญที่ในหลวงจะพระราชทานนั้น มีเพียงเสนอให้มีนายก รัฐมนตรีเท่านั้นเอง อำนาจทั้งหมดยังอยู่ที่ในหลวงทั้งหมด”
อยากจะบังอาจบอกกับปัญญาชนสยาม (ซึ่งไม่รู้ได้รับการแต่งตั้งหรือเชิดชูจากใคร) ว่า
รายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับของรัชกาลที่ 7 มีมากกว่าเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของรัชกาลที่ 7 มี 12 มาตรา ผมจะเอามาลงเฉพาะที่สำคัญพอสังเขป
มาตรา 1
อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 2
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง
มาตรา 3
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย
มาตรา 4
ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน
มาตรา 10
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลาย
มาตรา 11
อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 12
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดย พระมหากษัตริย์ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา
ทำไม ส.ศิวลักษณ์ถึงพูดปด หรือพูดไม่หมด หรือไม่รู้ว่า
รัฐธรรมนูญฉบับของรัชกาลที่ 7 มีมากกว่าเสนอให้มีนายก รัฐมนตรีเท่านั้น
เห็นร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 แล้วคงมีคำถามกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นประชาธิปไตยยังไง ในเมื่อพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี ศาล และอำนาจนิติบัญญัติก็เป็นของพระมหากษัตริย์
คำตอบคือ การเปลี่ยนแปลงอะไรที่มันพลิกฟ้าพลิกดิน มันต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อฝึกฝนหรือให้ทั้งประชาชน ข้าราชการ นักการเมืองหรือแม้องค์พระมหากษัตริย์เองได้ค่อยๆ ศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ถึงจะถูกต้อง
ประเทศต่างๆ ในยุโรปที่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิ์ไปเป็นประชาธิปไตยก็เริ่มต้นคล้ายๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 7 เช่น พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
ถ้าบอกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทำผิด ก็คงต้องบอกว่าชาติยุโรปทั้งหลายก็ทำผิดด้วยเหมือนกัน เพราะทำเหมือนกัน
ร่างรัฐธรรมนูญสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ไม่เคยมีการประกาศใช้ “ฉบับแรก”มาจากคำแนะนำของพระยากัลยาณไมตรี หรือ “ฟรานซิส บี. แซร์”
ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเตรียมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยในกับคนไทย
ในพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้นทรงตั้งพระทัยจะมอบประชาธิปไตยให้คนไทยมาตั้งแต่เริ่มครองราชสมบัติแล้ว
แต่ข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญ ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึง ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวอเมริกัน หนึ่งในประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ยังทักท้วงให้ชะลอไว้ก่อน
ด้วยเหตุผลว่า คนไทยยังไม่พร้อม
ฟรานซิส บี. แซร์ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีได้กราบทูลรัชกาลที่ 7 ว่า
“เมืองไทย ยังไม่ควรมีสภา เพราะประชาชนไม่พร้อม”
ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เคยมีพระราชวินิจฉัยเอาไว้เหมือนกันว่า คนไทยยังไม่พร้อม
คำว่าคนไทยยังไม่พร้อม มีสาเหตุมาจาก คนไทยในสมัยนั้น ยังขาดการศึกษา ในเมืองไทยมีคนที่มีการศึกษาอยู่เพียงหยิบมือเท่านั้น
ซึ่งการปกครองที่มีประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประชาชน ผู้เป็นใหญ่ ยังขาดการศึกษา ขาดความรู้ความเข้าในการเมืองการปกครอง จะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง
เพราะจะถูกคนเพียงกลุ่มเดียว ที่มีความรู้ ชักจูงไปในทิศทางใดก็ได้ ซึ่งคนที่ว่านั้นก็คือ “นักการเมือง”
จนถึงปัจจุบันนี้ จำนวนคนไทยที่มีความรู้มีจำนวนมากขึ้นเกือบร้อยเท่าของสมัยก่อน แต่คนไทยก็ยังโดนนักการเมืองหลอกลวง ชักจูงอยู่เลย
………………………………………………………………….
อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขา “Problem of Siam” สอบถามพระยากัลยาณไมตรี 9 ข้อ
ในจำนวนนี้มีคำถามที่เกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองได้แก่
ข้อ 3 “สักวันหนึ่งประเทศนี้จะต้องมีระบบการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่ และระบอบการปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล – แซ็กสัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือ”
ข้อ 4 “ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองระบบผู้แทนราษฎรในรูปใดรูปหนึ่ง?”
ข้อ 6 “เราควรมีนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ? ควรเริ่มใช้ระบบนี้ในตอนนี้เลยหรือไม่ ?”
และข้อ 7 “เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่? องค์ประกอบสภาเช่นนี้ควรจะเป็นเช่นใด”
………………………………………………………………….
โดยพระยากัลยาณไมตรีตอบกลับมาในบันทึกหัวข้อ “Sayrt’s Memorandum” โดยตอนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการมีสภาผู้แทนราษฎร
โดยอ้างว่าประชาชนไม่พร้อม โดยระบุว่า
“การจะมีรัฐสภาที่ใช้งานได้จะต้องอาศัยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าใจระบอบการปกครองแบบนี้ดี
“หากไม่มีประชาชนที่มีสติปัญญามากำกับควบคุม รัฐสภามีแต่จะเสื่อมถอยไปเป็นองค์การที่เลวร้ายและเผด็จการ”
“ตราบใดที่ปวงประชาชาวสยามทั้งหลายยังไม่ได้รับการศึกษาสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพยายามตั้งองค์กรเชิงรัฐสภาที่ประชาชนเลือกตั้งมามีแต่จะนำอันตรายใหญ่หลวงมาให้”
“ดังนั้น จึงดูไม่มีทางเลือกนอกจากการคงไว้ซึ่งระบอบการปกครองที่อำนาจเด็ดขาดยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยที่สุดในช่วงปัจจุบันนี้”
รัชกาลที่ 7 ทรงนำจดหมายตอบดังกล่าวให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งท่านก็ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น
………………………………………………………………….
พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์
คือใคร?
ถ้าใครเคยเดินผ่านแถวๆ วังสราญรมย์ จะมีถนนชื่อถนนกัลยาณไมตรี ที่เราอาจไม่เคยรู้ว่าถนนนี้มีที่มายังไง
เรื่องราวเริ่มต้นที่…
นายฟรานซิส บี. แซร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุตรเขยของวูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางมายังประเทศสยาม ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสยาม เมื่อปีพ.ศ. 2466
ขณะดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ได้ช่วยงานด้านการต่างประเทศของไทย โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟรานซิสมีบทบาทสำคัญในการปลดเปลื้องข้องผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำไว้กับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น ๆ
ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบมากในเรื่องที่คนในบังคับต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลไทย และไทยจะเก็บภาษีจากต่างประเทศเกินร้อยละ 3 ไม่ได้ ประเทศไทยพยายามหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6
ปรากฏว่ามีเพียง 2 ประเทศที่ยอมแก้ไขให้โดยยังมีข้อแม้บางประการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมแก้ไขใน พ.ศ.2436 และญี่ปุ่นยอมแก้ไขใน พ.ศ.2466
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ฟรานซิสเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป
ท่านเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานใน พ.ศ.2467 การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเต็มที่
แต่เนื่องจาก ดร.แซร์ เป็นผู้มีวิริยอุตสาหะ มีความสามารถทางการทูต และมีความตั้งใจดีต่อประเทศไทย ประกอบกับสถานภาพส่วนตัวของ ฟรานซิส ที่เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา จึงทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จ
ประเทศในยุโรปที่ทำสนธิสัญญากับไทย ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี และเบลเยี่ยม ยินยอมแก้สนธิสัญญาให้เป็นแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกายอมแก้ให้
ฟรานซิสถวายบังคมลาออกจากหน้าที่กลับไปสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2468 แต่ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศไทย
ดังเช่นใน พ.ศ.2469 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ฟรานซิสได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามที่ทรงถามไป และยังได้ร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทรงพิจารณาด้วย แต่ทว่าเกิดการปฏิวัติสยามขึ้นเสียก่อน จึงไม่ได้ออกใช้
จากคุณงามความดีที่ ดร.แซร์ มีต่อประเทศไทย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ.2470
และต่อมาใน พ.ศ.2511 รัฐบาลไทยได้ตั้งชื่อถนนข้างกระทรวงต่างประเทศ (วังสราญรมย์) ว่าถนนกัลยาณไมตรี
………………………………………………………………….
ในหลวงรัชกาลที่ 7 ท่านอยากมอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยให้กับประชาคมใจจะขาด แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ล้วนไม่เห็นด้วย
แม้แต่ ฟรานซิส บี. แซร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายชาวอเมริกัน ที่รัชกาลที่ 7 มอบหมายให้ช่วยร่างรัฐธรรมนูญยังเห็นว่า“เมืองไทย ยังไม่ควรมีสภา เพราะประชาชนไม่พร้อม”
จึงเกิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ค่อยๆ ปรับตัวกันไป คอยให้ประชาชนได้มีการศึกษามากพอที่จะรู้ว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา
ที่ ปัญญาชนสยาม(ที่ใครไปเชิดชูก็ไม่รู้) ออกมาปกป้อง ปรีดีกับคณะราษฎร แต่ไม่คิดปกป้องพระมหากษัตริย์ ด้วยคำอ้างว่า ”รัฐธรรมนูญที่ในหลวงจะพระราชทานนั้น มีเพียงเสนอให้มีนายก รัฐมนตรีเท่านั้นเอง อำนาจทั้งหมดยังอยู่ที่ในหลวงทั้งหมด” อันน่าจะมีเจตนาให้ทราบว่า รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 เป็นประชาธิปไตยตรงไหน หรือไม่“
และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ อ.ปรีดีและคณะราษฎร ชิงสุกก่อนห่าม ชิงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 เป็นหมัน
และแล้วรัฐธรรมนูญของปรีดีนั้นประชาชนก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง คณะราษฎรส่งคนลงสมัคร สส. แล้วคณะราษฎรก็เลือกตั้งกันเอง อยู่นานหลายปี
มันต่างกันตรงไหนกับร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7
ปัญญาชนสยามสแควร์อ้างว่า รัฐธรรมนูญของ ร.7 นั้นอำนาจยังอยู่ที่ในหลวงทั้งหมด
แล้วรัฐธรรมนูญของปรีดีไม่ได้อยู่ที่คณะราษฎรทั้งหมดหรือไง ประชาชนก็ไม่ได้เลือกผู้แทนฯ มิใช่หรือ
เฒ่าเพราะอายุมาก
สรุป หนัง 2475 หรือ ปัญญาชนสยามสแควร์ บิดเบือนหรือให้ข้อเท็จจริงครึ่งๆ กลางๆ สร้างความสับสนให้กับประชาชน
ปัญญาชนสยามสแควร์ เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ?
เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาทันที่ที่ได้ยินคำถามที่ว่า “สร้างหนังให้ ปรีดีเป็นคนเลวร้าย พระปกเกล้าเป็นคนดี วิเศษ”
อัษฎางค์ ยมนาค