ต้นราชตระกูลแห่งราชวงศ์จักรี
ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
(อัษฎางค์ ยมนาค รวบรวม เรียบเรียง)
……………………………………………………………….
“ทองด้วง”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 (วันที่ 20 เดือน 4 ตามปีจันทรคติ) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา
โดยแต่เดิมได้รับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระอักษรสุนทร เสมียนตราในกรมมหาดไทย
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และสุดท้ายได้ปราดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
โดยพระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของ”พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี)” ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น”สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก”
……………………………………………………………….
“ทองดี”
พระอักษรสุนทรศาสตร์ (สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ)
“สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ” เดิมชื่อว่า “ทองดี” เป็นบุตรคนโตของ”พระยาราชนิกูล (ทองคำ)” เกิดใน แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกษฐ์ ที่ บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี
ที่นี่นึกออกหรือยังว่าทำไมกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงไปสร้างบ้านไว้ที่อุทัยธานี
เพราะอุทัยธานีคือ “ภูมิบ้านภูมิเมืองต้นราชวงศ์จักรี”
นายทองดี นั้นได้ถวายตัวเข้ารับราชการอยู่กับบิดาในกรมมหาดไทย และแต่งงานกับดาวเรือง
ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็น หลวงพินิจอักษร และเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย
พระอักษรสุนทรศาสตร์กับคุณดาวเรืองนั้น มีบุตรธิดา 5 คน ภายหลังได้รับพระอิริยยศในการสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2338 ดังนี้
1.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระเทพสุดาวดี (สา) 2.พระเจ้ารามรงค์
3.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) 4.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ทองด้วง)
5.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา)
เรื่องราวของ สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ ผู้เป็นพระชนกแห่งรัชกาลที่ 1 นั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานความรู้และแนะนำให้นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผู้เป็นศิษย์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและนำเสนอจังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งมีหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาระบุว่า บ้านสะแกกรังหรือจังหวัดอุทัยธานีวันนี้ คือ ถิ่นกำเนิดของพระชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้สถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว จึงอัญเชิญพระอัฐิของพระชนกมาสถาปนาเป็น “สมเด็จพระชนกาธิบดี” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2338
……………………………………………………………….
“ทองคำ”
พระยาราชนิกูล
นายทองดี ที่ต่อมาได้เป็น พระอักษรสุนทรศาสตร์ และสุดท้ายได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ เป็นบุตรคนโตของ”พระยาราชนิกูล (ทองคำ)
โดยเมื่อครั้งพระยาราชนิกูลเป็นจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) เป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าเพชร ที่ออกมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านสะแกกรังในแผ่นดินพระเจ้าเสือ
ต่อมามีความชอบที่ช่วยให้เจ้าฟ้าเพชร ได้ครองราชย์เป็น พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงได้ย้ายครอบครัวเข้าไปรับราชการและตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แถววัดสุวรรณดาราราม
……………………………………………………………….
“ขุนทอง”
เจ้าพระยาวรวงษาธิราช
พระยาราชนิกูล (ทองคำ) เป็นบุตรของ เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง)
……………………………………………………………….
“โกษาปาน“
เจ้าพระยาโกษาธิบดี
เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เป็นบุตรของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและฝรั่งเศส
เพราะเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็น ออกพระวิสุทธสุนทร ได้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส
โดยราชทินนาม “ออกพระวิสุทธสุนทร”
ที่มีคำว่า สุทธิ์, วิสูทธ์ แปลว่า สะอาด หมดมลทิน บริสุทธิ์
จากหลักฐานของอยุธยาระบุว่า โกษาปานเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสเพราะโกษาเหล็ก ผู้ที่เป็นพี่ชายเป็นผู้ผลักดัน
แต่จากหลักฐานฝรั่งเศสระบุว่า เชอวาลิเยร์ เดอ โชม็องต์ เห็นแววเฉลียวฉลาดของโกษาปานจึงแนะนำให้ฟอลคอน เป็นผู้พิจารณาเลือกให้เป็นราชทูต
ต่อมาเมื่อโกษาเหล็กถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระนารายณ์จึงตั้งให้ออกพระวิสุทธสุนทร น้องชายขึ้นเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมคลัง
ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมรายรับ รายจ่าย มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการค้าสำเภา ติดต่อการค้ากับต่างประเทศและดูแลรับรองคณะทูตจากต่างประเทศและควบคุมดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยา
ถ้าเทียบตำแหน่งเสนาบดีคลังในสมัยอยุธยากับปัจจุบัน ก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง การต่างประเทศ และการพาณิชย์
ต่อมาโกษาปานได้เลื่อนตำแหน่ง โดยมีราชทินนามที่สมบูรณ์ว่า “เจ้าพระยาศรีธรรมราช เดชชาติ อำมาตยานุชิต พิพิทรัตนราชโกษาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ”
……………………………………………………………….
“เจ้าแม่ดุสิต”
โกษาปาน เป็นบุตรของเจ้าแม่ดุสิต
พงศาวดารอยุธยาไม่ได้ระบุถึงหน่อเนื้อเชื้อไขของโกษาปาน ว่าคือใคร แต่ยกย่องมารดาโกษาปานว่าเป็นผู้ที่พระนารายณ์ทรงเกรงใจ
ส่วนในบันทึกของลาลูแบร์กับเดอแชซก็ไม่ได้ระบุว่าแม่เป็นใครและพี่ชายชื่ออะไร ระบุแต่เพียงว่าโกษาปานเป็นลูกพระนมของพระนารายณ์และพี่ชายเป็นขุนนางสำคัญในรัชสมัยพระนารายณ์ชื่อว่า พระคลังผู้ใหญ่
แต่ก็มารู้แน่ชัดจากหลักฐานอื่นว่า แม่ของท่านคือเจ้าแม่วัดดุสิต และพี่ชายคือโกษาเหล็ก
เจ้าแม่วัดดุสิต ไม่ใช่คนทรงเจ้าเข้าผี หรือผู้มีอิทธิฤทธิ์ใด ๆ แต่เป็นสตรีที่มีความสำคัญผู้หนึ่งในสมัยอยุธยา
ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า เจ้าแม่วัดดุสิต เป็นสมญานามเรียกพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีหน้าที่ถวายพระอภิบาลเมื่อทรงพระเยาว์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับพระราชทานตำหนักริมวัดดุสิดารามเป็นที่อาศัย จึงเป็นที่มาของคำว่าเจ้าแม่ดุสิต
……………………………………………………………….
“พระราชหัตถเลขาของ ร.4 ที่พระราชทานแก่ เซอร์จอห์น เบาริง”
ตามธรรมเนียมโบราณ ราชสำนักมักจะไม่เปิดเผยประวัติก่อนขึ้นครองราชของพระมหากษัตริย์
แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเปิดเผยประวัติบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานแก่ เซอร์จอห์น เบาริง ราชฑูตอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม โดยมีใจความตอนหนึ่ง(โดยย่อ)ว่า…
“ต้นตระกูลของเราเป็นชาวหงสาวดีที่รับราชการเป็นทหารอยู่กับพระเจ้าหงสาวดีหงสาวดีผู้ที่ทำสงครามชนะอยุธยา…”
“หลังจากสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสระภาพ คนในตระกูลดังกล่าวได้อพยพติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาอยู่ในอยุธยา”
โดยเมื่อนำเรื่องขุนนางมอญผู้ที่เป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีมาสอบกับพงศาวดารแล้ว พบว่าเป็นพระยาเกียรติและพระยาราม
……………………………………………………………….
“ตำนานเจ้าแม่ดุสิต”
ที่มาของเจ้าแม่ดุสิต เป็นเพียงตำนานที่ยังขัดกัน และไม่ชัดเจนในหลักฐาน จากหลายแหล่ง เช่น
เจ้าแม่วัดดุสิตมีนามเดิมว่า บัว มีพระภัสดา (สามี) สืบเชื้อสายมาจากขุนนางมอญที่สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นตัวประกันที่พม่า และได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๑๑ ซึ่งได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดขุนแสน
จากสมุดบันทึกของบรรพบุรุษประจำตระกูลชุมสาย ที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนั่งเกล้า รัชกาลที่ 3 ระบุว่า ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับหม่อมเจ้าบัว (ในเวลาต่อมาคือ เจ้าแม่วัดดุสิต) สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชสำนักอยุธยา พระแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ โดยอ้างจากหนังสือราชินิกุลบางช้างไว้ว่า
“เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย”
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงบรรพบุรุษของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงได้ฟังคำบอกเล่าจากพระวันรัตน์ (ฉิม) ว่าเจ้าฟ้าหญิงรัศมีและเจ้าฟ้าจีกเคยตรัสเล่าว่า
สมเด็จพระเอกาทศรถได้อภิเษกสมรสกับธิดาของพระยาเกียรติ์ (ขุนนางชาวมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) มีธิดาคือเจ้าครอกบัว (หม่อมเจ้าบัว) และเจ้าครอกอำภัย (หม่อมเจ้าอำไพ)
บางตำราระบุว่า เจ้าแม่ดุสิตเป็นหลานของพระราเมศวร แห่งราชวงศ์สุโขทัย (สมเด็จพระเอกาทศรถ) แต่งงานกับลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ
บางแห่งกล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ
อย่างไรก็ดี เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน
……………………………………………………………….
สรุปได้ว่า ต้นตระกูลของราชวงศ์จักรี ที่สืบค้นพบว่า สืบเชื้อสายมาจากเจ้าแม่ดุสิต และโกษาปาน
และถ้ายึดตามหลักฐานตามที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ ม.ร.ว.เล่าไว้ ก็อาจสรุปได้ว่า เจ้าแม่ดุสิต เป็นลูกหลานของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาของ สมเด็จพระนเรศวร โดยทั้ง 2 พระองค์ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา
พระนาม “สมเด็จพระมหาธรรมราชา“ คือพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย
และอาจสรุปได้ว่า ราชวงศ์จักรี สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเอกาทศรถ และ สมเด็จพระนเรศวร แห่งราชวงศ์สุโขทัย
คืออาจนับได้ว่า เป็นราชตระกูลเก่าแก่ย้อนขึ้นไปถึงราชวงศ์แห่งอาณาจักรสุโขทัยเลยทีเดียว
……………………………………………………………….
อย่างไรก็ตาม ที่มาของเจ้าแม่ดุสิต เป็นเพียงตำนานที่ยังไม่ชัดเจนในหลักฐาน
แต่ที่มีหลักฐานคือ รัชกาลที่ 1 และราชวงศ์จักรี มีต้นตระกูลเป็นเจ้าแม่ดุสิต และโกษาปาน
……………………………………………………………….