พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
แต่เสียพระสติในปลายรัชกาล
ที่คุณ….อาจไม่เคยรู้
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
…………………………………………………………………
พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แต่เสียพระสติในปลายรัชกาล ไม่ได้มีแค่พระเจ้าตากสินเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิพากษาตัดสินให้ประหารชีวิตเนื่องจากพระองค์เสียสตินั้น ในปัจจุบันถูกกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์และคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ พยายามโจมตีว่าเป็นข้ออ้างในการปฏิวัติยึดอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเพื่อตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
แต่ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกคนย่อมทราบดีว่า ในประวัติศาสตร์เอเชียและยุโรปก็มีพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่มีพระราชกรียกิจที่ยิ่งใหญ่แต่เสียพระสติในปลายรัชกาลจนสร้างความเดือดร้อนไปสู่ข้าราชบริพารและประชาชนอยู่หลายพระองค์
ในโอกาสนี้จะขอยกตัวอย่างเป็นกรณีให้ศึกษา
…………………………………………………………………
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
พงศาวดารมหาราชวงศ์ของพม่า จดบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า
หลังจากสงครามพระศรีสุริโยทัย พม่ายกทัพกลับไป พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดื่มเหล้าเมามายหนักทุกวัน และมีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรียวกราว คุ้มดีคุ้มร้าย
ข้าราชบริพาร สมณชีพราหมณ์และอาณาประชาราษฎร์ ได้รับความเดือดร้อนถึงขนาดรวมตัวกันไปขอให้บุเรงนอง ซึ่งในขณะนั้นเป็นขุนพลเองคู่ใจ ให้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจและขึ้นครองราชย์
ต่อมา พ.ศ.2092 มีพระชาวมอญเป็นกบฎตั้งตนเป็นเจ้าชื่อ สมิงทอราม พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงให้บุเรงนองยกทัพไปปราบ
สมิงทอราม มีเพื่อนชื่อ สมิงสอตุด โดยทั้งสองเคยวางแผนลอบปรงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
เมื่อทั้งสองทราบข่าวว่าบุเรงนองออกจากเมือง สมิงสอตุด ก็ส่งน้องชายไปลอบปลงพระชนย์ เมื่อวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 พศ.2093 เวลา 3 ยามเศษถึง 6 โมงเข้า
โดยน้องชายของสมิงสอตุดใช้มีดดาบฟังคอพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขาดกระเด้น โดยมีบันทึกไว้ถึงความเหี้ยนของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ว่าดวงตาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยังคงกรอกไปมาถึงแม้คอจะขาดจากบ่าไปแล้ว
…………………………………………………………………
สมเด็จพระเอกาทศรถ
สมเด็จพระเอกาทศรถ มีพระราชโอรส 2 พระองค์ พระองค์โตชื่อ เจ้าฟ้าสุทัศน์ เป็นพระมหาอุปราช พระองค์ที่รองมีพระนามว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภา
จากจดหมายเหตุของฝรั่งบันทึกว่า ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ “มีพระอารมณ์ไม่ปกติ”
แล้วเกิดมีขุนนางยุยงสมเด็จพระเอกาทศรถ ว่าพระมหาอุปราชจะเป็นกบฏ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงหลงเชื่อ สั่งให้สำเร็จโทษพระมหาอุปราช
ซึ่งในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ก็บันทึกไว้อย่างเดียวกัน
แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อตามพงศาวดาร ที่บันทึกว่า ในช่วงปลายรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟั่นเฟือน ดุร้าย ทำให้มีข้าราชบริพารเดือดร้อนกันมาก
จนมีเรื่อวุ่นวายขึ้นจึงเป็นเหตุให้มีขุนนางไปขอให้พระมหาอุปราชช่วย
ในพงศาวดารบันทึกว่า พระมหาอุปราช เข้าไปกราบบังคมทูล “ให้พิจารณาคนออก”
ซึ่งอาจหมายถึงให้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการ
แต่สมเด็จพระเอกาทศรถ เข้าใจว่า พระมหาอุปราช จะขัดขืน หรือแข็งข้อ จึงทรงพิโรธ และรับสั่งว่า “จะเป็นกบฏหรืออย่างไร”
พระมหาอุปราชเองไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งคือข้าราชบริพารที่เดือดร้อนมาขอให้ช่วย อีกฝ่ายหนึ่งคือพระราชบิดาซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกลับทรงพิโรธและหาว่าพระองค์จะเป็นกบฏ ทำให้พระองหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
…………………………………………………………………
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่และเหตุการณ์สำคัญ
•ทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรปและของโลก
เมื่อต้นรัชสมัยบริเตนใหญ่ได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปีซึ่งทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรปผู้มีอิทธิพลในทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย
• รบชนะนโปเลียนซึ่งเป็นมหาราชของฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป
ต่อมาสหราชอาณาจักรก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่สิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้ของนโปเลียนในปี ค.ศ. 1815
• รวมประเทศไอร์แลนด์ เข้าเป็นสหราชอาณาจักร
อาณาจักรอังกฤษและอาณาจักรสกอตแลนด์รวมกัน เป็น ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เมื่อ ค.ศ. 1707
พอถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ได้รวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
• สูญเสียอาณานิคมอเมริกา
อังกฤษสูญเสียอาณานิคมอเมริกาไปกับสงครามปฏิวัติอเมริกัน (American Revolutionary War) ซึ่งเป็นสงครามที่ทำให้เกิดการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา
• เสียพระสติในปลายรัชกาล
แต่ต่อมาพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเสียพระสติเป็นครั้งคราวและในที่สุดก็เป็นการถาวร พระอาการของพระองค์เป็นปัญหาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นงงงวยเพราะไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีถวายการรักษา
แต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระอาการต่าง ๆ ตรงกับอาการของโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) ซึ่งเป็นโรคที่อาจจะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารพิษ
…………………………………………………………………
สมเด็จพระเจ้าตากสิน
มองซิเออร์คูเดเป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในช่วงกรุงธนบุรี ได้เขียนจดหมายถึงมองซิเออร์เดอโก เอ็ตโลกอง ลงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1779 (พ.ศ. 2322) โดยบันทึกถึงความแปลกของพระเจ้าตากสินว่า
“พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่าทรงเหาะเหินเดินอากาศได้ เราก็ได้ทูลอยู่เสมอว่าเป็นการที่เป็นไปไม่ได้ เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว…”
“พระเจ้าตากเป็นคนที่มีความคิดพลิกแพลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงพระราชดำริจะเป็นพระพุทธเจ้า ในเรื่องนี้ได้มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะเป็นพระพุทธเจ้า และก็มีคนเรียกพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าแล้วก็มี เพราะในเมืองนี้ไม่มีเลยที่ใครจะทำถูกพระทัย ตามวิธีดำเนินการที่ทรงพระราชดำริไว้นั้น
ในชั้นต้นจะได้เหาะขึ้นไปตามอากาศก่อน และเพื่อจะเตรียมการที่จะทรงเหาะนี้ ได้ทรงทำพิธีต่าง ๆ ในวัดและในวังมา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ในเวลานี้จะต้องถือพระเจ้าตากไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้แล้ว ถ้าเรื่องนี้ใครทูลขัดคอ หรือในเวลาทรงเข้าพิธี ใครเข้าเฝ้าแล้ว คนนั้นก็ถูกเคราะห์ร้าย”
จดหมายอีกฉบับหนึ่งของมองซิเออร์คูเดเขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ค.ศ. 1780 (พ.ศ. 2323) บันทึกถึงเรื่องที่พระเจ้าตากสินจะทรงเหาะไปในอากาศความว่า
“…ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศต่อไป…”
และในจดหมายยังอธิบายพระอารมณ์แปรปรวนของพระเจ้าตากสินว่า “…พระเจ้าตากก็กริ้วเราบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ช้าก็หายกริ้วอีก…”
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีได้ให้ข้อมูลสำคัญว่า พระเจ้าตากสินทรงเริ่มแสดงพระอาการฟั่นเฟือนมาตั้งแต่ จ.ศ. 1130 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับ พ.ศ. 2311
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาได้อธิบายว่า พระเจ้าตากสินได้ทรงเจริญพระกรรมฐานบ่อยครั้งในช่วงหลายปีก่อนสิ้นรัชกาล ครั้งหนึ่งที่ทรงเจริญพระกรรมฐานตามความว่า
“…สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเข้าทรงนั่งสมาธิให้โต๊ะแขกดู ประมาณห้าบาทออกจากที่ทรงนั่งแล้ว ตรัสถามโต๊ะแขกว่าเห็นเป็นประการใดบ้าง โต๊ะแขกกราบทูลว่าซึ่งทรงนั่งสมาธิอย่างนี้ อาจารย์ซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อนจะได้พบเห็นเสมอพระองค์ดังนี้หามิได้…”
พงศาวดารบันทึกเรื่องทรงเจริญพระกรรมฐานและพระอารมณ์แปรปรวนความตอนหนึ่งว่า
“…ฝ่ายแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่าง ๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐาน เสียพระสติ พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน… “
“พระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส…”
การเจริญพระกรรมฐานทำให้พระเจ้าตากสินดำริว่าพระองค์ทรงบรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล แล้วรับสั่งถามพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด”
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) ว่าไม่เห็นควรให้พระสงฆ์กราบไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล ความว่า
“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”
พระเจ้าตากสินก็พิโรธ มีพระราชโอการถอดยศสมณศักดิ์ลงและให้ลงพระราชอาญาตีหลัง
พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้ฟังจากชนชั้นสูงของไทยสมัยนั้นว่าพระองค์ทรงได้รับโอสถขนานหนึ่งทำให้พระสติวิปลาส
กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาทรงพระนิพนธ์อธิบายในเชิงจิตวิทยาและแสดงความเห็นใจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าพระองค์ทรงงานหนักจนทำให้เกิดความเครียด
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายไว้ใน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด พระองค์ยังทรงประพฤติไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์อยุธยาแต่เดิมด้วย จนกลุ่มขุนนางอยุธยาแต่เดิมสูญเสียความศรัทธา และถูกมองว่าเสียสติ
เมื่อกรุงธนบุรีเกิดจลาจลเดือดร้อน พระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้เหตุว่าเป็น “เพราะพระเจ้าแผ่นดินมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสุจริต” ทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนเพราะมีพวกคนพาลกราบทูลเรื่องมิบังควร เปลี่ยนเรื่องเท็จเป็นเรื่องจริง จนทำให้เกิดเหตุวุ่นวายไปทั่วกรุงธนบุรี มีการโบยตีพระสงฆ์ กังขังตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์โดยหาเหตุกระทำผิดไม่ได้ เร่งรัดเอาทัพย์สินโดยพลการหาความผิดมิได้
และเมื่อเจ้าพระยาจักรีปราบเหตุวุ่นวายลงแล้วจึงร่วมปรึกษากับขุนนางทั้งหลาย ขุนนางพร้อมใจกันว่า
“พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสียประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย”
………………………………………………………………… ผมเป็นคนฝั่งธนบุรี รักเคารพ เทิดทูนบูชาสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างสุดหัวใจ เฉกเช่นเดียวกับคนฝั่งธนและคนไทยทุกคน อ่านประวัติศาสตร์ปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วสลดหดหู่สุดหัวใจ
และไม่ว่าความจริงจะเป็นไปตามประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้ความจริง
แต่การให้ร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและราชวงศ์จักรีเป็นความไม่ยุติธรรมและอกัตญญู
เพราะความจริงแท้ที่สุดอย่างหนึ่งคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราช รวบรวมบ้านเมืองเป็นหนึ่งเดียว
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ได้สานต่อทำให้บ้านเมืองมั่งคงมั่งคั่งเป็นปึกแผ่นมาจนถึงปัจจุบัน
แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวงและแก่งแย่งอำนาจของนักการเมืองนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา คือตัวบันทอนความเจริญของชาติที่แท้จริง