น.ส.พรรณิการ์ วานิช โพสต์ทวิตเตอร์ว่า
“ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน“ คำพูดดังกล่าวถือว่าเป็นการโหนศพหากินหรือไม่?
เพราะความจริงคือ…….
”บุ้งไม่ได้ติดคุกเพราะเห็นต่าง…..
และบุ้งได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนทุกคน“
เริ่มต้นบุ้งและพวกร่วมทำกิจกรรมสอบถามประชาชนว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ ซึ่งศาลตัดสินว่า “เป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
“ทั้งที่ขบวนเสด็จเป็นการถวายความปลอดภัยให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกล้วนต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้กับขบวนของประมุขหรือบุคคลสำคัญของชาติ”
จากเหตการณ์ต้นเรื่องดังกล่าวทำให้บุ้งถูกจำคุก 2 ครั้ง เนื่องจากหลังจากได้รับการประกันตัวแล้วยังละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัวด้วยการทำผิดซ้ำ
บุ้งและพรรคพวกอีกมากมายหลายคนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีในมาตรา 112 ที่กลุ่มคนดังกลับพุ่งเป้าให้เป็นประเด็นทางการเมือง
ไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง
แต่เป็นการจงใจละเมิดกฎหมาย
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า……
มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก……
และเมื่อถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วศาลยังให้สิทธิประกันตัว โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เมื่อบุ้งและพรรคพวกได้รับการประกันตัวจากการปล่อยตัวชั่วคราว บุ้งและพรรคพวกก็ละเมิดเงื่อนไขที่กำหนดว่า “ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง ทำให้ถูกถอนประกันหรือไม่ให้ประกันตัว” ด้วยการทำผิดซ้ำ
ดังนั้นคำพูด ช่อ พรรณิการ์ ดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการโหนศพหากินเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนและพรรคพวกหรือไม่?
……………………………………………………………………………..
ย้อนไทม์ไลน์ให้เห็นกันชัดๆ
วันที่ 8 ก.พ. 2565 ทานตะวันและใบปอได้ร่วมกันชูป้ายโพลที่มีข้อความว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” โดยมี 2 ตัวเลือก คือ เดือดร้อนและไม่เดือดร้อน ในบริเวณห้างสยามพารากอน และมีการแจกสติ๊กเกอร์ให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นบนโพล
หลังกิจกรรมพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและสื่ออิสระรวม 9 คน เป็นเยาวชน 1 ราย
โดยในคำฟ้องได้มีใจความสำคัญระบุว่า “จำเลยทั้งแปดกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิด และต่างกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ
จำเลยทั้งแปดกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยการร่วมกันทำแผ่นป้ายกระดาษสีขาวขนาดใหญ่ โดยทำให้ปรากฏข้อความที่ส่วนบนของกระดาษว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” โดยส่วนด้านล่างของแผ่นกระดาษ ได้ทำการแบ่งออกเป็น 2 ช่อง แล้วทำให้ปรากฏข้อความที่ช่องทางด้านซ้ายมือของผู้อ่านว่า “เดือดร้อน” และที่ช่องทางด้านขวามือของผู้อ่านว่า “ไม่เดือดร้อน” ออกเผยแพร่แสดงแก่ประชาชนทั่วไป
และได้แจกสติ๊กเกอร์สีเขียวเพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว และในละแวกใกล้เคียงที่ประสงค์แสดงความคิดเห็น นำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปติดที่ช่องที่เลือก อันเป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบต่อกันมาในการถวายความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์
โดยเจตนาจะสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการทำให้ปรากฏข้อความ หนังสือ แก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งแปดในระหว่างพิจารณา โดยระบุให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ซึ่งศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับชั้นฝากขัง คือ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุ หรือชักชวนให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
สรุป คดีเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ศาลให้ประกันตัว ภายหลังบุ้งถูกศาลถอนประกันเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565
3 พฤษภาคม 2565
ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนการประกันตัวบุ้ง สมาชิกทะลุวัง จากการจัดกิจกรรมสอบถามความเห็นของกลุ่มทะลุวังสองครั้ง
ครั้งที่หนึ่ง การทำโพลสอบถามความเห็น “คุณยินดียกบ้านให้กับราชวงศ์หรือไม่” เมื่อ 13 มีนาคม 2565 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ครั้งที่สอง การทำโพลสอบถามความเห็น “ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่” เมื่อ 31 มีนาคม 2565 บริเวณสกายวอล์คหน้าบิ๊กซีราชดำริและแยกราชประสงค์
โดยศาลเห็นว่า เป็นการกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับการกระทำที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและชักจูงและเชิญชวนให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้
ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า เมื่อขณะเวลาที่ผู้ต้องจัดกิจกรรม ได้มีการชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมนุมของผู้ต้องหา และมีผู้ชุมนุมจากการชุมนุมของผู้ต้องหาเดินเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม อันเป็นเหตุฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งสอง
ภายหลังอยู่ในเรือนจำนานหนึ่งเดือน ใบปอและบุ้งตัดสินใจอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว
วันที่ 4 ส.ค.2565
ได้รับการประกันตัวหลังทนายเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวบุ้ง เป็นจำนวนกว่า 8 ครั้ง หลังจากถูกคุมขังกว่า 94 วัน
วันที่ 19 ต.ค.2566.
ถูกคุมขังครั้งที่ 2
ศาลสั่งจำคุก “บุ้ง ทะลุวัง” 1 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล ปมทะเลาะทำร้ายตำรวจศาล
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเปิดเผยว่า วันนี้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวน.ส.เนติพร หรือ บุ้ง เนื่องจากไปชุมนุมเรียกร้องให้ถอดถอน สว.เนาวรัตน์ และปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าเป็นบุคคลที่ไปพ่นสีธงสัญลักษณ์เบื้องสูง
ส่วนคดีละเมิดอำนาจศาลที่มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในบริเวณศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำไปตามหน้าที่ตัวน.ส.เนติพรแม้ไม่ได้ปีนเข้าไปแต่ไปกระชากคอเสื้อทำให้เจ้าหน้าที่ศีรษะกระแทกได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ลงโทษจำคุก 1 เดือน
อนึ่ง ขอยกตัวอย่างสาเหตุที่ศาลถอนประกันหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราว
การไม่อนุญาตให้ประกันตัวก็เพราะ “ศาลเคยให้โอกาสปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย(บุ้ง) ในระหว่างพิจารณาแต่จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด
โดยความยินยอมของจำเลยที่จะปฏิบัติตาม จะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขอปล่อยตัวชั่วคราว ดังนั้นหากศาลปล่อยตัวชั่วคราว จึงเกรงว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ยกคำร้อง”
บุ้ง ทะลุวัง ถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล
ภายหลังการถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 ม.ค.2567 จากนั้นบุ้งประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยรวมแล้วบุ้งอดอาหารทั้งหมด 108 วัน
บุ้งได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วง โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
จะเห็นได้ว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของบุ้ง สอดคล้องกับข้อความที่พรรณิการ์ วานิช โพสต์ทวิตเตอร์หลังจากการเสียชีวิตของบุ้งว่า “คนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน“
ทั้ง 2 คนมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือมีการสื่อสารจากใครถึงใครในประเด็นหลักทั้ง 2 ข้อดังกล่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? ใครจะให้คำตอบนี้กับสังคม
หากคำว่า ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หมายถึง เรื่องสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคนและคนเห็นต่างทางการเมืองไม่ควรถูกคุมขัง คือหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองของบุ้งกับช่อ พรรณิการ์และพรรคพวก เป็นแนวทางเดียวกัน หรือมีการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือไม่?
ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือ…..
”บุ้งไม่ได้ติดคุกเพราะเห็นต่าง…..
และบุ้งได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนทุกคน“
บุ้งและพรรคพวกอีกมากมายหลายคนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีในมาตรา 112 ที่กลุ่มคนดังกล่าวพุ่งเป้าให้เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ได้เป็นแสดงความเห็นต่างทางการเมือง แต่เป็นการจงใจละเมิดกฎหมาย
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า……
มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก……
ซึ่งบุ้งและพรรคพวกละเมิดกฎหมายดังกล่าวโดยมีหลักฐานชัดเจน
และเมื่อถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วศาลยังให้สิทธิประกันตัว โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เมื่อบุ้งและพรรคพวกได้รับการประกันตัวจากการปล่อยตัวชั่วคราว บุ้งและพรรคพวกก็ละเมิดเงื่อนไขที่กำหนดว่า “ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง ทำให้ถูกถอนประกันหรือไม่ให้ประกันตัว” ด้วยการทำผิดซ้ำ
ดังนั้นคำพูด ช่อ พรรณิการ์ ดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการโหนศพหากินเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนและพรรคพวกหรือไม่? ใครจะให้คำตอบนี้กับสังคม
อัษฎางค์ ยมนาค