เหตุการณ์วันสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ ๖
กับการประกาศตัวองค์รัชทายาท
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ โดยในขณะที่มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาเศษ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
ได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษหลายแขนง ได้แก่ ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากแซนเฮิสต์ แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม
ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2442-พ.ศ. 2444
แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา
แล้วเวลาก็ล่วงเลยผ่านมาอีกหลายสิบปี จนครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยังทรงมีอาการประชวรจากสาเหตุของการผ่าตัดในรั้งเลยนั้น จึงตั้งพระทัยจะกลับไปรักษาที่อังกฤษ โดยตั้งพระทัยให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นองค์รัชทายาท หากการรักษาไม่ประสบความสำเร็จ ก็ให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์สืบราชสมบัติต่อไป
แต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จทิวคตไปเสียก่อน จึงทำให้รัชกาลที่ ๖ ไม่ได้เดินทางไปรักษาอีกเลย จนกระทั่งล้มป่วยจนสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยทรงได้เสวยพระกระยาหารผิดสำแดงและทรงพระบังคน มีมดมาเกาะพระบังคน
หมอจึงสรุปว่า มีเบาหวานแทรกซ้อนแต่พระอาการก็ทรงกับทรุด
อย่างไรก็ดีข้อมูลทางหนึ่งระบุว่า พระอาการนี้สืบเนื่องมาจากแผลผ่าตัดด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ที่มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ที่ส่งผลต่อสุขภาพมาตลอดพระชนม์ชีพ
กระทั่งเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา
……………………………………………………………….
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘
“เจ้าพระยารามราฆพเข้าไปกราบบังคมทูลขณะที่มีสติดีว่าพระนางเจ้าสุวัทนาจะประสูติวันนี้ก็ทรงกระวนกระวายพระทัย
พอทรงได้ยินปืนเที่ยง ทรงดีพระราชหฤทัยจนถึงทรงยิ้มเพราะทรงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ถ้าประสูติเจ้าฟ้าชาย ให้มีการยิงปืนถวายคำนับ พอเจ้าพระยารามราฆพกราบทูลว่าไม่ใช่ ก็ทรงนิ่งไปอีกจนบ่าย
เจ้าพระยารามราฆพเข้าไปกราบบังคมทูลว่าประสูติแล้วเป็นเจ้าฟ้าหญิง ทรงหลับพระเนตรและรับสั่งด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบาว่า “ก็ดีเหมือนกัน” แล้วทรงแน่นิ่งอยู่ตลอดมา
จากบันทึกของ จมื่นมานิตย์นเรศร (เฉลิม เศวตนันทน์) เรื่อง รัชกาลที่ ๖
……………………………………………………………….
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘
วันที่ ๒๕ กลางวันเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เชิญสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาบรรทมพระยี่ภู่เข้าไปถวาย ทรงเอื้อมพระหัตถ์คล้ายๆ กับจะทรงจับ แล้วก็ทรงชักกลับ ทุกคนที่อยู่ในที่นั่นสุดจะกลั้นความโศกาดูรได้
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เชิญเจ้าฟ้าพระราชธิดากลับ ตั้งแต่นั้นก็ส่งสลบแน่นิ่ง หายพระราชหฤทัยรวยๆ มีพลตรีพยาวิบูลอายุรเวช นั่งถวายตรวจชีพจรอยู่ตลอดเวลา
จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระมหามณเฑียรในพระมหาบรมมหาราชวัง”
จากบันทึกของ จมื่นมานิตย์นเรศร (เฉลิม เศวตนันทน์) เรื่อง รัชกาลที่ ๖ สวรรคต
……………………………………………………………….
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘
เวลา ๑.๔๕ ก.ท. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ครั้นเวลาประมาณ ๒.๐๐ ก.ท. พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่กับท่านเสนาบดี ประชุมกันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตามราชประเพณี
……………………………………………………………….
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ซึ่งทรงทำหน้าที่เป็นผู้จดรายงานการประชุมครั้งนั้น ได้ทรงเล่าเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด รวมถึงเรื่องที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรง “ขัดข้อง” ที่จะรับราชสมบัติ ความว่า
“การสืบราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในกลางดึกวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ขณะนั้นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ประทับฟังอาการอยู่พร้อมเพรียงในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นประมุขพระบรมราชวงศ์ ทรงเรียกประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศ์บรรดาที่ประทับอยู่ในพระที่นั่ง มีพระดำรัสว่า
บัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึ่งขอปรึกษาที่ประชุมในเรื่องการสืบราชสมบัติ ตรัสให้เสนาบดีกระทรวงวังผู้รักษาพระราชพินัยกรรม เชิญพระราชพินัยกรรมนั้นขึ้นอ่านในที่ประชุม ความว่า
การสืบราชสมบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ว่า ถ้าพระราชกุมารในพระครรภ์พระนางเจ้าสุวัทนาประสูติออกมาเป็นพระราชโอรสก็ใคร่จะให้ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ถ้าเป็นพระราชธิดาก็ใคร่ให้ราชสมบัติตกอยู่แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระชนนี ซึ่งมีเหลืออยู่พระองค์เดียวตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลฉบับสุดท้ายในเวลานั้น เจ้านายพระบรมวงศ์ทรงแสดงพระดำริเห็นชอบโดยดุษฎีภาพ
แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงขัดข้อง ด้วยพระองค์อ่อนพระชนมายุและอ่อนความเคยชินกับราชการ ขอถอนพระองค์เพื่อเจ้านายที่ทรงมีพระชันษามากกว่า
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตทรงแถลงว่า เป็นการสมควรยิ่งที่ราชสมบัติจะตกแก่เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน
ส่วนที่ทรงหนักพระทัยว่าขาดความรู้ความเคยชินแก่ราชการนั้น เจ้านายทุกพระองค์พร้อมที่จะช่วยประคับประคองให้ทรงครองแผ่นดินราบรื่นตลอดไป
ขณะนี้ท่านเสนาบดีนอกจากที่เป็นพระบรมวงศ์คือ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง การต่างประเทศ มหาดไทย ยุติธรรม คมนาคม วัง เกษตราธิการ ศึกษาธิการ มุรธาธร ก็ลงจากเก้าอี้ถวายบังคมตามราชประเพณีแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงบ่ายเบี่ยงไม่รับราชสมบัติ เข้าใจว่าทรงพระดำริว่าเพราะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เล็กสุดในรัชกาลที่ ๕
และยังทรงมีพระเชษฐาอีกหลายพระองค์ที่ทรงอาวุโสและมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินสูงกว่ามาก เช่น
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต พระเชษฐาต่างพระชนนีชั้นเจ้าฟ้า
ที่ทรงมีพระอาวุโสรองลงมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และปรากฏว่าในปลายรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทก็ทรงพระเมตตามากและทรงเรียกว่า “เจ้าฟ้าองค์ที่ ๒” (คือรองจากรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นองค์ที่ ๑)
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตทรงเคยดำรงตำแหน่งทางราชการสำคัญหลายตำแหน่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ คือเป็นองคมนตรีและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
ในภายหลังก็ทรงได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก แทนสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถที่ทิวงคตไปแล้วในอิสริยยศจอมพล ซึ่งในสมัยนั้นเสนาธิการทหารบกมีอำนาจรับผิดชอบควบคุมกิจการทหารบกโดยตรง และยังทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ด้วย
อย่างไรก็ตาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตก็ทรงมีท่าทีสนับสนุนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาอย่างเต็มที่
หลังจากเสนาบดีกระทรวงวังอ่านแถลงการณ์และสำเนาพระราชหัตถเลขาใจความว่า มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาได้เสด็จเถลิงราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ นอกจากจะทรงมีพระราชโอรสจะได้รับราชสมบัติ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงสำเร็จราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชรับสั่งว่า พระราชประสงค์ข้อนี้ ก็แจ่มแจ้งดูไม่มีปัญหาอะไรที่จะสงสัย จึงผู้เป็นประธานรับสั่งถามความเห็นที่ประชุมว่า จะรับรองปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือไม่
เสนาบดีมหาดไทยว่า ไม่มีข้อขัดข้องอันใด ควรรับรอง
ผู้เป็นประธานรับสั่งขอให้ที่ประชุมใคร่ครวญดูให้ดีอีกครั้งว่าอย่างใดจะเป็นทางดีทางเจริญสำหรับบ้านเมืองที่สุด ถ้าท่านผู้ใดไม่เต็มใจ ก็จะไม่ทรงรับราชสมบัติ แต่ถ้าไม่มีใครไม่เต็มใจก็เป็นอันต้องทรงน้อมรับตามความเห็นของที่ประชุมรับรัชทายาท
ท่านเสนาบดี ได้ลงนั่งกราบถวายบังคม ๓ ครั้งพร้อมกัน
เป็นอันยุติปัญหาข้อนี้
(หมายเหตุ ตอนนี้เขียนเองเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่คัดลอกจากประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้ศึกษาด้วยกัน)
อัษฎางค์งค์ ยมนาค