เอาทหารไปสอนประวัติศาสตร์ ทำไม?
“ตอนที่ ๓ การปฏิบัติการจิตวิทยากับสงครามปฏิวัติ
นำเสนอโดย อัษฎางค์ ยมนาค
………………………………………………………………
คัดลอกเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา จาก “เอกสารประกอบการบรรยาย การปฏิบัติการจิตวิทยาสนับสนนุการปฏิบัติการพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก“
…………………………………………………………………
ปัจจุบันการปฏิบัติการจิตวิทยาได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของชาติ โดยดำเนินการผสมผสานกับเครื่องมือหลักอีก ๓ ประการ คือการดำเนินการทางการเมือง การดำเนินการทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการทางทหาร
การปฏิบัติการจิตวิทยา ถือเป็นอาวุธหลักของสงครามสมัยใหม่ ปัจจัยทางจิตวิทยา เป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่ง อันจะขาดเสียมิได้ในการปฏิบัติการทุกเรื่องในสนามรบ
…………………………………………………………………
ประวัติศาสตร์การปฏิบัติการจิตวิทยาแนวคิดแบบจีน
ซุนวู
แนวความคิดเบื้องต้นในการใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อเอาชนะการสงครามนั้น ตามที่ปรากฎจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า นักปราชญ์ทางทหารชาวจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังอมตะ ท่านชื่อ”ซุนวู” ได้เขียน “ตำราศิลปสงคราม” (The Art of War)เป็นเล่มแรกของโลก เมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ตำราพิชัยสงครามซุนวู กล่าวถึงหัวใจของการปฏิบัติการจิตวิทยา หรือการทำสงครามจิตวิทยา ใน
บรรพที่ ๓ ว่าด้วย “ยุทโธบาย” กล่าวว่า
“การชนะร้อยทั้งร้อย มิใช่วิธีอันประเสริฐแท้
แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง”
หมายความว่า “การต่อสู้เอาชนะข้าศึกด้วยกำลังนั้น ไม่ใช่กลยุทธที่เหมาะสม แต่การทำให้ข้าศึกไม่คิดที่จะต่อสู้หรือยอมแพ้ โดยไม่ต้องใช้กำลังรบกันเลย ถือว่าเป็นกลยุทธที่ดีเลิศ”
นอกจากซุนวูได้ให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่แก่นักการทหารทั้งโลกทางผ่านทางตำราพิชัยสงครามแล้ว อีกซีกหนึ่งของชีวิตท่านได้ฝากบทเรียนไว้เช่นกันกล่าวคือ เมื่อซุนวู้ได้รับผลสำเร็จในทางทหารอย่างงดงามแล้ว ท่านมิได้มัวเมาลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์และลาภสักการะนั้นๆ จนลืมตัว
ท่านเห็นว่าพระเจ้าเหอหลูเป็นกษัตริย์ที่มีความหวาดระแวงเป็นเจ้าเรือน ตนเองมีอำนาจทางทหารเช่นนี้ จะรับราชการด้วยดีโดยตลอดรอดฝั่งมิได้ฉะนั้นจึงถวายบังคมลาออกจากราชการไปบำเพ็ญชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างสันโดษ อันจะเรียกว่า “สูงสุด คืนสู่สามัญ” ก็มิผิด
…………………………………………………………………
สามก๊ก
วรรณกรรมชั้นเออกอุของจีนอีกเล่มหนึ่งก็คือ สามก๊ก (Romance of Three Kingdoms) ได้เน้นการทำสงครามเพื่อการมุ่งโจมตีและยึดจุดศูนย์ดุลทางใจไว้ให้ได้จดจำ และถือว่า “การโจมตีที่ใจ” เป็นกลยุทธที่ล้ำลึกสูงสุด ดังคำกล่าวที่ว่า
“อันการศึกนั้น ควรถือการตีทางใจเป็นเอก ตีเมืองเป็นรองรบด้วยใจเป็นเอก รบด้วยทัพเป็นรอง”
คำกล่าวนี้เป็นที่มาของยุทธศาสตร์สงครามของขงเบ้งแม่ทัพแห่งเมืองจกก๊ก ที่ใช้ในการวางแผนปราบเบ้งเฮ็ก เจ้าเมืองหมานอ่อง (หลักฐานบางชิ้นสันนิษฐานว่า เบ้งเฮ็กเป็นผู้นำ ใน ๖ นครรัฐอิสระ) เมืองหมานอ๋องอยู่ทางใต้ของเมืองจกก๊ก ความจริงการรบกวนชายแดนและก่อความวุ่นวายทางใต้ของเบ้งเฮ็กนี้ เพียงแต่ส่งขุนพลเพียงคนเดียว นำกำลังไปปราบก็คงจะปราบได้ แต่ครั้นเมื่อถอนกำลังกลับก็จะก่อความไม่สงบขึ้นอีก
ดังนั้นขงเบ้ง จึงใช้ยุทธศาสตร์การปราบแนวหลังให้สงบก่อน เพื่อให้เป็นผลดีแก่การพิชิตหัวเมืองทางเหนือ การที่จะแก้ปัญหานี้ให้ถึงที่สุดจะต้อง “โจมตีทางใจ” เพราะการโจมตีเมืองนั้นง่าย แต่การโจมตีใจนั้นยากยิ่ง
ดังนั้นขงเบ้งจึงเป็นแม่ทัพคุมกำลังไปเองและใช้ “กลยุทธเจ็ดจับเจ็ดปล่อย” ในที่สุด เบ้งเฮ็ก ผู้แข็งกร้าวและดื้อรั้นก็ยอมจำนนทั้งกายและใจ
เบ้งเฮ็กกล่าวแก่ขงเบ้งว่า “มหาอุปราชจงลดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด แต่นี้ไปเบื้องหน้าข้าพเจ้ามิคิดคดต่อมหาอุปราชสืบไปเลย” ขงเบ้งจึงมอบดินแดนที่ตีได้นั้นคืนให้เบ้งเฮ็กสิ้น
แล้วตั้งให้เบ้งเฮ็กเป็นเจ้าเมืองตลอดไป นับแต่นั้นมาเบ้งเฮ็กและสมัครพรรคพวก รวมทั้ง
ราษฎรในภาคใต้ต่างสำนึกในบุญคุณของขงเบ้ง ตลอดเวลาที่ขงเบ้งมีชีวิตอยู่ ภาคใต้มิได้ก่อความวุ่นวาย ขึ้นมาอีกเลย
ดังนั้นบทสรุปของ “กลยุทธเจ็ดจับ เจ็ดปล่อย” ก็คือ
“รบเพื่อยึดครองใจ มิใช่ยึดครองเมือง ศัตรูกลับกลายเป็นมิตรทั้งเมือง”
บันทึกประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติการจิตวิทยาอีกตอนหนึ่งจาก “สามก๊ก” คือ ตอนที่ขงเบ้งรับอาสาเล่าปี่ไปเจรจาเป็นพันธมิตรกับซุนกวน ขงเบ้งกล่าวว่า “โจโฉยกกองทัพมาครั้ง นี้เอิกเกริกดังแผ่นดินจะถล่ม เห็นว่าซุนกวนจะสะดุ้งตกใจอยู่ ดีร้ายจะใช้คนสอดแนมมาถึงเรา ถ้าผู้ใดมาถึงท่านแล้ว ข้าพเจ้าจะขออาสาเอาแต่เรือลำหนึ่งกับลิ้นข้าพเจ้าสามนิ้วเท่านั้น ไปยุให้ซุนกวนผิดกับโจโฉให้จงได้ ถ้าโจโฉแพ้ก็จะเข้าช่วยซุนกวน เห็นได้ท่วงทีก็จะเข้าชิงเอาเมืองเกงจิ๋วเป็นกำไรเปล่า แม้ซุนกวนแพ้เราก็จะคิดชิงเอาเมืองกังตั้งไว้ให้ได้”
ความตอนนี้พิจารณาได้ว่า ขงเบ้งประมาณสถานการณ์ทางจิตวิทยาได้ถูกต้องแม่นยำและวางแผนการปฏิบัติการจิตวิทยา โดยการใช้การพบปะสังสรรค์สร้างไมตรีระหว่างเล่าปี่กับซุนกวน และสร้างความแตกแยกระหว่างซุนกวนกับโจโฉมุ่งเข้าสู่วัตถุประสงค์ของชาติในการครอบครองแผ่นดินเกงจิ๋วหรือ กังตั้ง ใช้เป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของชาติ คือการครอบครองแผ่นดินจีนในที่สุด
…………………………………………………………………
พระเจ้าตากสินมหาราช
การกอบกู้ประเทศชาติของพระเจ้าตากสินเป็นการปฏิบัติในทางจิตวิทยาในแง่ที่ว่า เมื่อกรุงแตกได้มีบุคคลหลายฝ่ายหลายท้องที่ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ แต่ปัญหามีว่าทำไมพระเจ้าตากสินจึงยังไม่ปราบคนพวกนี้เสียก่อน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระเจ้าตากสินคิดว่าถ้าปราบพม่าได้ ก็หมายความว่าชนะพวกที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วย ถ้าไปปราบก๊กใดก๊กหนึ่งลงได้สำเร็จก็ต้องปราบก๊กอื่นๆ อีกให้สำเร็จเป็นภาระมิใช่น้อย ดังนั้น พระองค์จึงตั้งหน้าปราบทัพสุกี้พระนายกองก่อน เมื่อได้ชัยชนะก็ประกาศตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทย การที่ไทยชนะพม่าและสามารถกำจัดสุกี้ลงได้นั้น ได้ส่งผลทางด้านจิตวิทยาอย่างใหญ่หลวง เพราะนอกจากทำให้พวกที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ครั่นคร้ามแล้ว พม่าที่ยึดครองประเทศไทยบางแห่งก็เสียขวัญไปด้วย เช่น โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งยกทัพมาตีเมืองสวรรคโลกก็พ่ายแพ้แก่กองทัพไทย กองทัพพม่าซึ่งยกมาตีเมืองพิชัย (อำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ก็พ่ายแพ้แก่กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาพิชัยซึ่งสู้กับพม่าจนดาบหักคามือ ได้แสดงวีรกรรมของไทยเป็นการข่มขวัญพม่า
พระเจ้าตากสินได้ปฏิบัติการทางจิตวิทยา และทำสงครามจิตวิทยาทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์เก่งกล้าสามารถเพียงใด เป็นการข่มขวัญก๊กต่างๆ ซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินให้สงบราบคาบ มิคิดจะต่อสู้หรือทำตนเป็นปรปักษ์ต่อพระองค์ต่อไป เป็นผลให้พระองค์มีกำลังใจในการกอบกู้เอกราชของชาติไทย
ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือ ในคราวเข้าตีเมืองจันทบุรี ซึ่งขณะนั้นมีป้อมค่ายแข็งแรง และกองทัพของจันทบุรีก็ยังแข็งแรงทุกอย่าง เสบียงก็มีพร้อม แต่ไม่ให้ความ ร่วมมือกับพระเจ้าตากสิน ก่อนที่จะเข้าตีจันทบุรีในคืนนั้นพระเจ้าตากสินสั่งทหารว่า
“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพรให้เททิ้งอาหารที่เหลือ และต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมด ทีเดียว”
การกระทำของพระองค์เสมือนหนึ่งการประกาศล่วงหน้าแห่งความมีชัย ในที่สุดก็สามารถเข้าตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ
…………………………………………………………………
กรณี “อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี”
ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๓๑๘ พม่าได้จัดกองทัพให้อะแซหวุ่นกี๊ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของไทย สงครามครั้งนี้เป็นศึกใหญ่กว่าทุกคราวในสมัยกรุงธนบุรี มูลเหตุของสงครามครั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้กอบกู้เอกราช และขับไล่พม่าออกจากเมืองไทยไปนั้นพม่ากำลังทำสงครามติดพันอยู่กับจีน เมื่อเสร็จศึกจากจีนแล้ว พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าดำริจะมาตีเมืองไทยอีก โดยจะยกกองทัพไปยึดเมืองเชียงใหม่เสียก่อนแล้วจึงพุ่งลงสู่กรุงธนบุรี ส่วนอีกทางหนึ่งจะยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์
แต่กองทัพไทยยกไปตีเมืองเชียงใหม่ก่อน ส่วนทางด่านเจดีย์สามองค์พม่า ก็ไม่อาจยกมาได้เพราะพวกมอญแข็งเมือง พม่าจึงต้องเสียเวลาปราบกบฏมอญ หลังจากนั้นจึงยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตั้งใจจะยึดหัวเมืองเหนือก่อนจึงจะไปตีกรุงธนบุรี
ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรียังควบคุมกองทัพอยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อได้ข่าวศึกก็ยกทัพลงมาป้องกันเมือง พิษณุโลกไว้ ทางฝ่ายพม่าเมื่อยกกองทัพมาแล้ว ก็ได้ไปยึดเมืองสุโขทัยไว้ก่อน แล้วจึงยกขึ้นไปล้อมเมือง พิษณุโลกไว้ เจ้าพระยาจักรีได้คุมพลออกรบเองตีพม่าจนต้องถอยร่นไปหลายครั้ง ทำให้อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าซึ่งเคยรบชนะจีนมาแล้วแปลกใจ ที่กองทัพไทยเข้มแข็งมาก จึงอยากจะขอพบปะกับเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพไทย
เมื่อได้นัดหมายกันเรียบร้อยแล้ว แม่ทัพทั้งสองก็ขี่ม้าออกไปเจรจากัน การเจรจากันกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารไทยความว่า
“อะแซหวุ่นกี้ให้ล่ามถามเจ้าพระยาจักรีว่าอายุเท่าใด เจ้าพระยาจักรีก็ตอบไปว่าอายุได้ ๓๐ เศษแล้วจึงให้ถามถึงอายุอะแซหวุ่นกี้บ้างบอกมาว่าอายุได้ ๗๒ ปี อะแซหวุ่นกี้พิจารณาลักษณะเจ้าพระยา จักรีแล้วสรรเสริญว่า
“ท่านนี้รูปงามฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้า จะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้“
แล้วเอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพันหนึ่ง ดินสอแก้ว ๒ ก้อน น้ำมันดิบ ๒ หม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี เมื่อก่อนอะแซหวุ่นกี้จะกลับไปค่าย ก็ให้ล่ามบอกเจ้าพระเจ้ายาจักรีว่า “จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้”
เมื่อเจ้าพระยาจักรีรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้ ๔ เดือน เห็นว่าเสบียงอาหารขาดแคลนกองทัพกรุงธนบุรีซึ่งยกมาช่วยก็ไม่สามารถขับไล่พม่าไปได้ จึงยกกำลังและผู้คนออกจากเมืองพิษณุโลกตีฝ่ากองทัพพม่าออกไปได้ เป็นอันว่าอะแซหวุ่นกี้สามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้ตามที่ลั่นวาจาไว้
ประวัติศาสตร์ตอนนี้เป็นตัวอย่างของการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ สนับสนุนวัตถุประสงค์ของชาติอย่างดียิ่ง โดยอะแซทวุ่นกี้แม่ทัพพม่าได้ใช้การพบปะเจ้าพระยาจักรีแล้วกล่าวยกย่องเจ้าพระยาจักรี ซึ่งนอกจากจะก่อความแตกแยกกันระหว่างแม่ทัพไทยกับพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้แล้ว ยังสร้างความหวังให้กับเจ้าพระเจ้าจักรีอีกด้วย
ยิ่งกว่านั้นยังใช้มาตรการอื่นๆ คือการมอบของขวัญให้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ข่มขวัญไปในตัวโดยกล่าวว่า “จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเมืองพิษณุโลกให้จงได้”
ทั้งนี้อะแซทรุ่นกี้ทราบดีว่า กองทัพไทยที่รักษาเมืองพิษณุโลกนั้น มีกำลังน้อยกว่าพม่ามากมายย่อมไม่มีทางสู้พม่า จึงแสดงให้เห็นว่าอำนาจทางทหารนั้นเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นอย่างดีและถ้าจะวิเคราะห์ตามหลักนิยมการปฏิบัติการจิตวิทยา พบว่ามีทั้งคำพูดและการกระทำของพม่า ที่สอดคล้องกับหลักนิยมการปฏิบัติการจิตวิทยา ดังนี้
………………………………………………………………
สงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare)
“สงครามจิตวิทยา” (Psywar) เป็นคำเฉพาะที่เพิ่งนำมาใช้เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มานี้เอง แต่พฤติกรรมหรือการดำเนินการทางสงครามจิตวิทยามีมาแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งอาจถูกเรียกเป็นกลยุทธ์กลลวง กลอุบาย ยุยง ยั่วย โฆษณาชวนเชื่อ โดยมีจุดประสงค์ให้ประเทศชาติ กองทัพ ฝ่ายศัตรู อ่อนแอลงด้วยการยุยงให้แตกแยกแตกสามัคคีจนพ่ายแพ้ในที่สุด
ย้อนหลังประวัติศาสตร์ไปกว่า ๒๕๐๐ ปี สงครามจิตวิทยาในรูปแบบของ “กลลวง” ได้ถูกบันทึกใน “Homer’s Iliad” ซึ่งกล่าวถึงชัยชนะของกองทัพเรือกรีกต่อเมืองทรอย (Troy) ด้วย “ยุทธวิธีกลม้าไม้”โดยกองทัพกรีกได้สร้างม้าไม้ขนาดมหีมาให้ทหารกรีกซ่อนตัวอยู่ภายในม้า แล้วให้กำลังส่วนใหญ่ทำที่ถอนทัพเรือกลับ ทหารเมืองทรอยหลงเชื่อจึงเปิดประตูนำม้าไม้เข้าเมือง ตกดึกทหารกรีกได้ออกจากที่ช่อนตัวเปิดประตูเมือง นำกำลังเข้าโจมตีทำให้เมืองทรอยพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
ชัยชนะของทหารเรือกรีกจากกรณีของ “ม้าไม้แห่งเมืองทรอย (Trojan horse)” เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์สงครามจิตวิทยา ที่ได้รับการกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้
หลักฐานเก่าแก่พอๆ กับ “Trojan horse” บันทึกในคัมภีร์ Bible กล่าวถึงการป้องกันเมืองเยรูซาเล็มของไกดอน (Gideon) จากพวกมิเดียไนต์ (Midianites) โดยใช้สงครามจิตวิทยาในรูปแบบของกลลวงผสมผสานกับความตื่นตระหนกของศัตรู โดยใช้ทหาร ๓๐๐ คน แต่ละคนมี “แตรเดี่ยวและคบไฟ”วางกำลังโอบล้อมศัตรูในเวลากลางคืน เมื่อได้เวลาเข้าปฏิบัติการ เขาสั่งให้ทหารทุกคนจุดคบไฟและเป่าแตรเดี่ยวพร้อมๆ กัน ทหารมิเดียไนต์ถูกปลุกขึ้นท่ามกลางความตื่นตระหนก ถึงต้องต่อสู้กันเองล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทหารของไกดอนจึงฉวยโอกาสเข้าโจมตีซ้ำจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด
อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ ๑๓ กองทัพเจงกิสข่านได้แสดงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ด้วยการครอบครองดินแดนเกือบค่อนโลก โดยชัยชนะเหนือเอเซียและยุโรป พวกมองโกลได้ใช้สงครามจิตวิทยาในหลายรูปแบบ เช่น การสร้างข่าวลือ การแสดงลวงและเทคนิคสงครามจิตวิทยาต่างๆ เพื่อสร้างภาพกองทหารม้ามองโกลจำนวนมหาศาล ไปปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันทั่วสนามรบพร้อมๆ กัน การยุทธ์ในบางครั้งใช้ทหารม้ามองโกลเพียง ๕-๖ คนก็สามารถเข้ายึดและสามารถควบคุมเมืองทั้งเมืองไว้ได้เพราะศัตรูเกิดความหวาดหวัน เกรงกลัวและไม่แน่ใจว่าเบื้องหลังของทหารม้ามองโกล ๕-๖ คนนี้ จะมีกำลังทหารมองโกลเรือนแสน เคลื่อนที่ติดตามมาเพื่อเข้าโจมตีในระลอกต่อๆ ไปหรือไม่
นอกจากนี้กองทัพมองโกลได้ใช้ขีดความสามารถของจารชนในการปล่อยข่าวลือ กระพือความเหี้ยมโหด ความเป็นนักฆ่าของกองทหารม้ามองโกล เพื่อทำให้ฝ่ายศัตรูเสียขวัญและยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มการสู้รบกัน
สงครามจิตวิทยาเหล่านี้นาซีเยอรมันได้นำมาใช้ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ทั้งมองโกลและนาซีมีจุดอ่อนที่สำคัญในการใช้สงครามจิตวิทยาที่คล้ายๆ กันก็คือ มิได้นำสงครามจิตวิทยามาใช้กับประเทศที่ถูกยึดครองในยามสงบอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่าภายหลังย่ำทัพผ่านไปไม่กี่ปี ประเทศที่ถูกยึดครองก็พลิกฟื้นตัวกลายมาเป็นศัตรูที่เข้มแข็งได้อีก
…………………………………………………………………
สงครามปฏิวัติอเมริกา
สงครามปฏิวัติที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ปรากฏว่ามีการใช้การโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง เช่น คำกล่าวที่ว่า “จงอย่ากดขี่ข้าพเจ้า” และ “จงให้อิสรภาพแก่ข้าพเจ้าหรือไม่ก็ฆ่าข้าพเจ้าเสีย” นับได้ว่ามีผลในทางชักชวนอย่างใหญ่หลวงและนิยมใช้กันมาก ใบปลิวฉบับหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีเลิศสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อในสนามรบ เป็นใบปลิวที่นำไปทิ้งให้แก่ทหารรับจ้างของอังกฤษในตอนต้นของการสู้รบรอบเมืองบอสตัน มีข้อความและรูปร่างดังนี้
………………………………………………………………
สงครามโลกครั้งที่ ๑
มีการใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารในการปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างกว้างขวาง สำหรับ “วิทยุ”นั้นไม่ค่อยแพร่หลายนัก แต่ได้มีการนำเอา “บอลลูนและปืนใหญ่” มาใช้เป็นประโยชน์ในการทิ้งใบปลิวและ สิ่งพิมพ์อื่นๆ ลงในแนวหน้า ปรากฏว่าในช่วงต้นสงครามทั้งสองฝ่ายได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหาพรรคพวก หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเป็นกลางหันไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
การที่สหรัฐฯได้เข้าร่วมในสงครามนั้น เนื่องจาก “คำประกาศ ๑๔ ข้อ” ของประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะในเนื้อหาได้กล่าววิงวอนต่อชาวโลกโดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม โดยเสนอให้มีสันติภาพที่เที่ยงธรรม มีการจัดตั้ง “องค์การสันนิบาตชาติ” และการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศที่ประชาชนถูกกดขี่
………………………………………………………………
สงครามโลกครั้งที่ ๒
หลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะระเบิดขึ้น นาซีเยอรมันได้ใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อทุกชนิด เพื่อสร้างเรื่องราวความยิ่งใหญ่อันไม่มีใครจะสามารถเอาชนะได้ สมรรถนะของเครื่องจักรกลในการทำสงครามของนาซีได้ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างน่าเกรงขาม จนสามารถกล่าวได้ว่า การปฏิบัติการจิตวิทยาของเยอรมันนั้นมีส่วนช่วยสำคัญในการทำลายขวัญของชาวโปแลนด์และบรรดาประเทศที่ด้อยกว่า ในขณะที่ฮิตเลอร์ได้ยาตราทัพเข้าสู่ประเทศเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็น “มนุษย์วิเศษ” ของเยอรมันก็ถูกทำลายลงไปอย่างช้าๆ โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้นำเครื่องมือการติดต่อสื่อสาร เช่น วิทยุ, เครื่องขยายเสียงและใบปลิวมาใช้ในการปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันอย่างกว้างขวาง และได้ประสาน การปฏิบัติการจิตวิทยากับการปฏิบัติการทางทหารด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยมีสหรัฐฯ เป็น ผู้นำสำคัญใน การปฏิบัติการสงครามจิตวิทยา
ซึ่งสหรัฐฯ ได้นำคำว่า “สงครามจิตวิทยา” มาใช้ในรูปแบบของ การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และต่อมาในปีค.ศ.๑๙๔๑ สหรัฐฯ ได้ริเริ่มจัดตั้ง “สำนักงานประสานด้านข่าวสาร (The Office of the Coordinator of Information)” ตามคำสั่งประธานาธิบดี มีหน้าที่รวบรวมและรายงานข่าวสารทั้งปวง เพื่อความมุ่งหมายทางการเมือง สำนักงานนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาในเวลาต่อมา
………………………………………………………………
การปฏิบัติการจิตวิทยาของฝ่ายสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่สหรัฐฯจะดำเนินการตอบโต้ต่อกลุ่มก่อการร้ายของนายบิน ลาเดน ที่อยู่ใน อัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธศาสตร์ ด้วยการดำเนินกิจกรรมทาง จิตวิทยาในฝ่ายเดียวกัน อันได้แก่ประชาชนอเมริกัน กลุ่มประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มนาโต้ เพื่อให้ได้รับความชอบธรรมในการตอบโต้ตัวการก่อการร้ายครั้งนี้ และสหรัฐฯ ยังได้ดำเนินกิจกรรมทางจิตวิทยา ต่อกลุ่มเป็นกลาง ได้แก่ ประเทศรัสเซีย จีน และประเทศมุสลิมทั่วโลก เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในการส่งกำลังเข้าโจมตีต่อกำลังตาลีบันและอัลเคดาร์
สหรัฐฯ ได้อาศัยสื่อที่สำคัญคือโทรทัศน์ CNN และ BBC ที่มีเครือข่ายถ่ายทอดไปทั่วโลก ในการเผยแพร่ภาพความหายนะที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายในครั้งนี้ ให้กับประชาชนอเมริกันและประชาคมโลกได้เห็นถึงความโหดร้ายของการก่อการร้ายที่ได้คร่าชีวิตประชาชนอเมริกันและเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์กว่า ๖ พันคน
ประธานาธิบดีของจอร์จ บุช ของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าผู้ก่อการร้ายสามารถทำลายทรัพย์สินของสหรัฐฯได้ แต่ไม่สามารถที่จะทำลายความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนอเมริกันได้
สภาคองเกรสได้อำนาจประธานาธิบดี บุช ในการเปิดสงครามกับอัฟกานิสถานและกลุ่มก่อการร้ายของนายบิน ลาเดนและประกาศโจมตีทุกประเทศที่ให้การสนับสนุน หรือที่พักพิงต่อกลุ่มก่อการร้าย
สหรัฐฯได้ดำเนินกิจกรรมทางจิตวิทยาต่อกลุ่มเป้าหมายเป็นกลางด้วยวิธีทางการทูต โดยให้พลเอกคอนลิน เพาเวลย์ รัฐมนตรีต่างประเทศเดินสายร้องขอการสนับสนุนจากประชาคมโลก เพื่อให้คล้อยตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ การปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธศาสตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้แต่คู่แข่งของสหรัฐฯ ในสงครามเย็นต่างให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการตอบโต้การก่อการร้าย
จีน ออกมาสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเต็มตัว
หลังจากสหรัฐฯได้ให้การรับรองเข้าเป็นสมาชิกของ WTO หรือองค์กรการค้าโลก และจีนเองก็ประสบปัญหาการก่อการร้ายของกลุ่มมุสลิมในแคว้นซินเจียง ส่วนรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะช่วยสหรัฐฯ จัดการกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดาร์ของนายบินลาเดน หลังจากที่เคยประสบกับความพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน และรัสเซียเองก็ประสบปัญหาภายในประเทศ จากการก่อการร้ายของชาวมุสลิมในแคว้นเชชเนียที่นายบิน ลาเดนหนุนหลังอยู่เช่นเดียวกัน
การดำเนินการด้วยวิถีทางการทูตของสหรัฐฯ ต่อจีนและรัสเซีย โดยอาศัยเงื่อนไขศัตรูกลุ่มเดียวกัน จึงเป็นการชักจูงให้ทั้งสองประเทศสนับสนุนสหรัฐฯในการตอบโต้การก่อการ ร้ายได้อย่าง ไม่ต้องเสียเวลาในการชักแม่น้ำทั้งห้า
นอกจากวิถีทางการทูตแล้ว สหรัฐฯ ยังใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธศาสตร์ด้วยการใช้การดำเนินกิจกรรมทางจิตวิทยา เสนอมาตรการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออินเดียและปากีสถาน เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปากีสถานเองเป็นประเทศเดียวที่ยังคงให้การรับรองรัฐบาลตาลีบัน
รัฐบาลของปากีสถานภายใต้การนำของนายพล มุชาราฟจำต้องยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ ในการให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อสู้การก่อการร้ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของปากีสถานที่ตกต่ำจากการถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลก
การปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธวิธีของสหรัฐฯ ต่อกลุ่มที่เป็นศัตรูอันได้แก่รัฐบาลตาลีบันและประชาชนอัฟกานิสถานและกลุ่มของบิน ลาเดน สหรัฐฯ ได้ใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาทั้งก่อนและระหว่างการรบก่อนใช้กำลังถล่มอัฟกานิสถาน
สหรัฐฯ ได้ใช้สื่อโทรทัศน์ CNN และBBC แพร่ภาพการเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังทางทหารของสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า”ปฏิบัติการยุติธรรมไร้ขอบเขต (OPERATION INFINITE JUSTICE) ที่ใช้เครื่องบินรบกว่า ๑๐๐ ลำและเรือบรรทุกเครื่องบินกว่า ๑๕๐ ลำ หน่วยปฏิบัติการพิเศษกว่า ๑,๐๐๐ นาย ประกอบด้วย หน่วยเดลต้า (Delta Force) ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบต่อต้านการก่อการร้าย,หน่วยจู่โจม(RANGER),หน่วยรบพิเศษ (Special Force)หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (SEAL) และหน่วยรบพิเศษเอส เอส เอ (Special Air Service) ของอังกฤษเพื่อแสดงแสนยานุภาพให้รัฐบาลตาลีบันและกองกำลังของบิน ลาเดนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่คิดจะต่อสู้กองกำลังของสหรัฐฯ และพันธมิตร
นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งอาหารบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนชาวอัฟกานิสถานที่ลี้ภัยการสู้รบไปอยู่ตามแนวชายแดน เพื่อให้ประชาชนอัฟกันได้ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ และเป็นการสร้างภาพว่าสหรัฐฯจะปฏิบัติการทางทหารต่อกำลังตาลีบันและกลุ่มอัล เคดาห์เท่านั้น ส่วนประชาชนที่ไม่สนับสนุนกลุ่มดังกล่าว จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากสหรัฐฯ
การปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธวิธีของสหรัฐฯต่อเป้าหมายของประชาชนชาวอัฟกันในระหว่างการรบสหรัฐนั้นได้ใช้เครื่องบิน MC-amo Commando Solo ปฏิบัติการทิ้งใบปลิวเพื่อโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชนอัฟกันเพื่อสร้างความเข้าใจและชี้แจงต่อประชาชนว่า เป้าหมายของสหรัฐฯ คือ ผู้ก่อการร้ายและขบวนการอัล เคดาห์และผู้สนับสนุนไม่ใช่ประชาชนชาวอัฟกัน การปฏิบัติการจิตวิทยาทางยุทธวิธีของสหรัฐฯต่อเป้าหมายทหารตาลีบันและกลุ่มอัล เคดาห์ในระหว่างการรบสหรัฐฯได้ใช้เครื่องบิน MC-amo Commmando Solo ทิ้งใบปลิวและเครื่องบิน UH-ONs ทำการกระจายเสียงทางอากาศในพื้นที่อัฟกานิสถานเนื้อหาของใบปลิวและการกระจายเสียงเรียกร้องให้ทหารตาลีบันยอมแพ้เข้ามามอบตัวหรือหนีออกจากการสู้รบ
นอกจากการทิ้งใบปลิวและการกระจายเสียงทางอากาศแล้ว มีรายงานว่าสหรัฐฯได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงลอยฟ้าหรือสถานีวิทยุกระจายเสียงของกลุ่มประเทศมุสลิมบางประเทศที่ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ แพร่คลื่นกระจายเสียงเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวจูงใจเป้าหมายให้ชาวอัฟกันหลงเชื่อคล้อยตาม และหันมาให้การสนับสนุนสหรัฐฯ และจากการที่มีการใช้สงครามชีวภาพคุกคามพลเมืองอเมริกันด้วยการแพร่เชื้อแอนแทร็กซ์ ขณะที่หลักฐานยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ผู้ใดเป็นคนทำสหรัฐฯ ก็ออกข่าวโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอัล เคดาห์ที่ตอบโต้ จากการที่สหรัฐฯ ใช้กำลังเข้าโจมตีอัฟกานิสถาน ซึ่งการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะสีเทาของสหรัฐฯนั้นต้องการให้ประชาคมโลกเกิดความโกรธแค้นฝ่ายตาลีบันและอิรัก
…………………………………………………………………
จิตวิทยากับสงครามปฏิวัติ
นักคิดทางยุทธศาสตร์สงครามกองโจรที่สำคัญ คือ เหมาเจ๋อตุง ได้กล่าวถึง หนทางไปสู่ชัยชนะในสงครามยืดเยื้อ ต้องดำเนินตามแนวทาง๔ ประการ คือ ทางการทหาร, การเมือง จิตวิทยาและด้านเศรษฐกิจ
จะเห็นได้ว่าเหมาเจ๋อตุงมุ่งเน้นถึง “การดำเนินการทางด้านจิตวิทยา” เป็นหนึ่งในสีของการไปสู่ชัยชนะในการทำสงครามยืดเยื้อ เพื่อการปฏิวัติจีน
คาลอส มาริเกลล่า นักทฤษฎีการก่อความไม่สงบในเมืองได้เขียนหนังสือชื่อ “สงครามกองโจรในเมือง” (Minimaunual of the Urban Guerrilla) และเป็นผู้นำขบวนการก่อการปฏิวัติในประเทศบราซิลได้ให้ความสำคัญของ “สงครามจิตวิทยา” ว่าเป็นลักษณะหนึ่งของสงครามปฏิวัติ (สงครามปฏิวัติประกอบด้วย สงครามกองโจรในชนบท สงครามกองโจรในเมืองและสงครามจิตวิทยา)
…………………………………………………………………
ความหมายการปฏิบัติการจิตวิทยา
จากเอกสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรากฏว่าได้มีผู้เขียนหรือให้คำจำกัดความของการปฏิบัติการ จิตวิทยาแตกต่างกันออกไป และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้อยู่กับความมุ่งหมายที่จะทำให้ข้อความนั้นเหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้ มากกว่าที่จะมุ่งไปในการค้นหาว่าการปฏิบัติการจิตวิทยานั้นคืออะไร?
จากคู่มือราชการสนาม ๓๓-๑ การปฏิบัติการจิตวิทยา ปี ค.ศ.๑๙๘๗ ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของการปฏิบัติการจิตวิทยาว่า “กิจกรรมที่ได้วางแผนไว้แล้วเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ และกิจกรรมทางจิตวิทยา ทั้งในยามสงบและยามสงคราม กระทำต่อฝ่ายข้าศึก, ฝ่ายเดียวกัน และฝ่ายเป็นกลาง ทั้งด้านการเมืองและการทหาร ทั้งในระดับยุทธศาสตร์, ยุทธการ และระดับ ยุทธวิธี”
ความหมายของการปฏิบัติการจิตวิทยา โดยคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ (๓๐ ส.ค.๑๗) หมายถึง “การปฏิบัติกิจกรรมทั้งปวงในด้านการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และ สังคม ที่กระทำต่อเป้าหมายต่างๆ ทั้งฝ่ายตรงข้าม, ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายเดียวกัน ทั้งในยามปกติและยามสงคราม เพื่อก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดเห็น อารมณ์ ทัศนคติ และพฤติกรรมของเป้าหมายในทางที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติ”
ความหมายของการปฏิบัติการจิตวิทยา ตามหลักนิยมกิจการพลเรือนกองทัพบก พ.ศ.๒๕๒๕ หมายถึง “การเผยแพร่ข่าวสาร ความคิดเห็น ลัทธินิยม หรือการจูงใจต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการอื่นๆตามแผนที่ได้วางไว้จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เพื่อให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการในวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชาติ”
สรุปความหมายการปฏิบัติการจิตวิทยา คือ
๑. การปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้
๒. กำหนดเป้าหมายหรือกลุ่มเป้าหมาย
๓. เป้าหมายเปลี่ยนแปลงท่าทีและพฤติกรรม
๔. กระทำเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ของชาติ หรือหน่วยทหาร
๗. ความสำคัญการปฏิบัติการจิตวิทยา
………………………………………………………………
การปฏิบัติการจิตวิทยา
ปัจจุบันการปฏิบัติการจิตวิทยาได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของชาติ โดยดำเนินการผสมผสานกับเครื่องมือหลักอีก ๓ ประการ คือการดำเนินการทางการเมือง การดำเนินการทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการทางทหาร
การปฏิบัติการจิตวิทยา ถือเป็นอาวุธหลักของสงครามสมัยใหม่ ปัจจัยทางจิตวิทยา เป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่ง อันจะขาดเสียมิได้ในการปฏิบัติการทุกเรื่องในสนามรบ
ตลอดจนการต่อสู้กับสภาพลมฟ้าอากาศ ผลกระทบทางจิตวิทยาจะมีต่อบุคคลเป้าหมาย ทั้งที่เป็นฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายเป็นกลางและฝ่ายข้าศึก ผลทางจิตวิทยาที่มีต่อการปฏิบัติการรบนั้น อาจเห็นได้จากการมีขวัญดีของทหารในหน่วยที่ประสบความสำเร็จและมีชัยชนะ หรือการขาดความกล้าหาญหรือบังเกิดความหวาดกลัวของกำลังพลในหน่วยที่ประสบความพ่ายแพ้
ดังนั้นการส่งเสริมการปฏิบัติการจิตวิทยาที่ถูกต้องและเหมาะสม ย่อมสามารถปรับแก้พฤติกรรมและประสิทธิภาพในการรบของทหารและหน่วยได้ การใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นอาวุธหลัก โดยมุ่งต่อจิตใจของบุคคลเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามแล้ว อาจทำให้ฝ่ายเราได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วและประหยัดทรัพยากรทางทหาร เพราะการปฏิบัติการจิตวิทยา จะสามารถลดขวัญและกำลังใจ
………………………………………………………………
วัตถุประสงค์การปฏิบัติการจิตวิทยา
วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการจิตวิทยา คือการพัฒนาท่าทีหรือความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ
ก. วัตถุประสงค์ทางสร้างเสริม
๑) สร้างภาพพจน์ที่ดี
๒) สร้างค่านิยมให้เกิดการยอมรับและความร่วมมือ
๓) ให้บริการข่าวสารแก่ประชาชน
๔) ลบล้างและต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้าม
๕) สร้างความคิดที่มุ่งต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ
ข. วัตถุประสงค์ทางทำลาย
๑) ขยายผลความล่อแหลมและข้อผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม
๒) ลดประสิทธิภาพของฝ่ายตรงข้าม
๓) ทำลายความเชื่อมั่น ขวัญและกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม
๔) ทำให้เกิดความแตกแยกของฝ่ายตรงข้าม
๕) ยุยงให้เกิดการเอาใจออกห่าง
………………………………………………………………
คุณลักษณะการปฏิบัติการจิตวิทยา
ก. เป็นอาวุธในการสนับสนุนการปฏิบัติการอื่น ๆ
ข. ใช้การโฆษณาชวนเชื่อและกิจกรรมต่างๆ เข้าดำเนินการ
ค. เป็นอาวุธเชิงรุกสำคัญในการเข้าตีเป้าหมายที่เป็นจิตใจของบุคคลให้มีผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรม
ง. สอดคล้องกับนโยบายของชาติและผสมผสานกับการปฏิบัติการ ทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
จ. เป็นอาวุธที่มีคุณค่าต่อสงครามทุกรูปแบบ