พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ไม่เคยมีสอนในห้องเรียน
พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรในพงศาวดารไทยมีอยู่มากมาย แต่ผู้จดบันทึกไม่เคยบันทึกเรื่องของพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดาเอาไว้เลย
แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับมีปรากฏอยู่ในเอกสารของชาวต่างชาติถึง ๕ ฉบับ ได้เแก่
………………………………………………………………….
• จดหมายเหตุของบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา ของสเปน
จดหมายเหตุของสเปนชื่อ History of Philippines and Other Kingdoms ของ Marcelo de Ribadeneira O.F.M ถูกเขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันอีกที ซึ่งเคยพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในช่วงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา ถึงต้นรับกาลสมเด็จพระนเรศวร บันทึกเอาไว้ว่า
“…ครั้งหนึ่งบาทหลวงฟรานซิสกัน ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับในเรือพระที่นั่ง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระอารามแห่งหนึ่ง มีเรือสี่ลำ แล่นล่วงหน้าไปก่อนเรือพระที่นั่ง เพื่อดูแลความปลอดภัย
ตามติดมาอย่างใกล้ชิด เป็นเรืออีกหลายลำที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยเรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประจำเรืออย่างน้อย ๑ คน
มีพระราชกุมารพระองค์เยาว์ อยู่ในเรือหนึ่งลำ และสมเด็จพระอัครมเหสีอยู่อีกลำ”
………………………………………………………………….
• คำให้การของขุนหลวงหาวัด หรือคำให้การของชาวกรุงเก่า เป็นพระราชพงศาวดารไทย ฉบับพม่าที่จดบันทึกเป็นภาษามอญ
ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระนเรศวร จัดพระราชพิธีปราบดาภิเษก แล้วมีการถวายพระมเหสี พระนามว่า “พระมณีรัตนา” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าล้านช้าง
โดยพระองค์มีพระราชโอรสด้วยกัน เท่าที่ค้นได้ ๑ พระองค์ และพงศาวดารพม่าระบุว่าทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ ซึ่งต่อมาอภิเษกกับพระราชโอรสของพระเจ้าเชียงใหม่
………………………………………………………………….
• โยธยามี้พระญา (พระมเหสีอยุธยา) ในพงศาวดารพม่า
เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้าเชียงใหม่ ทรงถวายพระพระราชธิดาให้กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ภายหลังพระนางได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวร
………………………………………………………………….
• เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ ในจดหมายเหตุฟาน ฟลีต ของฮอลันดา
จดหมายเหตุของฟานฟลีต หรือที่คนไทยรู้จักในนาม”วัน วลิด” หัวหน้าสถานีการค้าอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้กล่าวถึงพระชายาม่าย
โดยในฉบับภาษาอังกฤษเขียนพระนามเอาไว้ว่า… เจ้าขรัวมนีจันทร์(Zian Croa Mady Tjan)
ส่วนต้นฉบับภาษาฮอลันดา เขียนว่า “เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ “Tjau Croa Mahaddij Tjan”
พระองค์มีพระชนมชีพอยู่จนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม โดยพระองค์มีบทบาทที่สำคัญในสำนักฝ่ายใน
………………………………………………………………….
• พระเอกกษัตรีย์ พระมเหสีในพงศาวดารละแวก (เขมร)
เมื่อพระนเรศวรตีเมืองละแวกแตก กษัตริย์กัมพูชาได้หนีไปซ่อนตัวอยู่เมืองศรีสันธร ส่วนพระศรีสุริโยพรรณ พระอนุชาที่เป็นพระอุปราชยอมแพ้ สมเด็จพระนเรศวรได้นำตัวกลับมาไทยเพื่อเป็นเชลยศักดิ์
ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดให้แต่งตั้ง “พระเอกกษัตรีย์” เป็นพระมเหสี
………………………………………………………………….
เราคนไทยไม่เคยรู้เลยว่าสมเด็จพระนเรศวรมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาหรือไม่ รวมทั้งไม่เคยรู้ว่ามีพระมเหสีกี่พระองค์
เอกสารจากการจดบันทึกของชาวต่างชาติ เป็นหลักฐานที่มีค่า ช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ของชาติไทยเอาไว้
แต่เรื่องราวต่อมาของพระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเช่นไร ยังคงลึกลับอยู่ต่อไป รอวันเวลาที่จะมีผู้ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันใหม่ต่อไป
………………………………………………………………….
อัษฎางค์ ยมนาค
ภาพประกอบ :
ภาพลายเส้นแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดย บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ในหนังสือ Voyage de Siam