
ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแบบของปิยะบุตร
ปิยะบุตรเรียนจบกฎหมายจริงมั้ย?
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
……………………………………………………………………
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ ปิยะบุตร โพสต์ข้อความในหัวข้อ
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ ความจำเป็นของยุคสมัย
๑. ปิยะบุตร ตั้งคำถามว่า…
หลักประชาธิปไตยง่ายๆ คือ
(๑)อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
(๒)ดังนั้นการใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน
(๓)เมื่อองค์กรใดใช้อำนาจรัฐไปแล้ว ต้องสามารถถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ ทั้งรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี
อัษฎางค์ ตอบ…
(๑)อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
*รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติว่า
*อํานาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด เป็นของประชาชน
มาตรา ๓ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
(๒)การใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน
เริ่มต้น ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎร(สส.) เข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน หลังจากนั้น ผู้แทนราษฎร(สส.)เป็นผู้เสนอและเลือกตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
*จะเห็นได้ว่า การใช้อำนาจรัฐทั้งหลายเหล่านั้นเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน
*ทำไมปิยะบุตรไม่รู้กฎหมายพวกนี้
*ว่ากฎหมายพวกนี้มีอยู่แล้ว ทำไมยังต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
(๓)เมื่อองค์กรใดใช้อำนาจรัฐไปแล้ว ต้องสามารถถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ ทั้งรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี
อำนาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น
• อำนาจนิติบัญญัติ ผู้ที่ใช้อำนาจนี้คือ รัฐสภา ทำหน้าที่ตรากฎหมาย
• อำนาจบริหาร ผู้ที่ใช้อำนาจนี้คือ รัฐบาล ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
• อำนาจตุลาการ ผู้ที่ใช้อำนาจนี้คือ ศาล ทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมาย
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วยการถ่วงดุลอำนาจ
• ฝ่ายนิติบัญญัติควบคุม ตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดย
(๑) การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
(๒) คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
(๓) การตั้งกระทู้ถาม ทั้งกระทู้ทั่วไปและกระทู้ถามสด
(๔) การเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
• ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ด้วยการยุบสภา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสิ้นสุดวาระก่อนกำหนด และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
• ฝ่ายตุลาการควบคุมฝ่ายบริหาร ได้ด้วยการมีอำนาจในการพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความผิดในคดีอาญาใช้ อำนาจรัฐนอกเหนือกฏหมายบัญญัติไว้
• ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม หรือถ่วงดุลอำนาจองค์การฝ่ายตุลาการ ได้ด้วยกระบวนการควบคุม อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการถอดถอนจากตำแหน่ง
• ฝ่ายตุลาการ มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมหรือถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติได้ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคดีทั่วไป องค์กร
*จะเห็นได้ว่า เมื่อองค์กรใดใช้อำนาจรัฐไปแล้ว สามารถถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ทั้งรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
*ทำไมปิยะบุตรไม่รู้กฎหมายพวกนี้
*ว่ากฎหมายพวกนี้มีอยู่แล้ว ทำไมยังต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
……………………………………………………………………
๒. ปิยะบุตร ตั้งคำถามว่า…
ประชาธิปไตยบอกว่าถ้าคุณใช้อำนาจรัฐ ก็ต้องถูกตรวจสอบ ดังนั้น ต้องถามต่อว่าต้องการให้พระมหากษัตริย์มีความรับผิดชอบในการกระทำของตนเองหรือไม่
อัษฎางค์ ตอบ…
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติว่า
มาตรา ๖ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา ๖ ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการกำหนดไปโดยปริยายว่า
(๑) พระมหากษัตริย์จะต้อง “ทรงอยู่เหนือการเมือง” โดยการวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ด้วยการปลีกพระองค์จากปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการมืองในที่สาธารณะ
(๒) พระมหากษัตริย์จะต้อง “ทรงอยู่เหนือความรับผิดทางการเมือง” ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ (The King can do no wrong) สาเหตุพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ ก็เนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงนั้น เป็นบทบาท อำนาจและหน้าที่ของนักการเมืองและข้าราชการ พระมหากษัตริย์ทรงเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินน้อยและเป็นไปเท่าที่รัฐธรรมนูญอนุญาตเท่านั้น
หลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นี้ จึงเป็นที่มาของ “การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือการทำการลงนามกำกับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ป็นประมุข ด้วยเหตุผล
ก. เพื่อเป็นการรับรองพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นพระปรมาภิไธยอันแท้จริง
ข. เพื่อให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้
ทั้งนี้ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ โดยตรง เช่น
ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้าน
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี
ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี
กฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) มีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนกฏหมายที่เป็นพระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
*จะเห็นได้ว่า กิจกรรมทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ล้วนเกิดจากนักการเมือง ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ดังนั้น ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในกิจกรรมทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ทำไมต้องให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย?
คำตอบคือ เพราะประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การลงพระปรมาภิไธยจึงเป็นไปตามหลักการ “พระมหากษัตริย์ในรัฐสภา” หรือ The King-in-Parliament ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ของประเทศอังกฤษ ที่รัฐสภาจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่แท้จริงของประเทศ
ทั้งนี้ ผู้มีบทบาทที่แท้จริงในกระบวนการนิติบัญญัติคือ รัฐสภา
และผู้มีบทบาทที่แท้จริงในการบริหารราชการคือ รัฐบาล
รวมทั้งผู้มีบทบาทที่แท้จริงในกระบวนการยุติธรรมคือ ศาล
มิใช่พระมหากษัตริย์
*ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมทั้งปวง เพราะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือผู้ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทที่แท้จริงในกิจกรรมทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน
*ทำไมปิยะบุตรไม่รู้กฎหมายพวกนี้
*ว่ากฎหมายพวกนี้มีอยู่แล้ว ทำไมยังต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
…………………………………………………………………..
๓. ปิยะบุตร ตั้งคำถามว่า…
หากไม่อยากให้พระมหากษัตริย์ต้องมีความรับผิดชอบ ก็ต้องเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้
อัษฎางค์ ตอบ…
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้ “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
ปิยะบุตรอ่านกฎหมายไม่เป็นจริงๆ หรือ
มาตรา ๓ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าอย่างไร กลับขึ้นไปอ่านคำถามและคำตอบตามข้อ ๑.และข้อ ๒. ด้านบน ซึ่งอธิบายไว้อย่างละเอียดและชัดเจนแล้ว
*ทำไมปิยะบุตรไม่รู้กฎหมายพวกนี้
*ว่ากฎหมายพวกนี้มีอยู่แล้ว ทำไมยังต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ปิยะบุตร เรียนจบกฎหมายและเป็นรองศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายจริงหรือ?
ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ของปิยะบุตร:
https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/photos/a.2260389780911559/3082831118667417/?type=3
…………………………………………………………………..