อาชีวศึกษาที่หายไป
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
ผมเคยเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา วันนี้เห็นคลิปนี้ของ ศ.ดร.พี่เอ้ ที่พูดถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาของเวียดนาม ก็เลยอยากมาช่วยย้ำอีกครั้งว่า
ผมเสียดายเมื่อเห็นการศึกษาเมืองไทยที่เปลี่ยนหรือยกวิทยฐานะ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งพัฒนามากจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนระดับปริญญาตรี โท เอก โดยเลิกสนใจการสอนในระดับอาชีวศึกษาไปหมดสิ้น
ผมเห็นด้วยเมื่อสมัยที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพัฒนาไปเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลที่ขยายการศึกษาจาก ปวช ปวส ให้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีรองรับ แต่ไม่เห็นด้วยที่เปลี่ยนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลไปเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนระดับปริญญาอย่างเดียว เพราะเท่ากับตัดวงจรการผลิตช่างฝีมือ ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชาติออกไป
สมัยเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คือความเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาอันดับ 1 ที่ทำให้หางานง่ายเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรองมหาวิทยาลัยอีกมากมาย ทำไมทำแบบกันนี้ครับ
การศึกษาที่ออสเตรเลียก็มีวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่มีชื่อเรียกกันสั้นว่า TAFE (ออกเสียงว่า เทฟ หรือเทป แบบสำเนียงไทย) TAFE ย่อมาจาก Technical and Further Education ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็แปลได้ประมาณว่า วิทยาเทคนิค หรือวิทยาอาชีวศึกษา นั่นเอง
TAFE ก็เหมือนวิทยลัยอาขีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลของไทยที่มีวิทยาเขตทั่วประเทศ ที่แต่เดิมก็ผลิตแรงงานระดับ ปวช ปวส แต่ปัจจุบันขยายไปถึงปริญญาตรีและประกาศยบัตรบัณฑิต (Graduate certificate) สำหรับผู้เรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่เป็นวุฒิที่ต่ำกว่าปริญญาโท
ระดับปริญญาตรีของ TAFE ก็เน้นการเรียนการสอนที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัย คือเน้นเรื่องการปฏิบัติมากกว่าวิชาการหรือทฤษฎี
ที่สำคัญ ผู้สำเร็จการศึกษาจาก TAFE หรือระดับอาชีวศึกษา ก็มีเงินเดือนไม่ได้ด้อยไปกว่าคนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัย บางสาขาวิชามีเงินเดือนสูงกว่าปริญญาบางสาขาด้วยซ้ำ
ขอยกตัวอย่าง
เมืองไทย การจะเรียนเป็นเชฟ มีเรียนในระดับปริญญา แต่ที่ออสเตรเลียคือการเรียนระดับอาชีวศึกษาเท่านั้น และสามารถมีเงินเดือนและอนาคตเท่ากับหรือสูงกว่าคนจบปริญญาด้วยซ้ำ
คนที่เป็น Executive Chef ในโรงแรมใหญ่ๆ ก็เรียนจบในระดับ ปวช.หรืออย่างมาก ปวส.เท่านั้น แต่ก็ประสบความสำเร็จในอาชีพจนได้เป็น Executive Chef ด้วยวุฒิการศึกษาระดับอาชีวศึกษาพร้อมประสบการณ์ทำงาน
Executive Chef ในโรงแรมใหญ่ๆ ก็คือตำแหน่งเทียบเท่าผู้อำนวยฝ่าย ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายอื่นๆ ส่วนใหญ่จบ MBA หรือปริญญาตรี โทหรือเอก
ทำไมไทยเราต้องมีคนทำอาหารที่ต้องเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัย
คนเป็นแอร์โฮสเตสในเมืองไทยก็ต้องจบมหาวิทยาลัย แต่ในออสเตรเลียรับคนจบมัธยมศึกษาหรืออาชีวศึกษาเท่านั้น แม้แต่อาชีพนักบินพาณิชย์หรือกัปตันเครื่องบินก็รับผู้เรียนจบมัธยมศึกษาเรียนต่อและจบด้วยวุฒิการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเท่านั้น
ค่านิยมของคนไทยเราเน้นความฉาบฉวย และต้องสูงส่งสุดๆ ทำให้เราเห็นคนเรียนจบหมอแล้วยังหาทางหลอกชาวบ้านว่าเป็น ศาสตราจารย์ ดร.เพิ่มเติมขึ้นไปอีก ทั้งที่ความรู้ความสามารถที่มีก็เพียงพอแต่ยังไม่เพียงพอ ยังอยากให้ดูว่าสูงส่งกว่านั้น
………………………………………………………………………….
(ขอออกนอกเรื่องนิดหน่อย)
ถ้าจะอธิบายปริญญาตรีของ TAFE หรือของวิทยาลัยอาชีวศึกษาให้เห็นภาพ ก็ขอยกตัวอย่าง เหมือนปริญญาเอกแบบ PhD ที่เน้นการวิจัย กับ Professional Doctorate เช่น DBA ที่ไม่เน้นการวิจัยแต่เน้นไปเป็นการปฏิบัติ เพราะนักบริหารธุรกิจมาเรียนเพื่อจบไปเป็นนักบริหารไม่ใช่นักวิชาการ
A PhD focuses on academic research, a professional doctorate makes a significant and original contribution to furthering professional practice
MBA ที่ออสเตรเลียก็เช่นกัน ไม่ต้องเรียนวิชา IS และไม่มีการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis หรือ Dissertation) เหมือนหลักสูตรในเมืองไทย เพราะ MBA คือวิชาที่ต้องเน้นไปทางด้าน furthering professional practice คือเรียนเพื่อออกไปเป็นนักบริหารองค์กร ไม่ใช่นักวิชาการ
การศึกษาเมืองไทย บ่งบอกถึงลักษณะนิสัยหรือค่านิยมของคนไทยคือ ชอบทำอะไรยากๆ อลังการ ทำอะไรที่ดูสูงส่งเข้าไว้ ทั้งที่ความเป็นจริงเด็กไทยไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรที่ยุ่งยากขนาดนั้น และคุณภาพบัณฑิต(ส่วนใหญ่)ก็ไม่ได้สูงส่งจริงตามนั้น
ผมไม่ได้ใส่ร้ายแต่เชื่อได้ว่า เกือบๆ ร้อยทั้งร้อย Thesis หรือวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกก็ตาม ที่ต้องมีบางส่วนเขียนเป็นภาษาอังกฤษนั้นล้วนจ้างคนมาเขียนให้ หรือไม่ก็มีอาจารย์ที่ปรึกษานั้นแหละที่คอยแก้ให้ บางคนร้ายกว่านั้นคือจ้างคนเขียนวิทยานิพนธ์ให้ทั้งเล่ม แล้วอาจารย์หรือกรรมการก็แกล้งปิดตาปิดปากกันไว้
ซึ่งบัณฑิตไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี โทหรือเอกของเราจึงด้อยคุณภาพหรือมีคุณภาพไม่ถึงที่จะได้รับปริญญาจริง
หมายเหตุ คนเรียนเก่งๆ จริงๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ยังน้อยกว่าบัณฑิต มหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิตที่คุณภาพจริงๆ ไม่ถึงปริญญาที่ตนเองรับมา
………………………………………………………………………….
นอกเรื่องมากไปแล้ว กลับมาที่การศึกษาในระดับอาชีวศึกษามีดีอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ลองนึกภาพองค์กรไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน นั้นเป็นภาพปิระมิด ที่ยอดของปิระมิดคือผู้บริหารสูงสุด อาจจะเป็น CEO หรือ ปลัดกระทรวง แล้วก็ลดหลั่นเป็นผู้บริหารระดับรองลงมาตามลำดับ
จนถึงช่วงกลางของปิระมิดก็จะเป็นผู้จักการหรือ Supervisor หัวหน้าและผู้บริหารระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงฐานรากที่ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทั้งสิ้นนั้น เราต้องการบัณฑิตระดับปริญญาหรือช่างเทคนิคหรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษามากกว่ากัน
คำตอบคือ เราต้องการผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมระดับอาชีวศึกษาเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ซึ่งเราต้องการแรงงานระดับนี้เป็นจำนวนมาก แล้วทำไมเราไปผลิตบัณฑิตปริญญามากกว่าอาชีวะศึกษา
………………………………………………………………………….
ผมเสียดายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เป็นวิทยาลัยอาชีวะอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งเราต้องการแรงงานระดับนี้จำนวนมาก
เรามีพระจอมเกล้าลาดกระบังกับธนบุรีที่ผลิตวิศวกรระดับปริญญาอยู่ถึง 2 แห่งแล้วทำไมถึงเพิ่มพระนครเหนือไปอีกแห่ง แล้วให้พระนครเหนือทิ้งนักเรียนอาชีวศึกษาไป
เราทิ้งพาณิชยการพระนคร โรงเรีอนพาณิชย์อันดับหนึ่ง ที่ผลิตคนทำงานระดับสายพาณิชยการ ซึ่งเราต้องการแรงงานระดับนี้จำนวนมาก ไปเป็นมหาวิทยลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญา
เราเคยมีวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิทยาลัยเทคนิคที่ผลิตแรงงานระดับอาชีวศึกษาระดับแนวหน้า แล้วเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเช่นกัน
………………………………………………………………………….
ผมเคยดีใจที่ไทยเราขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่เรียนจบระดับอาชีวศึกษาได้ต่อยอดศึกษาในระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เช่น
ผู้ที่เรียนจบจาก พาณิชย์การพระนคร เทคนิคกรุงเทพ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้ต่อยอดศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาสายที่เน้นการปฏิบัติการที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี หรือหลักสูตรอย่าง อุตสหกรรมศาสตร์บัณฑิตหรือครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ซึ่งการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา จะเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศชาติ ไม่ใช่ทุกคนหวังแต่จะก้าวไปเป็นเจ้าคนนายคนกันทั้งประเทศ แล้วใครจะพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีคุณภาพ
เราต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติเท่านั้นหรือ แล้วแรงงานต่างชาตินั้น เขาเรียนอาชีวศึกษามาหรือไม่
คนเวียดนามในปัจจุบัน เขาตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ กับการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของไทย คนเวียดนามมากรุงเทพฯ แล้วตกใจว่า เมืองไทยก้าวหน้านำเวียดนามได้ขนาดนี้
แต่ชาวเวียดนามหรือแม้แต่ชาวไทยอาจไม่ทันคิดว่า ไม่ช้าไม่นานเวียดนามอาจแซงหน้าไทย เพราะตอนนี้เวียดนามนามกำลังสร้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งคนที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศที่มีมากกว่าไทย เน้นศึกษาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าไทย เน้นศึกษาระดับอาชีวศึกษามากกว่าไทย
เน้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเทรนที่เป็นกระแสหลักของโลกมากกว่าไทย
………………………………………………………………………….
ในขณะที่ไทยยังตีกันว่าจะเอาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตามฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมของก้าวไกล
นักการเมืองผู้บริหารของไทยยังต้องห่วงหน้าพะวงหลังระหว่างการทำงานบริหารประเทศไปพร้อมกับพะวงเรื่องการเมืองไปพร้อมกัน ในขณะที่การเมืของเวียดนามนิ่ง ทำให้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการพัฒนาชาติ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับจีน ที่การเมืองนิ่ง ทำให้มุ่งหน้าพัฒนาชาติได้อย่างเต็มที่
ทำไมไทยเราต้องมีคนทำอาหารที่ต้องเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัย
ทำไมเราต้องการ CEO ที่จบ MBA ด้วยการทำวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์
ทำไมครับทำไม?
อยากให้รัฐบาลไทยหันกลับมาเน้นการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของชาติใหม่อีกครั้ง