“ห้าวิบากจากความลำบากทุกข์ยากบนราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาลจากราชกุลมหิดล”
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
……………………………………………………………..
วิบากของราชกุลมหิดล
ต้นราชกุลมหิดลคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช)
ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 4 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 4 พระองค์ ตกเสียก่อนเป็นพระองค์ 2
……………………………………………………………..
วิบากที่หนึ่ง
พระราชโอรสพระองค์โตคือ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของสยาม ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ แต่ทรงสวรรคตตั้งแต่ทรงพระเยาว์
……………………………………………………………..
วิบากที่สอง
หลังจากนั้นพระราชโอรสและพระราชธิดาก็สิ้นพระชนม์จนหมดสิ้นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เหลือแต่เพียง 2 พระองค์คือ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
……………………………………………………………..
วิบากที่สาม
เกิดคดีฆาตกรรมในหลวงรัชกาลที่ 8 จากสาเหตุทางการเมือง
หลังจากเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานในการนำประเทศไทยให้มีปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่แต่เดิมแล้ว ได้ตั้งพระทัยการร่วมกับคณะราษฎร์ก่อร่างสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา แต่แล้วการณ์มิได้เป็นดั่งคิด เนื่องจากเค้าโครงเศรษฐกิจและการเมืองของคณะราษฎร์ มิได้เป็นอย่างที่ถูกที่ควร
หลังจากได้ทรงใช้ความพยายามอยู่นาน ก็ทรงพบว่า ไม่ทรงมีกำลังที่จะทำได้สำเร็จ จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องไปทูลเชิญพระองค์เจ้าอนันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ในลำดับต่อมาให้ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไปเข้าเฝ้าสมเด็จย่าที่สวิสเซอร์แลนด์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2477 และเดินทางกลับเมืองไทยโดยเรือบิน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2477 สมเด็จย่าได้มีจดหมายไปกราบทูล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีความว่า
‘เขามาพูดเรื่องรัฐบาลอยากให้นันทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๗)ทรงลาออกจริงๆ หม่อมฉันก็ได้พูดกับเขาตามที่ได้กราบทูลไป คือการจะรับหรือไม่รับต้องแล้วแต่ใต้ฝ่าพระบาท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาก็เข้าใจและทราบดี และจะต่อไปได้พูดกันถึงเรื่องร่างกาย และการศึกษา เขาเห็นว่า รัฐบาลจะไม่มีการขัดข้องในการที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป หลวงธำรงฯ ดูท่าทางดีและพูดกันเข้าใจง่าย หม่อมฉันมีความรำคาญอยู่ก็คือ ถ้าทรงรับให้นันทเป็นคิงต่อไป ในเรื่องที่จะต้องยุ่งในการยศ ถ้าจะทรงรับแล้ว หม่อมฉันขอให้รับสั่งถึงการยศอย่าให้ยุ่งมากนัก ขอพยายามทำเป็นคนธรรมดาให้มากที่สุดที่จะมากได้”
นันทได้บอกหลวงธำรงฯ ว่าไม่อยากเป็นคิงเพราะ
1.เป็นเด็ก
2.ไม่รู้จักอะไร
3.ขี้เกียจ
4.พระเก้าอี้ (นันทเรียกว่าโทรน) สูงนักแล้วนันทก็เป็นคนหลุกหลิก เดี๋ยวจะตกลงไป พระยาพหลฯ ก็จะดุเอา
5.เวลาไปไหนต้องกางร่ม ทำให้ไม่ได้แดด
6.เวลาจะเดินไปไหนก็มีคนเกะกะ ทั้งข้างหน้าข้างหลัง วิ่งไม่ได้
ข้อเหล่านี้นันทคิดขึ้นเองทั้งหมดทั้งนั้น เมื่อทราบว่าหลวงธำรงจะมา
……………………………………………………………..
สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงเขียนจดหมาย แจ้งความเป็นอยู่ของลูกทั้งสามถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จย่าของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) อยู่เสมอมิได้ขาด รวมถึงเรื่องที่รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับประเทศไทยเรื่อยมาตั้งแต่รับขึ้นครองราชย์ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาล
โดยสมเด็จพระราชชนนียังได้ย้ำอีกว่า สกุลมหิดลไม่ต้องการลาภยศใด ๆ หากแต่สิ่งที่มุ่งหวังคือ พระพลานามัย การศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้ในช่วงเยาว์วัยของในหลวงรัชกาลที่ 8 คือสิ่งสำคัญที่สุด โดยได้ทรงย้ำกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศว่า…
การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉนั้นจะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดี ๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็กก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ ก็ไม่เป็นสง่าสำหรับประเทศ
ในครั้งนี้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพอใจในการพูดของสมเด็จพระราชชนนีมาก ดังจะเห็นได้จากร่างลายมือในจดหมายของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2478 โดยเขียนชื่นชมสมเด็จพระราชชนนี ว่าฉลาดและใจเย็น ดังเนื้อความในจดหมายว่า…
…ใจเย็นพูดจาโต้ตอบงดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ…ฉันพูดนี้ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วย จนน้ำตาไหล…
เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สมเด็จย่า มิได้มีความปรารถนาให้พระราชโอรส เป็นพระมหากษัตริย์ ราชสกุลมหิดลปรารถนาเพียงการอยู่อย่างสงบสุข แต่ที่ต้องยอมรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เนื่องจากเป็นภาระและหน้าที่ต่อบ้านเมืองเท่านั้น
แต่แล้วความวิปโยคก็มาเยือนราชกุลมหิดล เมื่อการเมืองที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจอันสกปรกก็พรากชีวิตพระราชโอรสผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์หนุ่มในที่สุด
ช่วงเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งมีพระชนมายุ 20 พรรษา ได้ถูกฆาตกรรมและเสด็จสวรรคตอยู่ในห้องบรรทมของพระองค์ในพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง
มีบันทึกว่าเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งกำลังศึกษาวิชากฎหมายและนิวัติกลับมาประเทศไทย เคยมีการโต้ตอบกับนักการเมืองผู้กุมอำนาจอยู่หลายครั้ง เนื่องจากพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อนจะเกิดคดีสะเทือนขวัญในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน จากสาเหตุทางการเมือง จะสังเกตได้ว่า เป็นความตั้งใจจะลงมือกำจัดพระองค์ก่อนที่จะเสด็จออกจากประเทศไทย
มีความพยายามของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมหรือฝ่ายล้มเจ้า บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ร้ายว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถูกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชลอบปลงพระชนม์ เพราะหวังครองราชสมบัติ
แต่คิดดูง่ายๆ ไม่ต้องใช้หลักวิชาการใดๆ ที่ยากเย็นเลย ว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช คิดฆ่าพี่ชายของพระองค์เอง ทำไมต้องยิงในพระบรมมหาราชวังซึ่งย่อมมีเวรยามและความยุ่งยาก
ถ้าพระองค์คิดคิดฆ่าพี่ชายจริง ก็ลอบปลงพระชนม์ ที่สวิสเซอร์แลนด์ไม่ง่ายกว่าหรือ ทำไมต้องรีบลงมือก่อนจะเสด็จออกจากประเทศไทย
ผู้ที่จะต้องรีบลงมือก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกจากประเทศไทย ควรจะเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองที่อยู่ในประเทศไทยมิใช่หรือ
ในขณะที่มีการปล่อยข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกน้องชายปลงพระชนม์ ยังมีการปล่อยข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว โดยศัตรูการเมืองของปรีดีซึ่งประกอบด้วยทหารสายจอมพล ป. พิบูลสงครามว่าปรีดีเป็นผู้บงการ
ท่านสังเกตเห็นหรือไม่ว่านี่คือเรื่องการเมือง เป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ของผู้มีอำนาจทางการเมือง
ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่ทรงศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งชาติ
ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทางมีอำนาจทางการเมืองเพียงผู้เดียว ดังนั้นน้องจะฆ่าพี่ทำไม
ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในระบอบประชาธิปไตย ช่วยคานอำนาจทางการเมืองกับฝ่ายการเมืองทางอ้อม ดังนั้นสิ่งที่จะจูงใจให้ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว ต้องเป็นเรื่องการเมือง จะเป็นน้องฆ่าพี่เพื่อราชบัลลังก์ไปเพื่ออะไร
ยิ่งไปกว่านั้น จากบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยกให้ดูข้างต้น รวมทั้งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอย่างขวางขวางตลอดมาว่า ราชสกุลมหิดลไม่มีความมุ่งหวังใดๆ ในเรื่องการเมืองและราชบัลลังก์ นอกจากนี้ครอบครัวมหิดลยังรักใคร่กลมเกลียว โดยเฉพาะรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ผูกพันมารักใคร่กันตลอดมา ไม่มีเหตุผลจูงใจใดๆ บ่งชี้เลยว่า น้องจะฆ่าพี่เพื่อราชบัลลังก์ที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ
ท่านลองคิดดูว่า สมเด็จย่า ซึ่งต้องสูญเสียพระราชโอรสพระองค์โตไปเพราะการเมือง จะอยากให้พระราชโอรสพระองค์เล็กครองราชย์ต่อหรือไม่ หรือถ้าจำเป็นต้องยอมแล้ว จะทรงมีความวิตกกังวลมากมายขนาดไหน
แต่ในที่สุดพระราชโอรสพระองค์เล็ก ก็มีภาระหน้าที่ต่อแผ่นดินที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน ไม่ต่างไปจากพระราชโอรสพระองค์โต
……………………………………………………………..
วิบากที่สี่
ใจความบางส่วนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC เมื่อปี พ.ศ.2525
“เมื่อข้าพเจ้าจะมารับหน้าที่นี้เมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่ 18 ปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวันนั้นเก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังก็เกือบจะพังลงมา เวลานั้นสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อยๆก่อสร้างทุกๆอย่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง
ข้าพเจ้าต้องค่อยๆทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลา 36 ปีเข้าไปแล้ว ดังนั้น เราอาจเรียกรัชกาลนี้กระมังว่า เป็นรัชกาลแห่งการปฏิรูป ขนบธรรมเนียมเก่าแก่ ถูกรักษาไว้และเปลี่ยนแปรมาโดยลำดับ”
จากบทพระราชทานสัมภาษณ์ข้างต้นจะเห็นถึงความยากลำบากในช่วงต้นรัชกาลในแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9
พระองค์ใช้เวลาถึง 36 ปี กว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย
และทรงใช้เวลาไปตลอดรัชกาลกว่า 70 ปี ที่ทำให้ไทยเป็นปึกแผ่นและสงบร่มเย็น
ทรงใช้เวลาไปตลอดรัชกาลกว่า 70 ปีทรงขจัดความยากจนขนแค้นแสนเข็ญ
และเป็นเวลาถึง 70 ปี ที่ฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมรอคอย เพื่อการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ยังเป็นประมุขแห่งรัฐที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในโลกตั้งแต่การสวรรคตของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2532 กระทั่งสวรรคตใน พ.ศ. 2559 อีกทั้งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดตลอดกาลอันดับที่ 3 ด้วยระยะเวลาในราชสมบัติทั้งสิ้น 70 ปี 126 วัน
มีนักวิชาการและนักการเมืองให้ร้ายว่าพระมหากษัตริย์คือทรราช
แต่ตัวเลขสถิตินี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้ามิใช่เพราะพระองค์เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของปวงชน
แต่เวลากว่า 70 ปี ที่รอคอยของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยม ที่รอคอยเพื่อการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันสวรรคต
……………………………………………………………..
วิบากที่ห้า
ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหรือของชาติใดๆ ในโลกมีลักษณะคล้ายกันอยู่อย่าง คือเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลหรือผลัดแผ่นดิน มักเกิดการลองของ หรือความพยายามในการล้มล้างราชบัลลังก์
ดังนั้น นับตั้งวินาทีแรกที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ก็คือวินาทีแห่งวิบากกรรมของพระองค์
คงไม่ต้องอธิบายความใดๆ ว่าเกิดเหตุการณ์ใดในความพยายามบั่นทอนพระราชบัลลังก์
และคงไม่ต้องอธิบายว่าพระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ใดต่อชาติและประชาชนมากมายเพียงใด
แต่ต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด ในการรับมือกับการเมือง ยังไม่มีใครบอกได้
……………………………………………………………..
แต่เมื่อย้อนกลับไป
สมเด็จลุง รัชกาลที่ 8 ต้องสวรรคต เพราะการเมือง
สมเด็จพ่อ รัชกาลที่ 9 ใช้เวลาถึง 36 ปี กว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย กว่าจะรับมือการเมืองได้
ในรัชสมัยของพระองค์ รัชกาลที่ 10 ใช้เวลาไม่นานขนาดนั้นแน่นอน เพราะสถานการณ์ช่วงหลังสงครามโลกผสมกับสถานการณ์หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 รุนแรงและหนักหนาสาหัสกว่ามาก
ส่ิงที่พวกเราประชาชนผู้จงรักภักดีต้องทำคือ สามัคคี ร่วมกันค้ำบัลลังก์และถวายกำลังใจ ให้พระองค์
ร่วมกันถวายกำลังใจ ถวายชัยมงคล
และร่วมกันสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์จักรีและราชกุลมหิดล
ให้คงอยู่สถาพรตลอดไป
……………………………………………………………..