ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
ทำไมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า นโยบายและการทำกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 จึงถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
………………………………………………………………….
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (form of state) ไว้ในคำเดียวกันอีกด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ภาษอังกฤษว่า Democratic form of Government with the King as Head of State
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะ“ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”
โดยอำนาจของพระมหากษัตริย์ “เป็นอำนาจทางพิธีการ“ ที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน
การใช้อำนาจอำนาจอธิปไตยที่ว่านั้นถูกแบ่งเป็นสามฝ่ายคือ รัฐบาล รัฐสภาและศาล ซึ่งทำหน้าที่ “เป็นผู้แทนของปวงชน” ที่บริหารราชการ“เพื่อประโยชน์ของปวงชน และโดยการควบคุมของปวงชน”
คำว่า รัฐบาล รัฐสภาและศาล ทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนคือ ประชาชนเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ในรัฐสภา รัฐสภาที่มาจากประชาชนเป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลและศาล
แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนสับสนคือภาษากฎหมาย ซึ่งจะระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกและศาล
แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบคำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง…(นาย ก. นาย ข.) …ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาหรือศาล
นั่นคือตัวอย่างของคำว่า “อำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นอำนาจทางพิธีการ ที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน และการใช้อำนาจอำนาจอธิปไตยที่ว่านั้นถูกแบ่งเป็นสามฝ่ายคือ รัฐบาล รัฐสภาและศาล ซึ่งทำหน้าที่ เป็นผู้แทนของปวงชน ที่บริหารราชการ เพื่อประโยชน์ของปวงชน และโดยการควบคุมของปวงชน”
คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นคำในภาษาไทยภายใต้วัฒนธรรมไทย ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างสากลว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) ซึ่งพบได้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
………………………………………………………………….
การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่
พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอำนาจทางการเมืองและทรงอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญหรืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยพระบารมีและรัฐบาลบริหารราชการภายใต้พระปรมาภิไธย หรือภายใต้พระนาม แต่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกำหนดนโยบายสาธารณะหรือเลือกผู้นำทางการเมือง
พระราชอำนาจโดยพระบารมี ได้แก่
การลงพระนามรับรองกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล รัฐสภา และคณะปฏิวัติ-รัฐประหาร ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เป็นต้น
รวมทั้งการลงพระนามรับรองหรือแต่งตั้งรัฐบาล รัฐสภา และคณะรัฐประหาร
พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเลือกผู้แทนราษฏรและรัฐสภา, ไม่ทรงเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล, ไม่ทรงเลือกหรือสั่งให้มีการรัฐประหาร
แต่ทรงเป็นเพียงผู้ลงพระนาม ซึ่งเป็นไปตามจารีตปฏิบัติแห่งการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามแบบสากลโลกในลักษณะของการใช้ ”พระราชอำนาจโดยพระบารมี” เท่านั้น
………………………………………………………………….
ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและหลักสากลที่ปฏิบัติกันทั่วโลกว่าด้วยเรื่อง”พระราชอำนาจโดยพระบารมี” ที่รัฐบาล หรือคณะรัฐประหาร ดำเนินการในนามของพระมหากษัตริย์ โดยที่พระมหากษัตริย์มิได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติแต่อย่างใด
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิ์ที่ทำตามพระทัย เพียง 3 ประการเท่านั้นคือ
1) แสวงหาคำปรึกษา
2) ประทานคำปรึกษา
3) ประทานคำตักเตือน
ซึ่งคำว่าแสวงหาคำปรึกษา ในประเทศไทยก็คือ การที่ทรงตั้ง “คณะองคมนตรี” ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์
ส่วนอีก 2 ข้อคือ ประทานคำปรึกษาและตักเตือนนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทานมาตลอดรัชกาลตามที่เราคนไทยคุ้นเคย และยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาถึงรัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งหมายความว่า ในหลวงมีอำนาจจริงเพียง 3 ประการนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและตามหลักสากลทุกประการ
“The king can do no wrong”
พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ หรือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำความผิดได้”
สาเหตุที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำความผิดได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจอยู่จริง ไม่มีพระราชอำนาจที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เช่น การออกกฎหมายหรือแต่งตั้งรัฐบาล ข้าราชการ ฯ ล้วนต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หรืออธิบายด้วยภาษาชาวบ้านได้ว่า ความจริงผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือผู้ที่มีอำนาจตัวจริง เช่น กฎหมายที่พระราชบัญญัติที่ผ่านสภา ประธานรัฐสภาก็เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กฎหมายที่พระราชกำหนดที่ผ่านคณะรัฐมนตรี ก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นรับสนองพระบรมราชโองการ
ซึ่งโองการที่ว่า มิได้ออกมาจากพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ แต่มาจากสมาชิกรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่ด้วยความที่ประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข เราจึงถวายพระเกียรติว่าเป็นพระราชโองการ และมีข้าราชการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
“The King Can Do No Wrong” นี่เองที่เป็นที่มาของกฎหมายมาตรา 6
ด้วยเหตุผลว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ จึงมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองกษัตริย์ ห้ามมิให้บุคคลฟ้องพระมหากษัตริย์ได้
นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อกำกับควบคุมพระราชอำนาจอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดจะล้มกฎหมายมาตรา 6 เพราะหวังจะหาเรื่องฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ อาจไม่รู้ว่า กำลังจะยกเลิกกฎหมายกำกับควบคุมพระราชอำนาจอีกด้วย
………………………………………………………………….
หลักการ The King Can Do No Wrong มิใช่ของใหม่ที่เพิ่งปรากฏในยุคปัจจุบัน แต่มีมาตั้งแต่สามวันหลังจากปฏิวัติ-อภิวัฒน์สยามแล้ว และคณะราษฎรผู้ตรากฎหมายนี้ก็มิได้คิดขึ้นมาเอง แต่เลียนแบบมาจากประเทศอังกฤษ ต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
อาจารย์ปรีดีได้เคยอธิบายหลักการ “The king can do no wrong” เอาไว้ในหนังสือ คำอธิบายกฎหมายปกครอง ตั้งแต่สมัยที่อาจารย์ยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
***โดยอาจารย์ปรีดีได้อธิบายไว้ว่า “‘The king can do no wrong’ นี้ใช้กับระบอบที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการบริหารแผ่นดินนอกจากอำนาจในทางพิธีการและลงพระนามและยอมให้อ้างพระนามในกิจการต่าง ๆ แต่ไม่ได้ใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง แต่ตกอยู่ที่คณะเสนาบดี
ดังเช่นระบบการปกครองของประเทศอังกฤษที่มีสุภาษิต “The king can do no wrong” ว่าเพราะเหตุที่กษัตริย์ทรงทำอะไรไม่ได้นี่เอง กษัตริย์จึงไม่อาจทำผิด”
จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการออกกฎหมายมาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นี้ทำให้
พระมหากษัตริย์ทรงเป็น
“องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง
และเป็นศูนย์รวมใจของชนในชาติ“จึงเป็นที่มาของกฎหมายมาตรา 112 เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาตร้าย
หากมีการแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 ย่อมทำให้เกิดการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ได้ อันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในที่สุดนั่นเอง
การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการปกครองที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ในสมัยราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ โดยมีรอเบิร์ต วอลโพล เป็นนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ทั่วโลก ตัวอย่างประเทศที่เรารู้จักชื่อเสียงดี เช่น
สหราชอาณาจักร(อังกฤษ)
เบลเยี่ยม
เดนมาร์ก
เนเธอร์แลนด์
นอร์เวย์
สวีเดน
สเปน
ญี่ปุ่น
มาเลเซีย
กัมพูชา
ภูฏาน
คูเวต
จอร์แดน
………………………………………………………………….
รวมทั้งประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหรือที่เรียกว่าประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ล้วนใช้การปกครองที่เรียกว่า “ระบบเวสมินสเตอร์” (Westminster system) โดยรัฐสภาสหราชอาณาจักรมอบอิสรภาพในการปกครองตนเองให้แก่ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา เสรีรัฐไอร์แลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ นิวฟันด์แลนด์ และ ประเทศแอฟริกาใต้
โดยมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของประเทศดังกล่าวทั้งหมด และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษ ก็เป็นไปตามลักษณะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
………………………………………………………………….
เพราะฉะนั้นเลิกเข้าใจผิดกันเสียที เลิกถูกหลอกให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกันเสียที เป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ ที่คุยโตโอ้อวดว่า เกิดมาในยุคแห่งเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่สามารถสืบหาความรู้และข้อมูลต่างๆได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่กลับไม่มีความรู้พื้นฐานอะไรเลย แถมไม่เคยสืบหาว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร
………………………………………………………………….
สรุป
• พระมหากษัตริย์ของไทย อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว
• ทรงใช้”พระราชอำนาจโดยพระบารมี” ที่รัฐบาล หรือคณะปฏิวัติ-รัฐประหาร ดำเนินการในนามของพระมหากษัตริย์ โดยที่พระมหากษัตริย์มิได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติแต่อย่างใด
• การลงพระนามของในหลวง เพื่อรับรองรัฐบาล หรือคณะปฏิวัติรัฐประหาร เป็น”พระราชอำนาจโดยพระบารมี” ไม่ใช่เพราะพระองค์อยู่เบื้องหลัง หรือสั่งให้ทำ
• ทรงเป็นศูนย์รวมใจของชนในชาติ
เป็น “องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”
• ทรงมีพระราชสิทธิ์เพียง 3 ประการเท่านั้นคือ
1) แสวงหาคำปรึกษา โดยการตั้งองคมนตรี
2) ประทานคำปรึกษา
3) ประทานคำตักเตือน
………………………………………………………………….
เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ให้แก้รัฐธรรมนูญในหมวดของพระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นการจาบจ้วงแล้ว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญในหมวดของพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้จาบจ้วง เซาะกร่อนบ่อนทำลาย และสนับสนุนให้กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ
………………………………………………………………….
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”