ระบบการศึกษาที่หลงทางข้ามพิภพของไทย
ปริญญา ค่านิยมและอาชีวศึกษาที่หายไป
ความเท่าเทียมกันที่แท้จริงที่คนยุคนี้เรียกร้องโหยหาและคุณค่าของความเป็นคน มิใช่ชาติกำเนิดหรือปริญญา แต่อยู่ที่ผลของงานที่เกิดจาก Passion และทักษะพิเศษส่วนตัวผสมผสานการฝึกอบรมจากสถาบันการศึกษา
……………………………………………………………………
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลคือวิวัฒนาการของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาด้วยจุดประสงค์ให้นักศึกษาสายอาชีพได้มีโอกาสต่อยอดการศึกษาเพื่อรับปริญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
แต่การทอดทิ้งหรือยุติการพัฒนาเพื่อการเรียนการสอนสายอาชีพในระดับ ปวช ปวส คือความผิดพลาดจากการพัฒนาที่เกินเลยไปจากความเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาสำหรับนักศึกษาสายอาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ลองคิดดูว่าในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชนหรือหน่วยงานราชการ ต้องการวิศวกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้บริหาร กี่คน และต้องการช่างเทคนิค ฝ่ายผลิต เจ้าหน้าที่สำนักงาน เสมียน คนทำบัญชี ฝ่ายจัดชื่อ คนส่งของ เก็บเงิน กี่คน
เราเปลี่ยนโรงเรียนพาณิชย์และวิทยาลัยเทคนิคที่ผลิตเจ้าหน้าที่สำนักงานและช่างเทคนิคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแรงงานในระดับช่างฝีมือ ให้กลายเป็นผู้บริหารเสียจนเกือบหมด
ทุกโรงงาน บริษัทและหน่วยงานราชการ มีแต่หัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการหรือมีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมากกว่ากัน
ที่ออสเตรเลียมีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ที่มีชื่อว่า “Technical and Further Education” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อๆ ว่า “TAFE” (ออกเสียงว่า “เทฟ”) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1833
ประเทศออสเตรเลียมีประชากร 24 ล้านคน มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนกับ TAFE ในแต่ละปีประมาณ 430,000 คน
TAFE เปิดสอนตั้งแต่หลักสูตรระยะสั้น statement of attainment ปวช.(Certificate 4) ปวส. (Diploma) และปริญญาตรี
นักเรียนมัธยมที่เรียนไม่จบ ม.6 หรือไม่ต้องการเรียนให้จบ สามารถมาเรียนต่อ TAFE Certificate 3 และ
Certificate 4 ได้เมื่อเรียนจบ ม.4
และเมื่อจบ Certificate 4 บางคนก็ทำงานเลย หรือสามารถเรียนต่อ ปวส. (Diploma) ที่ TAFE หรือต่อปริญญาทั้งที่ TAFE และมหาวิทยาลัยได้
ในช่วงปิดบ้านปิดเมืองเพราะวิกฤตโควิด รัฐบาลออสซี่ใช้ TAFE เปิดหลักสูตรออนไลน์อบรมวิชาชีพระยะสั้น เช่นทักษะการค้าขายและคอมพิวเตอรเพื่อทำงานสร้างรายได้ในโซเชียลมีเดียและการตลาดออนไลน์เพื่อวิถีชีวิตแบบ New normal
แต่ TAFE ไม่เปิดสอนปริญญาโทและเอก เพราะ TAFE มีจุดประสงค์หลักในการผลิตแรงงานระดับอาชีวศึกษาเป็นหลักให้กับประเทศซึ่งเป็นตลาดตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ปริญญาตรีของ TAFE หรือวิทยาลัยเอกชน ก็ถือว่าเป็นปริญญาตรีจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าวิชาการและการวิจัย
……………………………………………………………………
ซึ่งอธิบายมาถึงตรงนี้คงเข้าใจว่า ปริญญาตรีจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างจากปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยอย่างไร
อย่าลืมว่าความเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษากับมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ระบบเศรษฐกิจของชาติต้องการแรงงานจากวิทยาลัยอาชีวศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัย
เราไม่ได้มีผู้จัดการ 100 คนและช่างฝ่ายผลิต 1 คน
แต่เรามีช่างฝ่ายผลิต 100 คนต่อผู้จัดการ 1 คนแล้วทำไมเราไปผลิตปริญญามากกว่าอาชีวศึกษา?
……………………………………………………………………
ชาวตะวันตกไม่มีค่านิยมการเป็นเจ้าคนนายคน แต่มีค่านิยมในคุณค่าของคน ซึ่งคุณค่าของไม่ได้วัดกันที่ชาติกำเนิดหรือปริญญา แต่วัดกันที่ผลงาน
คนเป็นเชฟเมืองไทยยุคปัจจุบัน จบปริญญาตรีการโรงแรม การอาหารจากมหาวิทยาลัย
ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา รับเชฟที่จบเพียง Certificate จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา
น้องชายผมเป็นนักบินการบินไทย เรียนจบปริญญาตรีวิศวะ จุฬา โท เศรษฐศาสตร์จุฬา ซึ่งนักบินในเมืองไทยล้วนเรียนจบปริญญา ส่วนใหญ่มาจากคนจบวิศวะ หรือจากโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนการบินในมหาวิทยาลัยเพิ่มเริ่มมีในยุคหลัง
ในขณะที่หลักสูตรนักบินที่ออสเตรเลียมีสอนที่ TAFE เรียนจบแล้วได้วุฒิ Diploma อนุปริญญาทางการบิน เพื่อเป็นนักบินพาณิชย์หรือขนส่ง
แอร์โฮสเตส สจ๊วต รับคนจบมัธยมหรือประกาศนียบัตรจาก TAFE
ไม่มีนักบิน แอร์โฮสเตส สจ๊วตหรือเชฟที่จบปริญญาตรีหรือโท
เอาปริญญาไปนั่งขับเครื่องบิน บริการผู้โดยสาร ทำอาหาร เพื่อ!!!
……………………………………………………………………
เขามีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตราฐานโลก เพื่อผลิตนักศึกษาสายอาชีพที่มีคุณภาพระดับโลก ทำให้เขามีนักบิน ช่างซ่อมเครื่องบิน ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ พนักงานขาย เชฟที่มีคุณภาพระดับโลก
ในโลกตะวันตก ไม่ว่าคุณจะเป็นนักบริหาร นักบิน แอร์โฮสเตส สจ๊วต เชฟ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย ถ้าคุณทำงานเก่ง คุณจะได้รับการยอมรับเหมือนกัน เท่ากัน ถ้าคุณมีฝีมือระดับเทพเหมือนกัน
Jamie Oliver อดีตนักเรียนอาชีวศึกษา คือหนึ่งในตัวอย่างที่ดี ที่ทำให้เราเห็นได้ขัดเจนว่า นักเรียนอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สามารถไต่เต้าจนกลายเป็นเชฟชื่อดังระดับโลก มีรายได้ ชื่อเสียงและสถานะในสังคมที่สูงกว่าหรือไม่ต่างจากนักบริหาร นักบินหรือดาราคนใดในโลก
แล้วจำเป็นหรือไม่ ที่ระบบการศึกษาและสังคมจะต้องผลักดันในเด็กชาย Jamie Oliver เข้าเรียนในจบมหาวิทยาลัย
#นี่แหละคือความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันที่แท้จริงที่เด็กยุคนี้โหยหา ไม่ใช่เรื่องของการเมืองอย่างที่ถูกแหกตากันอยู่
ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันที่คนๆ หนึ่งสร้างขึ้นมาด้วยทักษะความสามารถพิเศษของตัวเอง ไม่ใช่ชาติกำเนิดหรือใบปริญญาหรือการเรียกร้องทางการเมืองให้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองเท่าเทียมกับทุกคน
เมืองไทยของเรามีค่านิยมอยู่ที่ใบปริญญา กับมหาวิทยาลัยที่เกลื่อนเมือง เรียนห่วยยังไงก็เข้ามหาวิทยาลัยได้ เวลาเรียนก็ลอกการบ้านเพื่อนไป สอบผ่านไม่ผ่านก็มีตัวช่วย แล้วจินตนาการออกใช่มั้ยว่า คุณภาพบัณฑิตเป็นยังไง
จบวิศวสถาปัตย์แต่ออกแบบตึกไม่ได้ จบบัญชีแต่ทำบัญชีไม่ได้ จบกฎหมายก็ว่าความไม่ได้ ทุกคนต้องฝึกใหม่เวลาเริ่มต้นทำงาน
ไปดูพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัด คุณจะพบบัณฑิตปริญญาตรีเยอะแยะไปหมด เขาหางานไม่ได้เพราะบัณฑิตด้อยคุณภาพเกลื่อนเมือง
มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเก่งเลข เก่งฟิสิกส์ เก่งอังกฤษ ทุกคน
บางคนเก่งกีฬา เก่งดนตรี เก่งงานช่าง เก่งเรื่องซ่อมแซมบำรุงรักษา เก่งทำอาหาร เก่งค้าขาย
แล้วทำไมต้องแย่งกันเข้าไปเรียนวิชาการ นั่งทรมานลอกการบ้านในมหาวิทยาลัย แล้วสุดท้ายก็จบออกมาซ่อมรถ ทำอาหาร ขายของอยู่หน้าร้าน ในเมื่อถ้าเขามีความถนัดและรักวิชาชีพมาตั้งแต่ต้น
……………………………………………………………………
คนกลุ่มนี้ต้องการวิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับโลก ที่จะช่วยฝึกฝนทักษะที่เขามีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปถึงระดับโลก
แล้วช่างฝีมือแรงงานทุกประเภทคือกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ
การมีความสุขกับทักษะอาชีพที่เขารัก ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพจนได้ทำงานพัฒนาฝีมือในอาชีพที่รักและมีความถนัด จนสร้างฐานะและชื่อเสียงให้เทียมหน้าเทียมตา เท่าเทียมคนอื่นๆ ในสังคมได้โดยไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบและไม่รู้ว่าจะนำวิชาที่เรียนถึง 4 ปีในมหาวิทยาลัยนั้นไปทำอะไร
เรียนจบช่างแล้วซ่อมรถสร้างบ้านได้เก่งสุดๆ ดีกว่าจบปริญญาแล้วทำอะไรไม่เป็น
ไม่ต้องมีปริญญาก็เทียมหน้าเทียมตา และมีฐานะที่เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคมได้ ถ้ามีหน้าที่การงานอาชีพที่ทำได้ดีระดับเทพ
มีของดีแต่ไม่รู้จักรักษา
พาณิชยการพระนคร เทคนิคกรุงเทพ อุเทนถวาย พระนครเหนือ พระนครใต้ ฯ ล้วนเคยเป็นที่ 1 ในประเทศแล้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นที่เท่าไหร่ของประเทศ ถามตรงๆ
นี่แหละระบบการศึกษาที่หลงทางข้ามพิภพของไทย
……………………………………………………………………
อัษฎางค์ ยมนาค
อ่านนจบแล้วมาดูคลิปนี้กันหน่อยมั้ยว่าผมวิจารณ์ผิดหรือไม่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในใจ 9 ราชมงคล”