โดย อัษฎางค์ ยมนาค
“เจ้าฟ้ามหิดล” พระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระอัยยิกาในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นเจ้าฟ้าที่มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล จริงหรือไม่?
(เรื่องยาว แต่อ่านจบแล้วท่านจะทราบว่า ทำไมในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างที่เราเห็นมาตลอดชีวิต และในหลวงรัชกาลที่ 10 ต้องเบียดเบียนภาษีประชาชนจริงหรือ)
………………………………………………………………….
จากหนังสือ “เกิดวังปารุสก์”ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงบันทึกเอาไว้ว่า
“…ทูลกระหม่อมอาแดงนั้น ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าฟ้าด้วยกัน…”
สาเหตุที่พระองค์เจ้าจุลฯ บันทึกไว้แบบนั้นเพราะ ทูลกระหม่อมแดง หรือ เจ้าฟ้ามหิดลฯ หรือ พระนามเต็มว่า
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
พูดแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา เดิมคือภรรยาหลวง มีพระโอรสองค์แรก เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์แรกของไทย แต่ทรงจากไปตั้งแต่อายุยังน้อย เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระโอรสในพระราชเทวี หรือเป็นลูกของภรรยาคนที่ 2 จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6
และเจ้าฟ้ามหิดลเป็นน้องชายแท้ๆ คนรอง ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์แรกของไทย
ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 6 พระองค์ คือ
•สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร อายุ 17 พรรษา
•สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ อายุ 21 วัน
•สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารีอายุ 116 วัน
•สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ อายุ 17 พรรษา
•สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร อายุ 53 พรรษา
•สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี อายุ 9 พรรษา
จะเห็นได้ว่า พระราชโอรส พระราชธิดาในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น ต่างเสด็จสวรรคต และสิ้นพระชนม์ไปเกือบทุกพระองค์
เหลือเพียงเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ซึ่งเป็นลูกสาว ส่วนลูกชาย ก็เหลือเพียงทูลกระหม่อมแดงหรือ เจ้าฟ้ามหิดล เพียงพระองค์เดียว
ดังนั้นทรัพย์สมบัติ ทางสายของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงตกมาที่ทูลกระหม่อมแดง มากมายมหาศาล
………………………………………………………………….
ถึงแม้พระองค์จะมีทรัพย์สมบัติจากมรดกมากมายมหาศาล ด้วยเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมราชเทวี จึงทรงเป็นเจ้าฟ้าขั้นสูง แต่มิได้ทรงอยู่อย่างเศรษฐีอย่างที่ควรจะเป็น
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ว่า
“…ทูลกระหม่อมอาแดงนั้น ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าฟ้าด้วยกัน แต่ท่านทรงระมัดระวังกระเหม็ดกระแหม่ในการใช้จ่ายเป็นที่สุด แทนที่จะเสด็จไปประทับโฮเต็ลชั้นเอก กลับประทับโฮเต็ลที่ซอมซ่อที่สุดอยู่ใกล้ ๆ สถานทูต อันเป็นทำเลที่ไม่หรูหราเสียเลยในกรุงลอนดอน…”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ที่เป็น “หลานอา” ทรงบันทึกไว้
รวมทั้งยังมีบันทึกจากเจ้านายอีกหลายพระองค์ ที่ต่างบันทึกไว้สอดคล้องกัน เกี่ยวกับว่า เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชเอาไว้ว่านั้น
“ท่านจะเก็บรายได้ของท่านไว้เพื่อทำการกุศลอย่างมากมาย ด้วยเหตุนี้ผู้ซึ่งรู้จักทูลกระหม่อมอาแดงดี จึงรักใคร่นับถือบูชาท่านอย่างดูดดื่ม”
………………………………………………………………….
เจ้าฟ้ามหิดลทรงไปเรียนต่อที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วก็ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ ประเทศเยอรมันนี
และสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกและสอบได้เป็นเฟนริช คือ นักเรียนทำคะแนนได้ดีมาก การสอบในครั้งนั้นมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 400 คน โดยมีคนที่ทำคะแนนได้เท่าพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดเช่นนี้
หลังจากนั้น พระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือแทนวิชาทหารบก เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟล็นส์บวร์ค-เมือร์วีค และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
จะเห็นได้ว่าพระองค์เรียนหนังสือเก่งมาก
เมื่อเรียนจบได้กลับมารับราชการในกระทรวงทหารเรือ แต่ก็ทำอยู่ได้เพียง 9 เดือน 18 วันก็ลาออก
มีการกล่าวถึงสาเหตุที่ลาออกจากราชการทหารเรือหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าพระองค์มีพระราชดำริขัดแย้งกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากการประชุมนายทหารเรือเพื่อปรับปรุงความสมบูรณ์ของกองทัพเรือ
โดยพระองค์เห็นว่า การมีเรือรบขนาดใหญ่ยังไม่มีประโยชน์มากนัก ควรมีเรือขนาดเล็ก เช่น เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกจะมีประโยชน์มากกว่า
แต่นายทหารชั้นผู้ใหญ่มีความเห็นว่าควรมีเรือขนาดใหญ่เพื่อจะได้ฝึกทหารไปในตัว พระองค์ทรงรับฟังแต่ก็ทรงน้อยพระทัยว่า อุตส่าห์ไปทรงศึกษาวิชาทหารเรือโดยตรงแต่พอถึงเวลาปฏิบัติงานจริงกลับไม่ได้ดังพระราชประสงค์
………………………………………………………………….
เมื่อพระองค์ทรงลาออกจากการรับราชการในกระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เสด็จไปเข้าเพื่อชักชวนให้มาช่วยโรงพยาบาลศิริราช
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบายถึงเหตุผลที่ชักชวนทูลกระหม่อมให้มาช่วยเหลืองานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยว่า
เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น
อนึ่ง ทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งในเวลาต่อมา จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยม
ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพระองค์เช่าอพาร์ทเม็นต์และมีคนใช้จำนวน 1 คน พระองค์ใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา
ซึ่งนายแพทย์แอลเลอร์ เอลลิส (A.G. Ellis) ได้กล่าวถึงพระองค์ขณะที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้ว่า
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า “มิสเตอร์มหิดล สงขลา”
ซึ่งแปลว่า พระองค์ วางตัวเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งที่กินอยู่อย่างคนธรรมดาเท่านั้น
………………………………………………………………….
พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ 10 ทุน
และตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์ เช่น พระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่าง ๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช
พระมหากรุณาธิคุณสุดท้าย ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยคือ พระราชพินัยกรรม พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากให้กับคณะเตรียมแพทย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
รวมทั้งพระราชทรัพย์อีกมากมายให้กับการสาธารณสุขของไทย
ว่ากันว่า พระราชทรัพย์ท่านมีมาก เพราะทรงประหยัดมาก เมื่อประทับในต่างประเทศ ก็พักห้องเล็กๆเพียงไม่กี่ตารางเมตร สิ่งใดไม่จำเป็นก็ไม่ทรงใช้จ่าย
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าพระองค์มีพระราชทรัพย์มาก แต่กลับทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด แล้วนำทรัพย์สมบัติไปบริจาคเพื่อกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมากเป็นหลัก
จึงไม่ต้องแปลกใจเลย ที่เราคนไทยเกิดมาก็เห็นพระจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงประหยัดมัธยัสถ์ และทรงงานเพื่อชาติและประชาชน เพราะพระองค์มีพ่อ เป็นต้นแบบที่ประเสริฐที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้
ฝรั่งมีคำพูดเปรียบเทียบว่า
“Like father like son”
ส่วนคนไทยเราพูดว่า
“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”
พระอนุศาส์นของสมเด็จพระบรมราชชนก
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์”
………………………………………………………………….
หมายเหตุ เล่าด้วยภาษาชาวบ้าน เพื่อความเข้าใจและเข้าถึง
ภาพบน
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และเจ้าฟ้ามหิดลฯ