โดย อัษฎางค์ ยมนาค
“14 ตุลา : ม่องหมดแล้วพวกในวัง”
คือข้อความที่มีคนหวังร้ายไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกด้วยข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อแหกตาและปลุกปั่นมวลชน
การสร้างข่าวเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงมีทุกยุคทุกสมัย การบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้เพิ่งเริ่มมีในยุคสามกีบนี้ แต่มีมาตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาแล้ว
เหตุการณ์นักศึกษาจำนวนมากหนีตายเข้าวังสวนจิตฯ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในเหตุการณ์เดือนตุลา และนำมาแหกตาซ้ำกับพวกสามกีบในปัจจุบัน เพื่อสร้างความจงเกลียดจงชังสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก
ทั้งที่ความจริงคือในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้เปิดประตูวังเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้พ้นภัย แต่ผู้ไม่หวังดีใช้โอกาสที่นักศึกษาหนีหายเข้าไปในวังนี้ ปล่อยข่าวเท็จว่า ในหลวงสั่งให้ฆ่านักศึกษานั้นทั้งหมด
พล.ต.อ.วสิษฐ คือหนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์ 14 ตุลา และนี่คือคำต่อคำจากปากของ พล.ต.อ. วสิษฐ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น
พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่สำคัญในการติดต่อประสานเจรจากับผู้นำนิสิตนักศึกษา และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปอ่านต่อผู้ชุมนุมในเวลา 5.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516
มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง”
นิสิตที่อยู่ข้างนอกที่มีคนมากระซิบว่าเขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้วคือ คุณพีรพล ตริยะเกษม
เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง
พอเป็นอย่างนั้นผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว
นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก
เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้นคนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี 3 คน คนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือพันเอก เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น) แล้วก็มีผม
เราก็ถามว่ามี 3 คน เลือกเอาว่าจะเอาใครไป
คุณเสกสรรค์ชี้ว่าเอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผมก็เพราะผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย เขาขอให้ผมไป ผมก็ยอม
เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวคันไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง
ผมก็ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมดอยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2516
ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัสและแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้
ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน
ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียงให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปีติ
จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ก็มีเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่งพกระเบิดขวดในกระเป๋าแล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ
แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นเหตุจากการปะทะของตำรวจกับผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี
พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจราจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ
นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
การปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาเป็นไปอย่างรุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งวิ่งมาที่ประตูวังและขอให้เปิดประตูรับ แต่นายทหารไม่กล้าเปิด
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เปิดประตูเข้ามา นิสิตนักศึกษาที่ทะลักเข้ามาในวังมีประมาณ 2,000 คน
ผมก็ยืนรับอยู่ที่นั่น บางคนเข้ามาถึงก็มาต่อว่าผมว่าหลอกให้ไปถูกตี ผมบอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ผมก็อยู่กับพวกคุณนี่แหละ
พอพระองค์ทรงทราบว่านิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ ก็ทรงมาเยี่ยมคนที่เข้าไปในวัง
หลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร หนีไปต่างประเทศพร้อมจอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นถึงความต้องการของประชาชนในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงยืนยันการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนใหม่ที่มาจากความต้องการของประชาชน
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ในขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ รู้สึกกังวลกับชัยนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ
จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร
นักศึกษาเริ่มประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม
วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
วันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาดึก คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจในเวลา 18.00 น. มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี
เกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้าย ทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เด็กสมัยนี้ที่เขาว่าตัวเองฉลาด มีความรู้ มีปริญญา เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสืบหาข้อมูลได้ง่ายดาย
แต่เมื่อมีคนอยากเขียนอะไรขึ้นมาลอยๆ สั้นๆโดยไร้หลักฐานและความเป็นไปได้
คนรุ่นใหม่เหล่านั้น พร้อมจะเชื่อ ในทันที โดยไม่ใช้วิจารณญาณในการพิจารณา และไม่คิดหาความรู้หรือสืบหาข้อเท็จจริง ที่ต้องอ่านข้อมูลยาวๆเยอะๆ เลย
และต่อให้มีใครให้ข้อเท็จจริงก็ไม่สนใจจะยอมรับความจริง ชอบเสพแต่เฉพาะข้อมูลที่บิดเบือนเท่านั้น
แบบนี้ควรเรียกว่าเป็นคนโง่ที่ชอบให้เขาแหกตาด้วยคำว่าเบิกเนตรจากข้อมูลเท็จ หรืออยากเป็นคนฉลาดที่สืบหาข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจว่าข้อมูลใดจริงข่าวสารใดเท็จ