เจ้าพระยายมราช (บุนนาค)
ต้นตระกูล ยมนาค ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก
เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เสนาบดีกรมเมือง ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เกิดในสมัยกรุงธนบุรี เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทสำคัญอีกคนในสงครามอานัมสยามยุทธ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
คนไทยส่วนใหญ่มักได้เรียนประวัติศาสตร์ที่ไทยรบพม่าเป็นหลัก แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องสงครามสยามกับฝั่งญวนเท่าไหร่นัก แต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไทยรบกับญวนเป็นสงครามใหญ่หลายครั้งอยู่ถึง 14 ปี โดยสงครามกับญวนนี่แหละที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่เมื่อฝรั่งเศสยึดญวนเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว ก็อ้างว่าเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของญวน ก็ย่อมต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสต่อไป ทำให้ไทยเสียดินแดนในที่สุด
สงครามไทยรบเวียดนามโดยมีเขมรเป็นสนามรบนี้ มีชื่อเรียกว่า “อานามสยามยุทธ” ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างไทย (สยาม) กับญวน (เวียดนาม) ระหว่างปี พ.ศ. 2377 – 2391 (ค.ศ. 1834 – 1848) โดยเป็นการสู้รบที่ยาวนานถึง 14 ปี
สาเหตุของสงครามเกิดจากความขัดแย้งในเรื่องดินแดน การรบดำเนินไปจนทั้งสองฝ่ายหมดแรงและไม่สามารถเอาชนะกันได้ นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
ซึ่งเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ต้นตระกูล ยมนาค เป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญ ที่เคยรบกับเขมรและญวน โดยเฉพาะอานัมสยามยุทธ ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นสงครามที่สยามพยายามรักษาอำนาจในเขมรเอาไว้จากการรุกรานของญวน แต่สุดท้ายญวนเสียเมืองในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็เหมาว่าเขมรเป็นของญวน ก็ต้องเป็นของฝรั่งเศสต่อไป
คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จัก เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เท่าไหรนัก แต่คงเคยได้ยินชื่อเจ้าพระยายมท่านอื่นๆ กันดีทั้งที่ในสงครามสำคัญๆ หลายครั้งมีเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปร่วมรบเจ้าพระยายมมีชื่อเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น
ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) เคยเข้าร่วมกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ในสงครามอานัมสยามยุทธเมื่อพ.ศ. 2377 ในยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว พระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) นำกองเรือทัพหน้าเข้าโจมตีทัพเรือฝ่ายญวน
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ท่านนี้คนไทยรู้จักดี ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ท่านเป็นบิดาของบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านนี้คนไทยรู้จักดีมาก เพราะท่านดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ส่วนพระอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ท่านเป็นต้นตระกูล ยมนาค
ในปีพ.ศ. 2384 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) (ท่านนี้คนไทยรู้จักดีใช่มั้ย) ซึ่งตอนนั้นไปอยู่ที่เมืองพระตะบอง ได้ทูลขอพระราชทานตัวเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปช่วยราชการ ที่เมืองเขมร
ข้ามไปปี พ.ศ. 2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชโองการให้แต่งทัพไปโจมตีคลองหวิญเต๊ ที่จังหวัดอานซาง เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ร่วมกับพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว สิงหเสนี) และนักองค์ด้วง
นักองค์ด้วง คนไทยรู้จักชื่อนี้ดีใช่มั้ย ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ของเขมร เป็นโอรสของนักองเอง
ประวัติสั้นๆ คือ นักองค์เองเคยมาพึ่งบารมีรัชกาลที่ 1 ในกรุงเทพ พักอยู่ในวังที่เรียกว่า วังเขมรในกรุงเทพฯ ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้กลับไปครองกรุงกัมพูชา พอสวรรคตก็ทรงตั้ง นักองค์จันทร์ ซึ่งเป็นโอรสองค์โตได้ครองราชย์ต่อ
แต่แล้ว นักองค์จันทร์ ทรยศสยามไปเข้ากับญวน ซึ่งตอนนั้นเขมรก็แตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนักองค์ด้วง ซึ่งเป็นพระอนุชา ยังฝักใฝ่อยู่กับสยาม ก็หนีกลับมาพึ่งรัชกาลที่ 2 ตั้งแต่นักองค์ด้วงยังมีพระชนมายุ 16 พรรษา โดยเข้ามาพำนัก ณ วังเจ้าเขมร วังเดิมของพระบิดาของท่านเอง
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อนักองค์ด้วงมีพระชนมายุ 43 พรรษา หลังจากที่ทรงพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 27 ปี จึงเดินทางกลับเขมรพร้อมกับกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อรบกับญวนที่กำลังแผ่อำนาจเข้าสู่เขมรในช่วงนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการว่า “หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใดให้อภิเษกพระองค์ด้วงขึ้นครองเขมร”
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงขอตัว เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ต้นตระกูล ยมนาค ไปช่วยรบกับญวน
โดยประวัติศาสตร์บันทึกเหตุการณ์ตอนนั้นไว้ว่า
ทัพจากสยามซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอุดง (อุดงมีชัย) เข้าโจมตีคลองหวิญเต๊และจังหวัดอานซางของเวียดนาม ทัพฝ่ายสยามสามารถเข้ายึดคลองหวิญเต๊ได้ชั่วคราว เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพเข้าประชิดเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก แต่ถูกทัพญวนนำโดย “องเตียนเลือก”เข้าตีแตกพ่ายเจ้าพระยายมราชถูกปืนเข้าที่หน้าอกแต่ลูกปืนถูกกระดุมเสื้อ
เจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ และนักองค์ด้วงจึงล่าถอยไปอยู่ที่พนมเปญ จากนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปสร้างป้อมปราการให้แก่นักองค์ด้วงที่เมืองอุดง
ต่อมา เมื่อกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถจัดการเหตุการณ์ในเขมรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นครองราชสมบัติที่เขมรเมื่อพระชนมายุ 51 พรรษา เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 4 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช 1209 ตรงกับวันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2390
ผลงานจากสงครามหลายครั้งกับญวนในเขมรของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็มีเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ช่วยรบจนสามารถเอาชนะและจับไล่ญวนออกไปจากเขมรซึ่งเป็นเขตปกครองสยามได้ และตั้งนักองค์ด้วงขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ของเขมรได้ในที่สุด
แต่สุดท้ายในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสเริ่มล่าอาณานิคม และยึดเวียดนามได้ ฝรั่งเศสกลับตีหน้ามึน อ้างว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม ดังนั้นต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสต่อไป
จากผลงานมากมายของ เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ในที่สุดได้รับพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เสนาบดีดีกรมเมือง เทียบได้กับรัฐมนตรีมหาดไทยในปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อพ.ศ. 2389 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างวัดราชนัดดารามเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีพระราชนัดดา โดยโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ค้นหาสถานที่เพื่อสร้างวัดราชนัดดาราม
เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ทำหน้าที่แม่กองกำกับการสร้างราชนัดดา ทั้งพระอุโบสถพระวิหารและศาลาการเปรียญ จนกระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2389 เกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถึงแก่อนิจกรรมในระหว่างสร้างวัดนั่นเอง
มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ทายาทรุ่นหลังคือ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค (คุณพ่อของ รศ.ดร.ต่อตระกูล) ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และผู้บัญชาการตำแหน่งสอบสวนกลาง ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลรักษาความสงบของบ้านเมือง คล้ายกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ในอดีต ก็เสียชีวิตในวันที่ 4 ธันวาคม เช่นกัน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลแก่นายร้อยตรีจีน ซึ่งเป็นเหลนของเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ว่า “ยมนาค” โดยคำว่า ยม มาจาก “ยมราช” ซึ่งเป็นราชทินนามของเจ้าพระยายมราช และ นาค มาจาก “บุนนาค” ซึ่งเป็นชื่อตัวของเจ้าพระยายมราช
อัษฎางค์ ยมนาค