“อย่างกับซาร์“ พาชาติไทยพ้นภัย
โดย อัษฎางค์ ยมนาค
เคยรู้เรื่องที่รัชกาลที่ 5 ต้อนรับ ซาร์นิโคลัสจนเกิดคำว่า “อย่างกับซาร์” ไหม?
ซึ่งนำมาสู่ภาพคู่ที่สะท้านวงการเมืองยุโรปในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไทยรอดพ้นการตกอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ
ถ้าไม่เคยรู้ จะเล่าให้ฟัง (อีกครั้ง) ตามมา
ตอนที่ 1: สยามต้อนรับมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย
เมื่อสมเด็จพระปิยะมหาราชแห่งสยามต้อนรับซาร์นิโคลาสแห่งรัสเซียอย่างยิ่งใหญ่อลังการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยไม่เคยคิดว่าการต้อนรับอันยิ่งใหญ่และอบอุ่นในครั้งนั้น จะส่งผลให้ในเวลาต่อมา สยามได้รัสเซียมาเป็นมหามิตร ที่ได้ยื่นมือมาช่วยสยามให้กลายเป็นที่เกรงขามต่อชาติมหาอำนาจที่หวังจะยึดสยามเป็นเมืองขึ้น
ยุคอาณานิคมของชาวยุโรปอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อชาติยุโรปหลายชาติสถาปนาอาณานิคมในทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกา
การล่าอาณานิคมยุคนี้ เป็นการแผ่อำนาจของประเทศตะวันตก โดยการแสวงหาอาณานิคมมีเป้าหมายใหญ่ 3G คือ “Gold, God and Glory”
“เพื่อแผ่ศาสนา, หาความมั่งคั่ง และครองความยิ่งใหญ่”
โดยสาเหตุที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกใช้ในการยึดครองประเทศต่างๆ เป็นอาณานิคมคือ อ้างว่าประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศล้าหลังและป่าเถื่อน จึงต้องเข้ามาช่วยพัฒนา ทั้งที่ความจริงที่แอบแฝงไว้คือ ต้องการเข้ามากอบโกย
ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
ชาวตะวันตกเริ่มแสดงแสนยานุภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร เริ่มมีการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับชาติตะวันตกมากขึ้นเป็นลำดับ
พ.ศ. 2368″เฮนรี เบอร์นี” ทูตอังกฤษได้เดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ และบีบให้สยามลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ทำให้ไทยสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งสยามเสียประโยชน์ในขณะที่อังกฤษได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาฉบับนี้
ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเห็นอังกฤษขยายอิทธิพลทางการเมือง การทหารและการค้าสำเร็จ ฝรั่งเศสก็อยากเอาอย่างบ้าง
พ.ศ. 2431 ประเทศไทยเริ่มมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะฝรั่งเศสคอยพาลกล่าวหาว่า ไทยรุกล้ำดินแดนญวนและเขมร ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเขมรไปจากสยาม แล้วรวมกับเวียดนามเป็นอาณานิคมของตน
ภัยคุกคามทางการเมืองนี้สร้างความวิตกกังวลต่อพระเจ้าอยู่หัวของสยามเป็นอย่างยิ่ง
ซาร์ นิโคลาส เยือนสยาม
ปี ค.ศ. 1891 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งรัสเซียทรงให้ซาเรวิตช์ นิโคลาส มกุฎราชกุมาร(ภายหลังเสวยราชย์เป็นซาร์นิโคลาสที่ 2) เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย ณ เมืองวลาดิวอสต็อก
โดยมีหมายกำหนดการเสด็จฯ ไปเยือนตุรกี อียิปต์ อินเดีย ซีลอน สิงคโปร์ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น โดยไม่มีสยามอยู่ในหมายกำหนดการ
แต่เมื่อเสด็จถึงสิงคโปร์ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงทราบข่าว พระองค์ใช้ทุกวิถีทางเพื่อหาทางทูลเชิญเสด็จมาแวะที่สยาม
พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เสด็จมาถึงสยามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2433 ทรงประทับอยู่ที่สยามเป็นเวลา 5 วัน
ซึ่งทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก รวมไปถึงคณะผู้ติดตามก็มีความพึงพอใจมากด้วยเช่นกัน
เนื่องจากในหลวงรัชกาล 5 ทรงจัดการต้อนรับชนิดที่ภาษาในปัจจุบันเรียกว่า”จัดเต็ม”
จนในเวลาต่อมาถ้ามีการจัดงานอะไรที่ใหญ่โตจนเว่อวัง มักจะมีคนพูดว่า”อย่างกับซาร์”
มีบันทึกประวัติศาสตร์โดยนาย อา. เอ็ม. วียวอดเซฟ กงสุลใหญ่รัสเซียประจำสิงคโปร์ ผู้ตามเสด็จเข้ามาด้วย ได้เขียนรายงานไปถึงกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย มีใจความสำคัญบางตอนดังต่อไปนี้
“ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1891 การเสด็จพระราชดำเนินทางเรือกินเวลา 4 ชม. แต่ก็ผ่านไปด้วยดี สองฝั่งแม่น้ำสวยงามราวกับภาพจิตรกรรม ในเวลา 11 นาฬิกา เรือยอร์ชพระที่นั่ง “อาพอลโล” ได้เข้าจอดท่าเรือส่วนพระองค์ที่บางกอก ท่ามกลางเสียงปืนยิงสลุทและเรือที่ประดับประดาอย่างวิจิตรงดงามและเต็มไปด้วยชาวสยาม
พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้พบมกุฎราชกุมารแล้วทูลเชิญเสด็จไปยังพระบรมมหาราชวัง ณ ที่นั้นได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด “จักรี” แด่องค์มกุฎราชกุมาร และพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ “ช้างเผือก” แด่ปรินซ์กีออกีย์ กรีเชสกี
หลังจากที่พระองค์ทรงแนะนำให้รู้จักกับพระราชินีแล้ว ทรงทูลเชิญเสด็จฯมกุฎราชกุมารไปยังวังสราญรมย์ พระตำหนักที่ดีเยี่ยม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เตรียมจัดไว้เป็นที่ประทับของมกุฎราชกุมารและผู้ตามเสด็จฯ พระตำหนักนี้อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง
สิ่งที่ได้รับจากการเสด็จฯทั้งจากองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าขุนนาง และประชาชนทั้งมวล ล้วนเป็นไปด้วยความจริงใจและอบอุ่นยิ่ง ทุกคนได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและความสนใจที่ได้ใกล้ชิดมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย
สองวันในบางกอก รัฐบาลสยามได้จัดการรับเสด็จอย่างเอิกเกริก และมีพิธีการต่างๆสลับกับการเสด็จฯทอดพระเนตรวัง พิพิธภัณฑ์ วัด และโบราณวัตถุ ซึ่งแสดงถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่คงอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงหมายกำหนดการทอดพระเนตรขบวนแห่และการแสดงประเพณีตะวันออก
โดยเปลี่ยนเป็นการเสวยพระกระยาหารกลางวันและการดำเนินเพื่อสำราญพระอิริยาบถ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียแสดงความเห็นหลายครั้งว่า เป็นความประทับใจที่สุดเท่าที่เคยได้รับ และทรงสะดวกสบายอย่างเปี่ยมล้น
พระมหากษัตริย์สยามทรงมีพระราชประสงค์ที่แท้จริงที่จะให้พระราชอาคันตุกะทรงลำบากพระทัยน้อยที่สุด ทรงปลูกฝังให้ชาวตะวันออกรักการสวมเครื่องแบบเพื่อออกงานในพิธีต่างๆ หรือแม้แต่การเสวยพระกระยาหารกลางวัน พระองค์ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบขาว ประดับเหรียญตราบ้างไม่ประดับบ้าง
วันที่ 22 มีนาคมเวลาเช้า มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือยอร์ชพระที่นั่ง “อาพอลโล” ไปยังบางปะอิน พระราชฐานชานกรุงของพระมหากษัตริย์สยาม ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ทรงรอต้อนรับอย่างสมพระเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดให้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียประทับในพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย หลังพระกระยาหารเช้าที่ลานหน้าพระราชวัง
ราษฎรนับหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียง แต่งกายในชุดออกงาน ได้นำผลไม้ใส่ตะกร้า สัตว์ปีก สัตว์ป่า ผ้า พัด และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศมาถวาย ทั้งนี้ด้วยความศรัทธาโดยส่วนตัว และแสดงถึงความจงรักภักดีต่อมกุฎราชกุมารแห่งราชบัลลังก์รัสเซีย
นับเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตของโลกตะวันออก พระบรมวงศานุวงศ์ได้ยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ยังไม่มีใครเลยนอกจากพระมหากษัตริย์สยามที่จะเป็นที่รักยิ่งของประชาชนและจัดการต้อนรับได้อย่างเอิกเกริกเช่นนี้
สองวันถัดมาคือวันที่ 23 และ 24 มีนาคม ได้กำหนดไว้เป็นวันทอดพระเนตรการคล้องช้างที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของสยาม การเสด็จพระราชดำเนินไปพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือกลไฟพระที่นั่ง และเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่บางปะอิน
การคล้องช้างที่ได้ชมนี้นับว่าเป็นการแสดงที่วิเศษมาก การคล้องช้างป่าด้วยมือต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก ถึงแม้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียจะทรงเคยทอดพระเนตรการแสดงเช่นนี้มาแล้วที่ศรีลังกา แต่ที่นั่นมีช้างเพียง 9 เชือก ส่วนที่นี่มีช้างป่าถึง 300 เชือก”
เจ้าชายอุคดัมสกี้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้ตามเสด็จ ได้บันทึกถึงความประทับใจองค์พระราชอาคันตุกะในช่วงที่เสด็จไปพระราชวังบางปะอินไว้ในหนังสือ “การเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกไกล ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย” มีความว่า
“พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระอุตสาหะตามไปส่งเสด็จสมเด็จพระบรมฯของเราจนถึงที่ประทับซึ่งได้รับการจัดถวายเป็นพิเศษ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบสวิสชาเลต์ที่น่ารักน่าเอ็นดู ตกแต่งอย่างมีรสนิยม
ผู้ตามเสด็จก็ได้รับการเชื้อเชิญให้พักในเรือนหลังเล็กๆโดยรอบ พร้อมกันนี้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มหาดเล็กหนุ่มๆจากตระกูลขุนนางผู้ดีมาคอยปรนนิบัติดูแลชาวคณะอย่างใกล้ชิด
ท่านผู้บังคับการเรือวลาดิเมีย โมโนมาค และพลเรือเอกนาคีมอฟ และคุณหมอธัมบัค ได้พำนักเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้อันสะดวกสบายแบบบ้านพักร้อนตามแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีของยุโรป ห้องพักของพวกเราอบอวลด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆของพันธุ์พฤกษาและน้ำอบอันรัญจวนใจ
ความเป็นเจ้าของบ้านผู้เอื้อเฟื้อของชาวสยามนี้ เราเคยอ่านในบันทึกของนักเดินทางมาบ้าง แต่เพิ่งค้นพบด้วยตัวเองในวันนี้ มันเป็นความประทับใจที่คงลืมไม่ได้ง่ายนัก
ความประทับใจอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากที่นี่เกิดขึ้นราว 5 โมงเย็นวันนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาพร้อมด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย ทุกคนลงไปยังลานกว้างหน้าพระที่นั่ง ตรงลานกว้างด้านหน้ามีประชาชนมารอเฝ้าเป็นจำนวนมาก
ถึงจะเป็นการรับเสด็จอย่างเรียบง่าย แต่ทุกคนก็กระทำด้วยน้ำใสใจจริง เป็นการแสดงซึ่งความรู้สึกอันบริสุทธิ์ใจของผู้คนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ทุกคนก็แสดงออกซึ่งความเคารพเทิดทูนในองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเผื่อแผ่ไปยังสหายของพระองค์ด้วย เป็นการแสดงออกที่ไม่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทน ไม่ใช่เพราะสินจ้างรางวัล และไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยออย่างใดเลย
ซึ่งต่างกับค่านิยมของชาวตะวันตกโดยทั่วไปหรือแม้แต่ชาวรัสเซียเอง ทัศนะคติเช่นนี้เราควรจะเลียนแบบชาวตะวันออก ผู้มีความเจริญทางจิตใจมากกว่าการแสวงหาของนอกกายเพียงอย่างเดียว สัญชาตญาณของชาวสยามผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา เป็นอานิสงส์ที่ถูกเผื่อแผ่ไปยังองค์รัชทายาทของรัสเซียด้วย
ภาพการพบปะฉันมิตรและการแสดงความรักใคร่เห็นอกเห็นใจที่บางปะอินระหว่างสมเด็จพระบรมฯกับชาวบ้านธรรมดา จะเป็นสักขีพยานให้รำลึกอยู่เสมอว่า มิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างเราชาวรัสเซียกับชาวสยาม จะดำรงอยู่สืบไปชั่วกาลนานในความทรงจำของเราและเขาทั้งหลาย
ในวันสุดท้ายของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย เจ้าชายอุคดัมสกี้ ยังได้พรรณนาด้วยความอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากสยาม แผ่นดินที่เปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพและความจริงใจไว้ว่า
“พรุ่งนี้แล้ว ที่พวกเราจำจะต้องกล่าวคำอำลาจากแผ่นดินแห่งความสุขนี้ไป ภาพอันน่าอัศจรรย์และตื่นเต้นมากมายที่เราได้เห็นตลอดสัปดาห์นี้ จะคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป การจากประเทศสยามไปในคราวนี้ เหมือนต้องจากเพื่อนสนิทที่เรามักคุ้นมานาน และจะทำให้พวกเราอาลัยมาก”
สามปีต่อมา (พ.ศ. 2436) เกิดวิกฤตการณ์ร.ศ. 112 เมื่อฝรั่งเศสหาเรื่องจะยึดสยามเป็นอาณานิคม ซึ่งสยามไม่มีทางต่อกรได้เลย
13 กรกฎาคม 1893 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศสบุก “ปากน้ำ”
เมื่อมีข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ยังทรงมีความหวังว่าอังกฤษเป็นมหามิตรที่จะไม่ทอดทิ้งสยาม
ทำให้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขัดขืนฝรั่งเศส
แต่ความเฉยเมยของอังกฤษ และในเวลาต่อมาอังกฤษก็แสดงทาสแท้ด้วยการปฏิเสธ โดยไม่ยอมเข้าแทรกแซงในความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าหากรัชกาลที่ 5 ขัดขืนฝรั่งเศสเพราะคิดว่าอังกฤษจะเข้าข้างสยาม และมีรับสั่งให้ทหารไทย 2 ฝั่งแม่น้ำยิงถล่มเรือรบฝรั่งเศสที่จอดอยู่ กองเรือรบติดอาวุธหนักของฝรั่งเศสที่จอดคุมเชิงอยู่อีก 10 ลำ ก็จะต้องฉวยโอกาสโจมตีกรุงเทพฯ ทันที
และอาจบานปลายถึงขั้นที่ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างเข้ายึดสยามเป็นอาณานิคม
แต่สุดท้ายสยามก็ยอมอ่อนข้อแต่โดยดี วิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส
สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตรและเสียอำนาจการปกครองคนในบังคับชาวอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศสนอกจากนี้ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่าสิบปี (ระหว่างปี 2436-2447) รวมทั้งเตรียมแผนการที่จะยึดครองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไว้ในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย
ดังนั้นตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการพัฒนาบ้านเมืองในแนวทางของยุโรปอย่างรวดเร็ว ทรงจ้างฝรั่งเข้ามารับราชการ และส่งคนไทยไปศึกษาในยุโรปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเตรียมพระองค์ในการที่จะ “โชว์ตัว” ให้ประเทศมหาอำนาจเห็นว่า สยามไม่ใช่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน
และแล้วในวันที่ 7 เมษายน 2440 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป ซึ่งหนึ่งในจุดหมายสำคัญคือรัสเซีย ประเทศมหาอำนาจที่กำลังขึ้นมาแข่งบารมีกับอังกฤษ-ฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้น ซาเรวิช นิโคลัส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระจักรพรรดิซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แล้ว
วันที่ 4 กรกฎาคม ในระหว่างที่เสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกัน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจจากยุโรป
แล้วในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์ได้จัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ
อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียนำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรปทุกฉบับ ทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า
“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”
โดยภาพพระมหากษัตริย์จากสยามประทับคู่กับพระมหาจักรพรรดิแห่งรัสเซียนี้ สั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป ซึ่งเป็นผลแก่ราชอาณาจักรสยามอย่างมหาศาล ทำให้ชาติมหาอำนาจอื่นๆ รับรู้ว่า สยามไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แถมยังมีเพื่อนสนิทเป็นมหาอำนาจรัสเซียอีกด้วย ทำให้ในประเทศใดที่คิดจะเล่นเกมรุกรานสยามต้องเกรงใจอย่างหนัก
เรื่องที่รัชกาลที่ 5 ต้อนรับ ซาร์นิโคลัสจนเกิดคำว่า “อย่างกับซาร์” นำมาสู่ภาพคู่ที่สะท้านวงการเมืองยุโรปในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไทยรอดพ้นการตกอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ
…………………………………………………………………
อัษฎางค์ ยมนาค