ประวัติศาสตร์นอกตำราของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
#อัษฎางค์ยมนาค
ทำไมประวัติศาสตร์นอกตำราถึงเล่าว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเมืองนคร
ทำไมต้องเป็นนครศรีธรรมราช
และเรื่องโอรสลับพระเจ้าตากสิน
ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
………………………………………………………………….
พวกเราคนไทยได้รับรู้ประวัติศาสตร์นอกตำราว่า หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินไม่ได้โดนประหาร แต่ถูกช่วยเหลือและไปใช้ชีวิตปั้นปลายที่นครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นเรื่องจริงแท้แค่ไหน ไม่มีใครรู้ความจริง
แต่ทำไมต้องเป็นนครศรีธรรมราช?
………………………………………………………………….
ก่อนเข้าเรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอเกริ่นจุดกำเนิดของกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย
อ.ศรีศักร วัลลิโภดม บอกว่า “คำว่าประเทศสยาม เป็นชื่อที่มีมาแต่โบราณ และความจริง“สยาม”ประกอบด้วยรัฐหรือแคว้น 3 แคว้นคือ สุโขทัย สุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) และนครศรีธรรมราช 3 แคว้นนี้รวมกันเรียกว่าสยาม”
ส่วนกรุงศรีอยุธยาก่อตั้งโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่คนทั่วไปขานพระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง (ในสมัยนั้นพระนามนี้ไม่ใช้พระนามของพระองค์) ซึ่งพระองค์มีเชื้อสายจากแคว้นละโว้(ลพบุรี) และละโว้คือ ขอม
ดังนั้น ถ้าใครถามว่าขอมคือใคร ตอบไปได้เลยว่า ขอมคือต้นตระกูลไทยผู้ให้กำเนิดกรุงศรีอยุธยา
แต่ราชวงศ์ละโว้-อโยธยาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ครองอยุธยาอยู่ไม่นานก็ถูกราชวงศ์สุพรรณภูมิยึดไปครอบครอง แล้วต่อมาแคว้นสุโขทัยและนครศรีธรรมราชก็ถูกรวมเป็นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และเป็นรัชกาลที่ 8 ของกรุงศรีอยุธยา
ความเป็นราชอาณาจักรเริ่มต้นในสมัยของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อนหน้านั้นยังคงเป็นรัฐหรือแคว้นเท่านั้น
อยุธยา เกิดจากการรวมตัวของขอม(ละโว้)และสยาม(สุพรรณภูมิ) ก่อนจะกลายเป็นราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา หรือ ราชอาณาจักรสยาม จากการควบรวมสุโขทัยและนครศรีธรรมราชในที่สุด
เมื่ออยุธยาโดนพม่าตีแตก บ้านเมืองก็แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ก่อนที่พระเจ้าตากจะรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ กลับมาได้
………………………………………………………………….
ทำไมประวัติศาสตร์นอกตำราถึงเล่าถึงการใช้ชีวิตบั้นปลายของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่นครศรีธรรมราช
เชื่อว่าเราคนไทยแทบไม่เคยรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตากสินและเจ้านครศรีธรรมราชเลย
เราอาจจะเคยได้ยินชื่อ เจ้านครศรีธรรมราช หรือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่ความจริงที่เราอาจไม่เคยรู้คือ จริงๆแล้ว มีพระนามว่า”พระเจ้านครศรีธรรมราช”
สาเหตุที่เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช เพราะเป็นตำแหน่งของเจ้าประเทศราช
พระเจ้านครศรีธรรมราช ไม่ใช่ข้าราชการของกรุงธนบุรี แต่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ของรัฐนครศรีธรรมราช ประเทศราชของกรุงธนบุรี
ไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้มาก่อนเลยใช่มั้ย
มาติดตามรายละเอียดต่อไปนี้ด้วยกัน
………………………………………………………………….
หลังจากเสียกรุง พ.ศ. 2310 เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้หายตัวไป
ปลัดยกกระบัตรเมืองนครฯ ที่ชื่อหนู จึงขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิม
ความที่พระเจ้าตากสินและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช(หนู) เคยมีภูมิหลังเคยเป็นปลัดยกกระบัตรมาก่อนเช่นเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าเจ้านคร(หนู) ผู้นี้ กับพระเจ้าตากสิน อาจจะเคยรู้จักกันมาก่อน
เพราะการจะเป็นปลัดยกกระบัตรได้นั้นจะต้องเป็นมหาดเล็กในราชสำนักมาก่อน รวมทั้งต่างเคยเป็นตัวแทนจากอยุธยาไปหัวเมืองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้ง
………………………………………………………………….
หลังจากกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหนึ่งสำหรับผู้ที่จะหลบลี้หนีภัยพม่า เช่นเดียวกับจันทบุรี นครราชสีมา กัมพูชา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินประกาศอิสระภาพสำเร็จ ก็ทรงปราบ “เจ้าก๊กนายชุมนุม” สำเร็จ มีเพียงชุมนุมนครศรีธรรมราช ชุมนุมเดียวที่ไม่โดนกำจัด แต่เจ้านครฯ ยังได้ถูกเชิญมารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี
แล้วในเวลาต่อมา คือในพ.ศ. 2319 ก็ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าประเทศราชกลับไปครองเมืองนคร
………………………………………………………………….
ในเอกสารแต่งตั้งเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็น “พระเจ้านครศรีธรรมราช” เจ้าประเทศราชของกรุงธนบุรี
ได้มีคำกล่าวยกย่องถึงความดีความชอบของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ดังเช่นว่า
“ครั้งพระณคอรศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองเมืองณคอรหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมาก็ได้พึ่งพาอาศัยสับประยุทธชิงชัยชนะ”แขก”ข้าศึก ถ้าหาไม่ขัณฑสีมาก็จะส่ำสายเป็นไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน”
“แขก”ข้าศึก ที่มีการสับประยุทธ์ชิงชัยกัน ในที่นี้หมายถึง รัฐปัตตานี และรัฐมลายู ซึ่งสยาม นับตั้งแต่อยุธยา ใช้เมืองนครฯ เป็นเหมือนรัฐกันชน และเป็นรัฐที่คอยดูแลรัฐแขกทางใต้ให้สยามมาตลอด พอถึงสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสิน ก็ใช้นโยบายเดียวกัน
จึงยกเจ้าเมืองนครฯ เป็นเจ้า(กษัตริย์) และยกเมืองนคร เป็นประเทศราช
การที่ยกนครศรีธรรมราชประเทศราช คือ การเป็นอีกประเทศ เหมือนเขมร ลาว ที่มีเจ้าเป็นผู้ปกครองราษฏร์ของตน เพียงแต่เป็นเมืองขึ้นของสยามที่ต้องคอยส่งส่วยมาให้
เพราะฉะนั้น เจ้าเมืองนคร เลยได้รับการแต่งตั้ง เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช
………………………………………………………………….
และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินผูกใจให้การยกย่องเจ้านครขนาดนี้ เจ้านครจึงผูกใจกลับต่อพระเจ้าตากสินด้วยการถวายธิดาเป็นบาทบริจาริกาถึง ๓ องค์ คือ
เจ้าหญิงฉิม โปรดสถาปนาเป็น กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
เจ้าหญิงจวน หรือ ยวน
และธิดาองค์เล็กสุด คือเจ้าหญิงปราง หรือทูลกระหม่อมฟ้า หญิงเล็กของชาวนครศรีธรรมราช
ซึ่งในครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงธนบุรีกับนครศรีธรรมราชใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก
………………………………………………………………….
ตัดฉากมาที่อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช (พัฒน์) ซึ่งอุปราช(พัฒน์) ผู้นี้เป็นทหารคนโปรดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยเคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามเสด็จไปราชการทัพ รบชนะศึกหลายครั้ง
อุปราชพัฒน์ มีภรรยาคือเจ้าหญิงนวล ซึ่งเป็นธิดาองค์โตของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)
ต่อมาเมื่อภรรยาอุปราชพัฒน์ถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกโอษฐ์พระราชทานเจ้าหญิงปรางให้เป็นภรรยาอุปราชพัฒน์
………………………………………………………………….
ในพระราชพงศาวดารมีบันทึกตอนนี้ว่า
“เนื่องจากทรงสงสารด้วยภรรยาตาย…” และแม้ท้าวนางฝ่ายในจะทูลเตือน ว่า “นางนั้นขาดระดูอยู่” แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็มิได้ทรงเปลี่ยนพระทัย กลับดำรัสว่า “ได้ออกปากให้เขาแล้วก็พาไปเถิด”
แปลเป็นภาษาชาวบ้านได้อีกทีว่า “แม้จะมีคนทักท้วงว่าเจ้าหญิงปราง กำลังตั้งท้องได้ ๒ เดือนแล้ว แต่พระเจ้าตากสินก็ยังคงยืนยันจะยกนางให้อุปราชพัฒน์”
………………………………………………………………….
แม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมี พระราชวิจารณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ว่า
“…อยู่มาเมื่อปลายแผ่นดินตาก ชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร หรือเพราะความคิดของเจ้ากรุงธนบุรีที่จะปลูกฝังลูกให้ได้ครอบครองเมืองอื่น ๆ กว้างขวางออกไปแนวเดียวกันกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านครซึ่งเป็นน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงศ์นรินทร์ให้ออกไปเป็นชายา…”
………………………………………………………………….
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหญิงปรางซึ่งขณะนั้นทรงอยู่ในตำแหน่งเจ้าจอม และทรงครรภ์ได้ ๒ เดือน ก็ได้กลายเป็นภรรยาของอุปราชพัฒน์
มีเอกสารประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า
“…เมื่อท้าวนางพาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็น ท่านผู้หญิงอย่างกิตติมศักดิ์อยู่จนตลอดอายุ…”
เมื่อเจ้าจอมมารดา(ปราง) เสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชอย่างแม่เมือง จนประสูติพระราชบุตรพระนาม”เจ้าน้อย” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เจ้าน้อยผู้นี้คือ “พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
………………………………………………………………….
หลังจากผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรีเป็นกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองนครศรีธรรมราชเสียใหม่
โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าประเทศราช และลดสถานะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเพียงหัวเมืองเอก
ปลดพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) แล้วตั้งอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า“เจ้าพัฒน์”
แล้วหลังจากเจ้าพัฒน์สิ้นแล้ว เจ้าน้อย โอรสลับของสมเด็จพระเจตากสิน ก็ได้เป็น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช คนต่อไป
………………………………………………………………….
เอกสารประวัติศาสตร์อีกฉบับบันทึกว่า
“…ความที่ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น แม้ฝรั่งทางเมืองเกาะหมากก็รู้ ได้เขียนหนังสือพิมพ์ไว้ แต่ในรัชกาลที่สาม…”
………………………………………………………………….
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าน้อยกับพระราชโอรสพระราชธิดาองค์อื่นๆ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ว่า
“…เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย และพวกบุตรหลาน เจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันใน เชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรีกับพวกนครศรีธรรมราช…”
………………………………………………………………….
ด้วยเหตุที่กรุงธนบุรีมีสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชเช่นนี้
เมื่อเกิดเหตุจลาจลในช่วงปลายกรุงธนบุรี จึงเกิดเรื่องเล่าลือ เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โปรดให้สำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น
ได้มีผู้ช่วยเหลือให้พระองค์ได้เสด็จหนีไปบวช ซ่อนองค์อยู่ในถ้ำวัดเขาขุนพนม ที่นครศรีธรรมราช
กล่าวกันว่าปัจจุบัน ยังมีหลักฐานและร่องรอยปรากฏให้เห็น เช่น อาคารที่ประทับ และด้านหน้าถ้ำยังปรากฏร่องรอยของกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมาทำนองเดียวกับกำแพงเมือง และซากป้อมซึ่งมีช่องคล้ายที่ตั้งปืนใหญ่
อย่างไรก็ดี เรื่อง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่เป็นโอรสลับของ สมเด็จพระเจ้าตากสิน นั้นมีหลักฐานเอกสารหลายฉบับกล่าวถึง
แต่เรื่องที่มีคนช่วยให้สมเด็จพระเจ้าตากสินหนีไปอยู่บวชที่นครศรีธรรมราชนั้นยังไม่มีผู้ใดพบหลักฐานที่เป็นเอกสารเพื่อยืนยันคำเล่าลือดังกล่าว
………………………………………………………………….